ทุกครอบครัวจะได้รับข่าวสารเตือนให้ระวังการติดเชื้อเจ็บป่วยจากไวรัสต่างๆ ที่มีระบาดขึ้นตามฤดูกาล รวมทั้งไวรัสที่ระบาดเข้ามาจากนอกประเทศ อย่าง โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ที่ทุกครอบครัวควรเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของบุตร หลาน และทุกคนในครอบครัว ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลจากกรมควบคุมโรคมาบอกให้ทราบกันค่ะ
โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา
ไวรัสอีโบลาที่แฝงความน่ากลัวและอันตรายไว้ ใครที่ได้รับเชื้อจนป่วยเป็น โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา สามารถถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณี ที่มีรายงานข่าวองค์การอนามัยโลก ให้ข้อมูลว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศ สาธารณรัฐ ประชาธิปไตยคองโก (DR Congo) นั้น กรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ซึ่งทาง องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขระหว่างประเทศ และยังไม่ได้ประกาศห้าม การเดินทางไปยังประเทศที่พบการระบาด ส่วนพื้นที่ที่รายงานก็อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล
ในส่วนของประเทศไทย ยังคงดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาตามระบบที่วางไว้ อย่างต่อเนื่อง และเข้มข้นทั้ง 3 ระดับ ได้แก่
1.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
2.โรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน
3.ในระดับชุมชน โดยเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดในทุกๆ ช่องทางเข้า-ออก ทั้งที่ด่านสนามบิน ด่านท่าเรือ และด่านชายแดน และติดตามอาการจนครบ 21 วันตามมาตรฐานที่กำหนด หากมีไข้จะรับเข้าดูแลในโรงพยาบาลที่จัดเตรียมไว้ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด เพื่อให้การรักษาตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และจะติดตามอาการผู้สัมผัสทุกคน
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดทำแนวทางการรักษา พร้อมทั้งจัดหาชุดพร้อมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อปฏิบัติงานในโรงพยาบาล และในพื้นที่ และสนับสนุนให้โรงพยาบาลที่มีห้องแยกโรคให้สามารถดูแลผู้ป่วยโดยปฏิบัติตามแนวทางการวินิจฉัยดูแลรักษาและควบคุมป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงจัดทำคู่มือทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั่วไปและการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจหาการติดเชื้อไวรัสอีโบลา ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบการเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบผู้เดินทางติดเชื้อไวรัสอีโบลา – ที่มา : สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ถึงไวรัสอีโบลาจะยังไม่แพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย แต่ก็ชะล่าใจไม่ได้เด็ดขาดค่ะ เพราะความร้ายแรงของโรคนี้ก็เอาเรื่องอยู่พอสมควรค่ะ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ทุกครอบครัวทั่วไทย เราไปทำความรู้จักกับโรคนี้ให้ดีขึ้นกันอีกสักนิด เพื่อจะได้ดูแลป้องกันรักษาสุขภาพของคนในครอบครัวไว้กันตั้งแต่เนิ่นๆ ค่ะ
อ่านต่อ ไวรัสอีโบลา กับสาเหตุของการติดโรค คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ติดต่อได้อย่างไร?
