ลูกกถูกไฟช็อต เพราะสายสร้อยข้อมือที่ใส่ … ในสมัยก่อน ผู้ใหญ่มักนิยมรับขวัญลูกหลานด้วยการให้ใส่สร้อยคอ สร้อยที่มีพระ หรือสร้อยข้อมือ-ข้อเท้าแก่เด็กเล็กแรกคลอด และให้เด็กภายในบ้านใส่กำไลข้อมือข้อเท้า หรือกระพรวนนั้น โดยมีความเชื่อว่าจะเสริมวาสนา โชคลาภ นำพาสิ่งที่ดีดีเข้าตัวเด็กและครอบครัว แต่ข้อดีนอกเหนือจากความเชื่อนี้แล้ว การที่เด็กเล็กใส่สร้อยก็ย่อมมีข้อร้ายแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน
การใส่สร้อยกำไลจะช่วยส่งเสียงขณะที่ลูกขยับ ทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถได้ยินและทราบตำแหน่งของลูกได้ แต่สิ่งที่ควรระวังไว้เสมอคือ ขนาดความยาวของสร้อย ต้องระวังไม่ให้สายสร้อยมีพอดีจนบีบข้อมือ ข้อเท้า รวมถึงขอบ รอยต่อต่างๆ ก็สามารถระคายเคืองผิว หรือบาด เกิดเป็นแผลได้ ส่วนสร้อยคอที่ยาวไปในเวลาที่เด็กนอนหลับก็อาจทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งของการไปปิดกั้นการหายใจของลูก และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
ลูกถูกไฟช็อต เพราะสายสร้อยข้อมือที่ใส่ แหย่เข้าไปในรูปลั๊กไฟ
รวมไปถึงอีกหนึ่งเรื่องที่พ่อแม่ไม่ทันได้คาดคิด คือสายสร้อยข้อมือที่ลูกใส่อาจยาวไปจนเผลอเข้าไปในรูปลั๊กไฟ ที่วางอยู่ใกล้มือลูก จนทำให้ลูกอาจโดนไฟช็อต ไฟดูดได้ ดังเช่นเหตุการณ์นี้ที่มีผู้นำภาพบริเวณข้อแขนเล็กๆ ของเด็กน้อยซึ่งมีลักษณะดำไหม้เกรียม อันเนื่องมาจาก การที่พ่อแม่ให้ลูกใส่สร้อยข้อมือ แล้วสายของสร้อยแขนที่ยาวตกเข้าไปในรูปลั๊กไฟ จึงทำให้เกิดการนำไฟฟ้า ไหม้ช็อตแขนของเด็กน้อยจนไหม้ดำ
ขอบคุณภาพจาก : คุณ Kittisak Chimmanee
นับว่าโชคดีมากที่เด็กน้อยไม่ได้รับอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็ทำให้เกิดแผลรอยไหม้บาดเจ็บ ทั้งนี้การที่เด็กน้อยถูกไฟช็อตไหม้ดำได้นั้น อาจเนื่องมาจากเต้าเสียบน่าจะมีการชำรุดอยู่ภายใน เมื่อถูกโลหะอย่างสายสร้อยข้อมือเล็กๆ เแหย่เข้าในรูเต้ารับไฟฟ้า ทำให้ส่วนของร่างกายสัมผัสถูกส่วนที่มีไฟฟ้าโดยตรง จึงเกิดไฟฟ้าดูดช็อตเป็นรอยไหม้อย่างที่เห็นนั่นเอง
ในกรณีนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ให้คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยระมัดระวังทั้ง 2 เรื่องเลยนั้นก็คือ การสวมใส่สร้อยให้ลูกน้อยที่ต้องคอยระวังในเรื่องของขนาดความยาวของสร้อย สำหรับสร้อยคอที่ยาวไปในเวลาที่เด็กนอนหลับก็อาจทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งของการไปปิดกั้นการหายใจของลูก และต้องระวังไม่ให้สายสร้อยมีพอดีจนบีบข้อมือ ข้อเท้า รวมถึงขอบ รอยต่อต่างๆ ก็สามารถระคายเคืองผิว หรือบาด เกิดเป็นแผลได้
⇒ Must read : Gold necklace ให้ลูกใส่สร้อยทอง เกือบต้องเสียลูกไป
