ไม่มีใครอยากเจ็บป่วยหรือว่าอยากให้มีโรคภัยมาเยือน โดยเฉพาะ โรคของผู้หญิง ที่มีสัดส่วนของการเกิดโรคได้มากกว่าผู้ชาย บางโรคยากเกินกว่าจะทันรู้ตัว และผู้หญิงส่วนใหญ่ก็อายที่จะไปตรวจ แต่ไม่ยากเกินไปที่จะป้องกัน
4 โรคของผู้หญิง ที่ไม่ควรมองข้าม อย่าอายที่จะไปตรวจ!
1.โรคเนื้องอกมดลูก
เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดของผู้หญิง ส่วนมากจะพบในผู้หญิงช่วงอายุ 40 – 50 ปี เป็นการเปลี่ยนแปลงของเซลล์กล้ามเนื้อบางตำแหน่ง มีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตจนกลายเป็นก้อนเนื้อแทรกอยู่ในชั้นกล้ามเนื้อที่ไม่ใช่เนื้อร้าย สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากพันธุกรรม การใช้ยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนเพศหญิงและตัวเร่งการเจริญเติบโตที่มดลูกจะทำให้เนื้องอกโตขึ้น เพราะพบว่าส่วนใหญ่เนื้องอกจะมีขนาดเล็กลงหลังวัยหมดระดู แม้จะไม่ใช่โรคร้าย แต่ในบางรายอาจจะมีอาการรุนแรงได้
โรคเนื้องอกมดลูก อาการ:
- มีอาการตกขาวมากผิดปกติและมีติดต่อกันหลายวัน
- มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ส่วนใหญ่มักมีเลือดประจำเดือนออกมากขึ้น บางรายคิดว่าเป็นเลือดจากประจำเดือนที่ออกมากแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่หากปล่อยเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายสูญเสียเลือดเป็นจำนวนมากจนชีด มีอาการเหนื่อยง่าย หรือหน้ามืด เป็นลมได้บ่อย
- รู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายจากภาวะซีด
- อาการจากการกดเบียดของมดลูกที่โตขึ้น ทำให้มีอาการไม่สบายบริเวณหัวหน่าว บางรายอาจปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะบ่อย และอาจกดบริเวณทวารหนักทำให้ท้องผูกร่วมด้วย
- ถ้าเนื้องอกก้อนค่อนข้างใหญ่ ก็อาจคลำเจอก้อนได้ทางหน้าท้อง หรือรู้สึกท้องโตขึ้นโดยไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย
- มีอาการเจ็บปวดบริเวณท้องน้อย แต่โดยทั่วไปเนื้องอกมดลูกจะไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด นอกจากจะเกิดภาวะแทรกช้อนอื่น เช่น เลือดออกภายในก้อนเนื้องอก หรือเกิดการอักเสบของก้อนเนื้องอก เป็นต้น
โรคเนื้องอกมดลูก การรักษา: ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจภายในหรืออัลตร้าซาวด์ ทำการรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดต่อไปขึ้นอยู่กับขนาดและจำนวนของเนื้องอกในบริเวณที่พบ
2.โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือช็อกโกแลตชีสต์
โดยปกติแล้วการลอกหลุดของเยื่อบุโพรงมดลูกในแต่ละรอบเดือน ทำให้เกิดเลือดประจำเดือนตามปกติ แต่เมื่อเยื่อบุเหล่านี้ไปเจริญอยู่ผิดตำแหน่งที่ควรจะเป็น เช่น เยื่อบุช่องท้อง ผนังหรือกล้ามเนื้อมดลูก ลำไส้ และรังไข่ และมีโอกาสเกิดขึ้นบริเวณลำไส้ตรง กระเพาะปัสสาวะ ปากมดลูก หรือช่องคลอดได้เช่นกัน ซื่งภาวะที่เยื่อบุผนังมดลูกเจริญภายนอกมดลูก ทำให้เกิดเยื่อบุหนาที่สลายตัวกลายเป็นเลือดประจำเดือนไปเรื่อย ๆ จนร่างกายขับออกมาได้ไม่หมด อาจเกิดจากการย้อนกลับของเลือดประจำเดือนเข้าสู่อุ้งเชิงกราน และบางรายอาจมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน หากขังอยู่ปริมาณมากและนานจนเกิดเป็นถุงน้ำเล็ก ๆ ที่มีของเหลวเหมือนช็อกโกแลต ค่อยๆ เบียดเนื้อรังไข่ และขยายใหญ่จนเป็นถุงน้ำขนาดใหญ่ขึ้น ที่เรียกกันว่า “ช็อกโกแลตชีสต์” จนทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย ซึ่งโอกาสเป็นโรคนี้พบได้บ่อยมากในสตรีวัยเจริญพันธุ์ โดยประมาณร้อยละ 10 ในวัยนี้จะเป็นโรคนี้ขึ้นได้ เนื่องจากผู้หญิงในปัจจุบันมีประจำเดือนเร็วและนาน รวมทั้งส่งผลในผู้หญิงที่เป็นโรคนี้อาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากตามมา เนื่องจากเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นมาเรื่อย ๆ จนอุดตันรังไข่ ส่งผลให้ไข่ไม่สามารถออกไปรับการปฏิสนธิกับอสุจิที่ท่อนำไข่
ช็อกโกแลตชีสต์ อาการ:
- มีอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง รวมทั้งประจำเดือนมามากผิดปกติ และบางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วม เช่น ปวดมากจนเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย
- มีอาการปวดท้องน้อย มักเกิดขึ้นในช่วงก่อนมีประจำเดือนและปวดบีบมากในช่วงที่มีรอบเดือน
- ปวดอุ้งเชิงกรานตลอดเวลา และปวดยิ่งขึ้นเมื่อประจำเดือนใกล้มาและในช่วงที่มีรอบเดือน
- มีอาการเจ็บช่องคลอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และมีอาการปวดต่อเนื่องไปอีก 1-2 ชั่วโมง
- ถ้าโรคกระจายไปกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ใหญ่อาจมีอาการปัสสาวะหรือถ่ายอุจจาระมีเลือดปน บางรายอาจมีอาการของลำไส้แปรปรวนได้
- บางรายอาจมีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ ในช่วงที่ไม่มีรอบเดือนหรือประจำเดือนมามากผิดปกติ
ช็อกโกแลตชีสต์ การรักษา: เมื่อรู้สึกมีอาการผิดปกติไม่ควรนิ่งเฉย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง ด้วยการตรวจภายในและอัลตร้าซาวด์ อาจมีการให้ยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ ยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนในการรักษา หรือรวมกับการผ่าตัด เพื่อลดปัญหาอื่น ๆ ที่ร้ายแรงตามมาได้
อ่านต่อ 4 โรคที่ผู้หญิงทุกคนควรรู้ คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
3.โรคช่องคลอดอักเสบ
สาเหตุจากเชื้อราที่มาจากความอับชื้น ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องคลอด มีลักษณะเป็นตกขาวที่คล้ายกับแป้ง และมีอาการคันบริเวณช่องคลอด รวมถึงสาเหตุที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจเกิดการสวนล้างช่องคลอด การใช้แผ่นอนามัยหรือผ้าอนามัยแล้วมีการอับชื้น การสวมใส่กระโปรงหรือกางเกงที่รัดรูปจนเกินไป หรือการทานยาแก้อักเสบบ่อย ๆ จนทำให้เกิดการอักเสบของช่องคลอด มีตกขาวผิดปกติได้
ช่องคลอดอักเสบ อาการ:
- ส่วนใหญ่สังเกตเห็นได้จากอาการตกขาวมากผิดปกติ
- ลักษณะตกขาวมีสีขาวเนียนปนสีเทาอ่อน หรือมีสีแปลก ๆ ที่อาจปนกับเลือด
- ตกขาวมีกลิ่นเหม็นคาว และกลิ่นมักจะรุนแรงหลังการร่วมเพศหรือหลังหมดประจำเดือน
- มีอาการคันระคายเคืองบริเวณปากช่องคลอด