โรคนี้เดิมเรียกว่า โรคไข้เลือดออกอีโบลา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดเฉียบพลันรุนแรง ซึ่งการติดต่อของ เชื้อไวรัสอีโบลา สามารถติดต่อกันได้ 2 ทาง คือ
1. ติดต่อจากสัตว์สู่คน
โดยการสัมผัสกับอวัยวะเลือด สารคัดหลั่ง หรือของเหลวชนิดอื่นจากสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือเกิดขณะจัดการสัตว์ติดเชื้อที่ตาย โดยยังไม่พบรายงานจากการติดเชื้อผ่านทางอากาศหรือลมหายใจ ในแอฟริกาพบหลักฐานการติดเชื้อจากการสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อ ได้แก่ ชิมแปนซีกอริลลาค้างคาวผลไม้ลิงแอนติโลปป่าและเม่น[2]
2. ติดต่อจากคนสู่คน
โดยการสัมผัสโดยตรงกับเลือดหรือสารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ติดเชื้อเช่น นํ้ามูก นํ้าลายปัสสาวะ อุจจาระ นํ้าอสุจิหรือของเหลวอื่นๆ ผ่านผิวหนังที่เป็นแผลหรือเยื่อบุของผู้รับเชื้อและจากการสัมผัสโดยอ้อมกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ปนเปื้อนด้วยของเหลวเหล่านั้น นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อในโรงพยาบาลผ่านทางเข็ม และหลอดฉีดยา[3]
สำหรับการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ที่น่าตกใจ คือ ยังไม่มีวัคซีน หรือตัวยาจำเพาะในการป้องกัน หรือใช้สำหรับการรักษาคนป่วย การรักษาให้กับคนที่เป็นโรคนี้ ก็คือการให้ยาแก้ปวดในการประคับประคองอาการ ส่วนคนป่วยที่มีอาการของโรครุนแรงนั้นจะมีอาการขาดน้ำ การรักษาคือจะให้สารละลายเกลือแร่เพื่อไม่ให้อาการขาดน้ำรุนแรงมากขึ้น เห็นแบบนี้แล้วไม่อยากให้เกิดการแพร่ระบาดเข้ามาในไทยเลยค่ะ ดังนั้นทุกคนจะต้องช่วยกันสอดส่องดูแล เป็นหูเป็นตา หากพบคนในครอบครัว หรือใครก็ตามที่เจ็บป่วยมีอาการน่าสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อไวรัสอีโบลา ที่จะมีอาการ คือ
- มีไข้สูง
- อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- เจ็บคอ อาเจียน
- ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว
ให้รีบแจ้งกรมควบคุมโรค โทร 1422 ทันที เพื่อจะได้หยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างรวดเร็วค่ะ
อ่านต่อ วิธีป้องกันจากการป่วยด้วยไวรัสอีโบลา คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ถ้าไม่อยากป่วย จะป้องกันการติดเชื้อไวรัสอีโบลาได้อย่างไร?
คุณพ่อคุณแม่ หรือคนอื่นทั่วไปมีความจำเป็นต้องเดินไปต่างประเทศ หรือไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค การดูตัวเองเบื้องต้นในการป้องกันการติดเชื้อก็คือ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่แสดงอาการ และสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หากมีความจำเป็นให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย และล้างมือบ่อย ๆ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับศพ และสารคัดหลั่งของศพ รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่อาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่ง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย รวมทั้งหลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุโดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิงหรือค้างคาว
- ล้างหรือปอกเปลือกผลไม้ก่อนรับประทาน
- มีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัยทุกครั้ง
- ล้างมือเป็นประจำ
- หากมีอาการเริ่มป่วยเช่น มีไข้สูงอ่อนเพลีย ปวดศีรษะปวดกล้ามเนื้อเจ็บคออาเจียน ท้องเสียและมีผื่นนูนแดงตามตัวให้รีบพบแพทย์ทันที[4]
การเจ็บป่วยเกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าจะกับเด็ก หรือผู้ใหญ่ ดังนั้นสิ่งสำคัญของการมีสุขภาพดี และห่างไกลจากโรคติดต่อก็คือ การมีสุขอนามัยที่ดี การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีปราศจากเชื้อโรค หรือสิ่งสกปรก การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และรวมถึงการใช้ชีวิตที่ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกครอบครัวทั่วไทยจะห่างไกลจากโรคติดต่อต่างๆ กันนะคะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ไข้เลือดออกเดงกี โรคระบาดที่มากับฤดูฝน
วัณโรคกระดูก โรคติดต่อพ่อแม่ไม่ควรมองข้าม
อีสุกอีใส รักษาได้ด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน ภายใน 3 วัน
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
[1]สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. www.riskcomthai.org
[2],[3],[4]ภญ.สาวิตรี สหกิจพิจารณ์ กลุ่มวิจัยและพัฒนาเภสัชกรรม. www.gpo.or.th