⇒ Must read : สร้อยทอง รับขวัญลูกน้อยอันตราย
ส่วนเรื่องที่ 2 คือ การเก็บดูแลปลั๊กไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ให้ใกล้จากมือเด็ก เพราะอาจทำให้ลูกน้อยเผลอเอานิ้วเข้าไปแหย่ หรือสายสร้อยแหย่เข้าไปในรูปลั๊กไฟ ก็อาจทำให้ลูกถูกไฟช็อตได้ เช่นเดียวกับเรื่องที่ได้เตือนมาข้างต้น
อ่านต่อ >> “การป้องกันลูกถูกไฟช็อตและวิธีรักษาแผลไฟช็อตให้ลูกน้อย” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
จากการวิจัยพบว่า เด็กที่เสี่ยงต่อการโดนไฟดูดคือกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ และกลุ่มเด็กโต คือ 10-14 ปี โดยในเด็กเล็กมักจะเกิดจากการเอานิ้วหรือไปหยิบเอาของที่ตกตามพื้น เช่น กิ๊บติดผม ไม้แคะหู ตะปู แหย่เข้าไปในรูปลั๊กไฟ หรือปลั๊กไฟสามตาที่เสียบไฟไว้ หรือไม่ก็คว้าสายไฟ (ที่เสียบไฟอยู่) ไปเคี้ยวเล่นด้วยความมันเขี้ยว ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรป้องกันไว้ก่อนโดยการ
- หาซื้อตัวครอบปลั๊กไฟหรือแผ่นเสียบรูปลั๊กไฟมาปิดรูปลั๊กที่ไม่ได้ใช้ ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านหรือแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือหาเทปพันสายไฟมาแปะปิดไว้ก่อนก็ได้
- ควรติดตั้งปลั๊กไฟให้สูงจากพื้นราว 1.5 เมตร เพื่อกันการเล่น การแหย่ของเด็กเล็ก
- ควรสำรวจอยู่เสมอ ว่ามีสายไฟจากเครื่องใช้ไฟฟ้าใดหรือไม่ที่ห้อยโตงเตงลงมาจากโต๊ะ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าใดหรือไม่ที่วางแหมะอยู่ที่พื้น พร้อมที่จะให้เด็กเล็กกระชากสายไฟเล่นจนเกิดไฟช็อต หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าตกใส่หัว (ยิ่งถ้าเป็นกาน้ำร้อนก็ยิ่งอันตราย) แม้แต่การจับสายไฟมาเคี้ยวเล่น ก็เสี่ยงต่อการไฟรั่วไฟดูดเป็นอย่างยิ่งดังนั้นเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดที่ใช้งานเสร็จแล้วจะต้องม้วนไฟให้ดีพร้อมเก็บเครื่องให้เข้าที่และให้พ้นมือเด็กทุกครั้ง
- การเสียบปลั๊กที่ไม่แน่น ไม่มิด หรือคาไว้นานๆ จนเหล็กเสียบเลื่อนออกมาก็เสี่ยงอันตรายได้เช่นกัน เพราะอาจทำให้ไฟสปาร์คขึ้นหรือเกิดประกายไฟที่หัวปลั๊กแล้วก็ยังเสี่ยงต่อการที่เจ้าน้องเล็กจะไปจับเล่นเข้าจนไฟดูด
- หากบ้านใดใช้ปลั๊ก 3 ตา เพื่อกันเด็กเล็กจับต้องหรือเล่นซนจนได้รับอันตรายจึงควรไว้ในที่สูง และขอแนะนำว่าอย่าเสียบไฟทบกันไปมาจนเกินกำลังไฟจะรับไหวการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมกันคราวละหลายๆตัว ก็เสี่ยงต่อการเกิดไฟช็อตไฟรั่ว
- ควรเตือนและสอนเด็กให้เห็นถึงอันตรายจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ถูกต้อง และดูแลไม่ให้เด็กเล่นซนบริเวณที่เสี่ยงเกิดไฟช็อตได้