- บางรายอาจมีอาการแสบร้อนในช่องคลอดหรือเจ็บช่องคลอดเวลามีเพศสัมพันธ์
ช่องคลอดอักเสบ การรักษา : เมื่อรู้สึกมีอาการคันบริเวณช่องคลอดและมีตกขาวที่มากผิดปกติ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจภายในและหาสาเหตุ และเพื่อสุขอนามัยที่ดีและเลี่ยงการอับชื้นควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 3-4 ชั่วโมงในช่วงที่มีประจำเดือนมาหรือมากกว่านั้นหากประจำเดือนมามาก ดูแลทำความสะอาดร่างกายโดยไม่สวนล้างช่องคลอดหรือใช้น้ำยาล้างโดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการสวมชุดชั้นในหรือเมื้อผ้าที่เกิดความอับชื้นและรัดรูป งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาหาย ถ้าจำเป็นควรใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น
4.ภาวะผิดปกติของการมีประจำเดือน
สาเหตุหลัก ๆ มักเกิดจากระดับฮอร์โมนในร่างกายช่วงนั้นผิดปกติ เช่น อาจจะเกิดจากความเครียด อาหารการกิน การลดน้ำหนักที่ทำให้การรับประทานอาหารเพิ่มหรือลดลงเร็วผิดปกติจนฮอร์โมนแปรปรวน การกินยาคุมกำเนิดซึ่งจะเข้าไปกดการทำงานของรังไข่ให้ผิดปกติได้ หรืออาการอื่น ๆ เช่น ปวดท้องมากผิดปกติ คลำเจอก้อนเนื้อ อาจเกิดจากเนื้องอก ซีสต์ มะเร็ง เยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ หรือมีพังผืดที่อุ้งเชิงกราน ฯลฯ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะผิดปกติของการมีประจำเดือนได้
ประจำเดือนผิดปกติ อาการ:
- ปวดประจำเดือนผิดปกติ
- ประจำเดือนมากระปิดกระปอย
- ประจำเดือนมามากเกินกว่า 7 วันหรือน้อยเกินไป
- ประจำเดือนขาดทั้งที่ไม่ได้ตั้งครรภ์
- สังเกตุได้จากการมีลิ่มเลือดปนออกมากับประจำเดือนมากผิดปกติ
- ระยะห่างของประจำเดือนน้อยกว่า 21 วัน หรือมากกว่า 35 วัน ประจำเดือนหายไป 3-6 เดือน เป็นต้น
ประจำเดือนผิดปกติ การรักษา : การมีภาวะผิดปกติของการมีประจำเดือนอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอื่น ๆ หากพบความผิดปกติที่มากขึ้นควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจภายในหรืออัลตร้าซาวด์หน้าท้องหรือช่องคลอด หรืออาจมีการตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติมเพื่อหาวิธีรักษาต่อไป
ถึงแม้ปัจจุบันนวัตกรรมในการรักษาจะพัฒนากว้างไกลและโรคดังกล่าวข้างต้นแม้จะไม่ร้ายแรง แต่ก็สามารถก่อให้เกิดอาการที่มีผลต่อสุขภาพในระดับต่าง ๆ ได้ ดังนั้นหากพบว่ามีอาการปกติเพียงข้อใดข้อหนึ่งก็ควรไปพบสูตินารีแพทย์เพื่อตรวจหาภาวะหรือโรคที่อาจเกิดขึ้นเฉพาะผู้หญิงได้ และการได้ตรวจเช็กสุขภาพประจำปีแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ก็จะเป็นประโยชน์และส่งผลดีต่อสุขภาพ เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคนะคะ.
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.bangkokhospital.com, www.paolohospital.com, www.siphhospital.com
อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ถุงน้ำรังไข่ หรือ เดอร์มอยด์ซีสต์ อีกหนึ่งโรคใกล้ตัวที่ผู้หญิงต้องระวัง!
ตรวจคัดกรองมะเร็ง ในผู้หญิงควรตรวจเมื่อไหร่?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่