เวลาลูกหลับ เป็นช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดสำหรับแม่ลูกอ่อนทุกคน เพราะนั่นหมายถึงเวลาที่คุณแม่จะได้พักผ่อน กินข้าวเช้าในตอนเที่ยง หรือได้เข้าห้องน้ำอย่างสบายใจ แต่ไม่รู้ทำไม เมื่อเริ่มจะตักข้าวคำแรกเข้าปาก ก็มักจะได้ยินเสียงร้องไห้ของเจ้าตัวเล็กดังมาจากห้องนอน แม่ๆ หลายคนเลือกที่จะบอกลาข้าวเช้าแล้ววิ่งไปหาลูกพร้อมกับท้องที่ร้องจ๊อกๆ แม่หลายคนก็เลือกที่จะรีบตักข้าวเข้าปากแล้วรีบวิ่งไปหาลูก แต่คุณแม่ทราบไหมคะว่าการรีบกิน กินข้าวเร็ว กินข้าวไว เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด นั้นส่งผลร้ายกว่าที่คิด มาดูกันค่ะ ว่าการเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดนั้น ทำให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง
แม่ลูกอ่อนกินข้าวเร็ว เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด อาจป่วยได้
การเคี้ยวข้าวให้ละเอียด มีความสำคัญต่อระบบการย่อยอาหารเป็นอย่างมาก ร่างกายของแต่ละคนมีข้อจำกัดในการย่อยอาหารที่ไม่เหมือนกัน หากอาหารที่เกิดจากการ เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด เข้าไปสู่ระบบการย่อยอาหารในคนที่มีระบบการย่อยอาหารไม่ดี ก็อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้ ดังนี้
- โรคอ้วน เชื่อไหมล่ะคะ ว่าคนที่กินข้าวเร็ว จะเสี่ยงอ้วนได้มากกว่าคนที่กินข้าวด้วยความเร็วปกติ 70% ของคนอ้วนหรือคนที่กำลังจะอ้วน มักจะเป็นคนที่กินข้าวเร็ว กินไว กินข้าวคำใหญ่กว่าปกติ เพราะระดับน้ำตาลในเลือดที่เราได้รับจากอาหารจะเป็นตัวกระตุ้นให้สมองสั่งการว่าอิ่มหรือไม่อิ่ม ซึ่งโดยปกติแล้ว สมองจะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีถึงจะรู้สึกอิ่ม สำหรับคนที่กินเร็ว เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด และกลืนลงท้องอย่างรวดเร็ว เมื่ออาหารยังไม่ถึงกระเพาะก็จะรู้สึกว่ายังไม่อิ่ม จึงต้องสั่งอาหารเพิ่มเพื่อให้กินอิ่มมากขึ้น
- โรคกระเพาะอาหาร และ โรคกรดไหลย้อน โดยปกติของคนที่กินเร็ว มักจะเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด อาหารที่ถูกลำเลียงเข้าไปในกระเพาะอาหารก็จะมีขนาดใหญ่เกินไป ทำให้กระเพาะอาหารต้องทำงานหนักขึ้น จึงหลั่งน้ำย่อยออกมาเพิ่มขึ้น เมื่อมีน้ำย่อยออกมามากก็จะมีความเข้มข้นของกรดในกระเพาะอาหารสูงขึ้น เพื่อย่อยอาหารที่มีชิ้นใหญ่ให้ได้ นี่เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร และกรดไหลย้อนในอนาคตได้ และที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือหากยังปล่อยให้อาการหนักขึ้น อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
- โรคเบาหวาน อย่างที่ทราบกันว่าการกินเร็ว เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด นั้นทำให้เป็นโรคอ้วน และโรคอ้วนก็เป็นสาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ เพราะคนที่กินเร็ว จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อฮอร์โมนอินซูลินที่สร้างจากตับอ่อนในปริมาณที่ปกติ แต่ฮอร์โมนอินซูลินกลับไม่สามารถทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ สาเหตุหลักเนื่องจากโมเลกุลของอินซูลินไม่สามารถเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภายในเซลล์ได้ ตับอ่อนจึงจำเป็นต้องสร้างและหลั่งอินซูลินออกมาเพิ่มเติม จนกระทั่งในที่สุดเกิดเป็นโรคเบาหวานได้
- โรคอาหารเป็นพิษ เป็นโรคที่เกิดจากการกินเร็วในทางอ้อม เพราะคนที่กินเร็วจะไม่ค่อยรับรู้รูป รส และกลิ่นของอาหาร เมื่อทานอาหารที่เริ่มบูดหรือเริ่มเสียเข้าไป ก็อาจจะเสี่ยงทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดทำอย่างไร และประโยชน์ของการเคี้ยวละเอียด
การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดมีประโยชน์ต่อสมองและร่างกายด้วยนะ
การเคี้ยวอาหารจะช่วยให้ต่อมน้ำลายและต่อมใต้หูหลั่งฮอร์โมนออกมา ระหว่างเคี้ยวอาหารอยู่นั้นร่างกายจะเพิ่มปริมาณออกซิเจนในสมองให้สูงขึ้นด้วย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เซลล์สมองทำงานได้ดีขึ้น เลือดในสมองก็จะไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ การเคี้ยวอาหารยังสามารถช่วยกระตุ้นพลังในการคิดและสร้างสมาธิได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การมีเวลาเคี้ยวอาหารนานๆ ย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้สมองได้ถูกกระตุ้นทางความคิด และมีผลให้สมองเข้มแข็งมากขึ้นได้
ประโยชน์ของการเคี้ยว ในแต่ละช่วงครั้ง
1. เคี้ยว 30 ครั้ง ช่วยให้เหงือกแข็งแรง ทำให้ใจเย็น และลดอาการหงุดหงิดได้
2. เคี้ยว 50 ครั้ง นอกจากช่วยลดอาการเจ้าอารมณ์ของเราได้แล้ว ยังช่วยลดความอ้วนได้อีกด้วย
3. เคี้ยว 100 ครั้ง ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ และจัดการปัญหาต่างๆ ได้อย่างใจเย็น แถมยังช่วยลดการกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ไม่ให้กินเกินความจำเป็นได้อีกด้วย
4. เคี้ยว 200 ครั้ง ทำให้ไม่เป็นโรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง และโรคแผลในกระเพาะอาหาร
กินเร็วไปแล้ว กินช้าลงหน่อยไหม
การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดต้องทำอย่างไรบ้าง?
- ให้เวลาในการกินอาหารให้นานหน่อย ให้ความสำคัญกับเวลาในการกินอาหาร โดยควรใช้เวลาอย่างต่ำ 20 นาทีต่อหนึ่งมื้ออาหาร เพราะเป็นเวลาที่นานพอที่กระเพาะอาหารจะส่งสัญญาณไปยังสมองว่ากระเพาะเริ่มเต็มแล้วนะ ควรจะอิ่มได้แล้ว
- ดื่มด่ำกับรูปรสกลิ่นของอาหารก่อนทาน เพราะจะช่วยให้คนกินตั้งใจและสนใจกินอาหารมื้อนั้นๆ ได้มากกว่า
- เคี้ยวให้นานขึ้น ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าการเคี้ยวอาหารให้ละเอียดมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงควรทานคำเล็กๆ และเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน โดยการกินอาหาร 1 คำควรเคี้ยวให้ได้ประมาณ 30-50 ครั้ง นอกจากจะมีประโยชน์ในด้านการย่อยอาหารแล้ว การเคี้ยวให้ละเอียดยังทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้นอีกด้วย
- วางช้อนส้อมไว้ข้างจานขณะเคี้ยว เพราะเมื่อไรก็ตามที่เรายังคงถือช้อนส้อมไปด้วยเคี้ยวไปด้วย ร่างกายก็จะสั่งให้ตักอาหารคำต่อไปโดยอัตโนมัติ เมื่อมีอาหารคำต่อไปมาจ่ออยู่ที่ปาก เราก็จะรีบเคี้ยวรีบกลืน
- พูดคุยกับเพื่อนระหว่างกินบ้าง ก็จะช่วยให้ทานอาหารได้ช้าลง และควรหลีกเลี่ยงการดูมือถือ หรือทีวีไปด้วยขณะทาน เพราะจะทำให้เผลอเร่งกินอาหารโดยไม่รู้ตัว
การทานอาหารอย่างรีบเร่ง และการเคี้ยวข้าวไม่ละเอียด มีผลเสียหลายอย่างเลยใช่ไหมล่ะคะ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงอยากชวนคุณแม่ทุกคนให้หันมาเปลี่ยนวิธีการกินกันค่ะ สำหรับแม่ลูกอ่อนที่แทบจะไม่มีเวลาทำธุระส่วนตัวอยู่แล้ว การกินข้าวช้ายิ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ อยากให้ลองหาทางออกดูค่ะ เช่น ให้คุณพ่อหรือผู้ช่วยดูลูกขณะที่แม่กินข้าว หรืออาจจะอุ้มลูกไปด้วยแล้วค่อยๆ ทานไปด้วยก็ได้นะคะ อย่าลืมค่ะว่า แค่เคี้ยวละเอียด ชีวิตก็เปลี่ยน
อ่านบทความดีๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ไม่มีเวลา “อยู่ไฟหลังคลอด” กินสมุนไพรแทนการอยู่ไฟ ได้ไหม?
ภาวะผมร่วงหลังคลอด แม่ๆมีวิธีรับมืออย่างไร?
ดูแลตัวเองหลังคลอด ไม่มากพอนอนน้อย อาจป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจลืมป่วย, Clean Eating, MGR online
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่