ทั้งนี้สำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักได้รับบาดเจ็บจากการถูกไฟช็อตด้วยกำลังไฟฟ้าสูง ซึ่งจะถูกไฟช็อตขณะที่กำลังตรวจวงจรไฟฟ้าหรือทำงานอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ถูกไฟช็อต ได้แก่ ชนิดของกระแสไฟฟ้า (กระแสไฟฟ้าสลับ หรือกระแสไฟฟ้าตรง) ปริมาณโวลต์ไฟฟ้า (โวลต์ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด และปริมาณโวลต์ไฟฟ้าที่วิ่งเข้าร่างกาย) และวิถีที่กระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่ร่างกาย ไฟฟ้าที่มีกำลังต่ำหรือไม่ถึง 500 โวลต์มักจะไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรง ส่วนผู้ที่ถูกช็อตด้วยไฟฟ้ากำลังสูงหรือมากกว่า 500 โวลต์ อาจได้รับอันตรายร้ายแรง ทั้งนี้ เด็กเล็กมักไม่ได้รับบาดเจ็บจากไฟช็อตอย่างรุนแรง เนื่องจากเด็กจะถูกไฟช็อตที่มีกำลังประมาณ 110 – 220 โวลต์ สาเหตุที่ทำให้เกิดไฟช็อตเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้
- สัมผัสอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตรงบริเวณที่กระแสไฟฟ้าวิ่งอยู่ ส่วนเด็กเล็กเกิดจากการกัดสายไฟหรือเอาเหล็กแหย่เต้าเสียบปลั๊กไฟ
- อุปกรณ์ไฟฟ้าโดนน้ำหรือเปียกน้ำ
- เครื่องไฟฟ้าทำงานผิดปกติ หรือเกิดความขัดข้องเสียหายขึ้นมา
- ระบบไฟฟ้าเสื่อมสภาพ
- เกิดประกายไฟหรือไฟฟ้ารั่ว
- หากถูกฟ้าผ่า ก็อาจได้รับบาดเจ็บเหมือนถูกไฟช็อตได้
อาการผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อต
อาจมีอาการรุนแรงแตกต่างกันไปตั้งแต่บาดแผลไหม้เล็กน้อยจนถึงเสียชีวิต ซึ่งมักขึ้นอยู่กับปัจจัยดังที่กล่าวแล้ว ซึ่งบางรายอาจเพียงทำให้ล้มลงกับพื้น หรือของหล่นจากมือเมื่อถูกไฟฟ้าช็อต แต่ถ้าไฟฟ้าช็อตแล้วตกจากที่สูงก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ อาจมีอาการชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายถ้าเป็นแบบรุนแรง แล้วตามมาด้วยอาการตื่นเต้น หายใจเร็ว หมดสติ อาจมีอาการหยุดหายใจหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในทันที
ในบางรายอาจหมดสติไปชั่วครู่ และอาจจะรู้สึกปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และมีความรู้สึกหวาดผวา หลังจากฟื้นขึ้นมาแล้ว หรือบางรายอาจทำให้เป็นแผลไหม้สีเทาและไม่รู้สึกเจ็บถ้าเกิดแผลไหม้ผิวหนังแล้วกินลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง และอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำเช่นเดียวกับบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก และอาจติดเชื้อแทรกซ้อนได้ถ้าบาดแผลมีขนาดใหญ่ หรือเนื่องจากการชักกระตุกหรือตกจากที่สูงอาจทำให้กระดูกสันหลังและกระดูกส่วนอื่นๆ หักได้ หรือมีอาการซีดเหลืองจากภาวะเม็ดเลือดแดงแตก เกิดขึ้นได้
อ่านต่อ >> “การปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อต” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อต
- รีบปิดสวิตช์ไฟหรือถอดปลั๊กไฟทันที
- ถ้าทำไม่ได้ ควรช่วยให้ผู้ที่ถูกไฟช็อตหลุดจากกระแสไฟที่วิ่งอยู่ด้วยความระมัดระวัง โดยยืนบนฉนวนที่แห้ง เช่น ไม้กระดาน กระดาษหนังสือพิมพ์ ผ้าห่ม เสื่อ ผ้ายาง หรือผ้า แล้วใช้ด้ามไม้กวาด ไม้กระดาน ขาเก้าอี้ไม้ หรือไม้เท้าหรือไม้ที่แห้ง เขี่ยสายไฟให้พ้นจากผู้ป่วยหรือดันร่างกายส่วนที่สัมผัสไฟให้หลุดออกจากสายไฟ ไม่ควรให้โลหะหรือวัตถุที่เปียกน้ำเป็นอันขาด ควรใช้ไม้หรือฉนวนไฟฟ้าที่แห้ง และไม่ควรแตะต้องถูกตัวผู้ป่วยโดยตรงจนกว่าจะหลุดพ้นออกจากสายไฟเสียก่อน
- ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจให้ทำการเป่าปากช่วยหายใจทันที ถ้าหัวใจหยุดเต้นให้ทำการนวดหัวใจพร้อมกันไปจนกว่าจะหายใจได้เอง และถ้าผู้ป่วยหายใจได้เองแต่หมดสติควรจัดผู้ป่วยให้อยู่ในท่าพักฟื้น และให้การปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยหมดสติจากสาเหตุอื่นๆ
- รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ควรตรวจการหายใจอย่างใกล้ชิด ถ้าหยุดหายใจให้เป่าปากช่วยหายใจไปตลอดทางจนกว่าจะถึงโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
คำเตือน
- ห้ามแตะตัวคนที่กำลังโดนไฟช็อต มิฉะนั้นคุณนั่นแหละจะโดนช็อตไปด้วย
- อย่าเข้าไปในบริเวณที่เครื่องใช้ไฟฟ้าโดนน้ำหรือเกิดความชื้น
- ในกรณีที่เกิดไฟไหม้จากไฟฟ้า ให้ปิดเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าก่อน แล้วค่อยใช้ที่ดับเพลิงดับไฟ
การรักษารอยแผลไหม้จากไฟฟ้าช็อตเล็กน้อย
- ถอดเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับตรงจุดที่เกิดแผลไหม้ แม้กระทั่งแผลไหม้เล็กน้อยก็สามารถเกิดอาการบวมจนไม่สบายตัวได้ ดังนั้นจึงต้องรีบเอาเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับออกทันที
- ถ้าเสื้อผ้าเกิดไหม้ติดกับผิวหนัง นั่นจะไม่ถือว่าเป็นแผลเล็กน้อยแล้ว และคุณควรต้องเข้ารับการรักษาทันที อย่าพยายามเอาเสื้อผ้าที่ติดกับผิวออก แต่ให้ตัดรอบๆ บริเวณที่ติดเพื่อเอาเสื้อผ้าส่วนที่เหลือออกไป
- ล้างบริเวณที่ไหม้ ใช้สบู่กับน้ำเย็นทำความสะอาดบริเวณที่ไหม้ ลูบไล้สบู่เบาๆ เพื่อไม่ให้ตุ่มพองแตกหรือทำให้ผิวเกิดระคายเคือง
- ล้างบริเวณที่ไหม้ด้วยน้ำเย็นจนกระทั่งแผลหายปวด.น้ำเย็นจะลดอุณหภูมิของผิวลง และยังอาจหยุดแผลไหม้ไม่ให้สาหัสขึ้นกว่านั้น แช่แผลไหม้ในน้ำเย็นที่ไหลผ่านหรือราดไปประมาณ 10 นาที อย่าตกใจตื่นถ้าน้ำเย็นไม่ได้ทำให้หายปวดในทันที มันอาจต้องใช้เวลาถึงสามสิบนาที
- อย่าใช้น้ำแข็งหรือน้ำแช่น้ำแข็งเพราะอุณหภูมิที่เย็นจัดอาจทำให้เนื้อเยื่อเกิดความเสียหายมากขึ้น
- อย่าให้ตุ่มพองแตกตุ่มพองจากการไหม้นั้นไม่เหมือนตุ่มพองจากการเสียดสี ที่ซึ่งการทำให้มันแตกจะช่วยลดอาการปวดลง ห้ามทำตุ่มพองจากการไหม้แตก เพราะถ้าทำไปจะยิ่งเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ
- เรียนรู้ที่จะระบุอาการของแผลไหม้ความลึกระดับหนึ่ง สองและสาม เพื่อช่วยตัดสินใจว่าคุณต้องทำอย่างไรต่อไปซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของแผลไหม้นั้น
- แผลไหม้ความลึกระดับที่หนึ่งเป็นชนิดที่รุนแรงน้อยที่สุด ส่งผลเพียงเฉพาะผิวชั้นนอกสุดของผิวหนัง แผลไหม้ชนิดนี้มีผลทำให้ผิวแดงและมักจะรู้สึกปวด อย่างไรก็ดี แผลไหม้ชนิดนี้นับว่าเป็นการบาดเจ็บเล็กน้อยและสามารถรักษาเองที่บ้านได้
- แผลไหม้ความลึกระดับที่สองมีความรุนแรงยิ่งกว่า โดยจะส่งผลทั้งผิวชั้นนอกกับชั้นที่สองของผิวหนัง แผลไหม้ชนิดนี้ส่งผลให้ผิวบวมแดงๆ ด่างๆ พร้อมกับมีตุ่มพอง และจะสร้างความเจ็บปวดกับการไวต่อสัมผัส ในขณะที่แผลไหม้บริเวณเล็กๆ อาจยังคงรักษาเองที่บ้านได้ แต่แผลที่กินบริเวณกว้างนั้นจำต้องรับการดูแลจากแพทย์
- แผลไหม้ความลึกระดับที่สามเป็นขั้นที่รุนแรงและอันตรายที่สุด โดยจะส่งผลไปทุกชั้นผิว แผลไหม้ชนิดนี้อาจส่งผลให้ผิวเป็นสีแดง น้ำตาล หรือขาว แต่ส่วนใหญ่มักเป็นสีดำ ผิวหนังบริเวณที่โดนจะดูเหมือนหนังสัตว์ และมักจะชาไร้ความรู้สึก แผลไหม้ชนิดนี้ต้องได้รับการแลจากแพทย์ทันที
ทั้งนี้ สตรีมีครรภ์ที่ถูกไฟช็อตเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ได้ โดยกระแสไฟฟ้ากำลังต่ำที่ช็อตสตรีมีครรภ์อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกได้อย่างรุนแรง เนื่องจากผิวหนังของทารกในครรภ์บอบบางกว่าผิวหนังคนทั่วไปถึง 200 เท่า ทั้งนี้ หากวิถีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านมดลูก ทารกก็เสี่ยงได้รับบาดเจ็บจากการถูกไฟช็อต ส่งผลให้ทารกในครรภ์เติบโตช้า ประสบภาวะน้ำคร่ำน้อย เคลื่อนไหวน้อยลง และเกิดการแท้งได้
สำหรับบ้านไหนที่มีลูกน้อย สิ่งสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องคอยระวังคือ การระวังลูกน้อยเข้าใกล้เครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะเราไม่อาจล่วงรู้ได้ตลอดเวลาว่า สิ่งร้ายๆ นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่การดูแลลูกอย่างใกล้ชิดและคอยระมัดระวังตามที่แนะนำไว้ข้างต้น ก็สามารถช่วยให้ลูกน้อยปลอดภัยจากอันตรายของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างได้ค่ะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- เด็กหญิงอายุ 13 เป็นแผลไหม้ที่คอ เพราะมือถืออันตราย
- 13 ของใช้ในบ้านอันตราย พ่อแม่ต้องระมัดระวัง
- น้ำร้อนลวก ลูกโดนน้ำร้อนลวกจนเป็นแผลทำยังไงดี?
- วิธีช่วยเหลือลูกน้อย เมื่ออยู่ในสถานการณ์เสี่ยงตาย
ขอบคุณข้อมูลจาก : baby.haijai.com , th.wikihow.com