กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เตือนอากาศเย็น ๆ หนาว ๆ แบบนี้ ต้องระวัง 4 โรคผิวหนังหน้าหนาว
4 โรคผิวหนังหน้าหนาว ระวังลูกเป็น!
อากาศเปลี่ยนแปลงในหน้าหนาว ลมเย็น ๆ แบบนี้นอกจากสุขภาพภายในที่อาจย่ำแย่ได้ ยังส่งผลต่อสุขภาพผิวหนังโดยตรง กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เตือนว่า ฤดูหนาวมีผลให้ผู้ป่วยโรคผิวหนังมีอาการกำเริบหรือเป็นมากขึ้นได้ ต้องคอยสังเกตอาการทางผิวหนังและดูแลผิวอย่างถูกวิธี
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้เปิดเผยถึง 4 โรคผิวหนังที่ต้องระวังในช่วงหน้าหนาว
โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากการที่ผิวหนังแห้ง
ผื่นผิวหนังอักเสบจากการที่ผิวหนังแห้งอาจทำให้เกิดผื่นคัน ต้องระวังในทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะพบได้บ่อย โดยเกิดจากผิวที่แห้งทำให้ไวต่อการระคายเคืองต่อน้ำสบู่หรือสารเคมี ในหน้าหนาวจึงไม่ควรอาบน้ำอุ่นเกินไป และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่ทำให้ผิวแห้งตึง หลังอาบน้ำควรทาครีมบำรุงผิว ส่วนทารกต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนสำหรับผิวที่บอบบาง เพราะทารกนั้นผิวแพ้ง่าย
โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากการระคายเคือง
ผื่นผิวหนังอักเสบจากการระคายเคืองมักจะมีอาการมากที่มือ กลุ่มเสี่ยงที่พบได้บ่อยมักจะเป็นผู้ที่ทำงานบ้าน เกิดเป็นผื่นแดง มีอาการคัน มือแห้งแดงแตก คุณแม่ที่ทำงานบ้านเป็นประจำ ต้องหมั่นดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ ด้วยการใส่ถุงมือก่อนทำความสะอาด ทั้งยังต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีโดยตรง หมั่นทาครีมบำรุงบ่อย ๆ จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้
โรคภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก
ภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก ทำให้เกิดอาการผิวแห้ง ผื่นแดง คัน กำเริบ โดยเฉพาะในเด็กที่ไม่อยากอาบน้ำเย็น ๆ ในช่วงหน้าหนาวแบบนี้ ส่งผลให้แบคทีเรียที่ผิวหนังเพิ่มมากขึ้น จนโรคภูมิแพ้ผิวหนังในเด็กกำเริบขึ้นมา การเลือกใช้สบู่สำหรับเด็ก ไม่จำเป็นต้องซื้อสบู่ที่มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรีย นอกจากจะไม่หายแล้วยังทำให้ระคายเคือง คันเพิ่มขึ้นได้ พร้อมทั้งดูแลผิวพรรณของลูกด้วยการใช้ครีมบำรุง
โรคเซบเดิม
เซบเดิม หรือผื่นแพ้ต่อมน้ำมัน มักจะมีอาการผื่นแดงลอกเป็นขุยที่บริเวณไรผม ร่องแก้ม ข้างจมูก รูหู ซึ่งจะกำเริบมากในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง ประกอบกับพฤติกรรมอื่น ทั้งการนอนดึก พักผ่อนน้อย ดื่มแอลกอฮอล์ การรักษาที่ดีที่สุดต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พร้อมกับเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวร่วมกับทาครีมบำรุง และมาพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ
สำหรับหน้าหนาวที่อุณหภูมิเริ่มลดต่ำลงในหลายพื้นที่ ทำให้อากาศเย็นและแห้ง จำเป็นที่จะต้องดูแลผิวให้ชุ่มชื้นด้วยเคล็ดลับง่าย ๆ 4 วิธี
วิธีดูแลผิวหน้าหนาว
- ไม่อาบน้ำอุ่นเกินไป
- ใช้สบู่ที่อ่อนโยน
- ทาครีมบำรุงสม่ำเสมอ โดยเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เหมาะกับสภาพผิว เช่น ผิวแห้งมากควรใช้ออยทาบำรุง
- ที่สำคัญก่อนออกจากบ้านทาครีมกันแดดทุกครั้ง เพื่อปกป้องผิวจากแสงแดดที่มากับลมหนาว
กลุ่มโรคไวรัสในช่วงฤดูหนาว
ไม่ใช่แค่โรคทางผิวหนังเท่านั้นที่ต้องระวัง แต่กลุ่มโรคไวรัสในช่วงฤดูหนาวก็อันตรายกับทารกและเด็กเล็กเช่นกัน โดยกลุ่มโรคไวรัสที่มีการแพร่กระจายได้มากในช่วงฤดูหนาว ได้แก่
โรคสุกใสหรือโรคอีสุกอีใส
อีสุกอีใสเป็นโรคที่มักเกิดในช่วงฤดูหนาวถึงช่วงต้นฤดูร้อน พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่กลุ่มเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้มีภูมิต้านทานโรคต่ำที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส และหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ หากติดโรคอีสุกอีใสจะส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
การติดต่อของโรคอีสุกอีใส
ติดต่อผ่านการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรง หรือแม้แต่การสัมผัสถูกของใช้ที่เปื้อนตุ่มน้ำของคนที่เป็นสุกใส ก็สามารถทำให้ติดโรคได้
อาการสำคัญของโรคอีสุกอีใส
- มีไข้ต่ำ ๆ
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- เกิดผื่นคัน
- มีตุ่มน้ำใส ๆ ทั่วร่างกาย ตั้งแต่ไรผม แล้วกระจายไปยังใบหน้า ลำตัว แผ่นหลัง
- บางรายมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากและลิ้นเปื่อยเกิดอาการเจ็บคอ
ระยะเวลาของโรคจากเริ่มมีตุ่มจนเป็นสะเก็ด ประมาณ 6-7 วัน ตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อย ๆ หายภายใน 1-3 สัปดาห์ โดยโรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่หายได้เอง แต่เชื้อจะไม่หายไปจากร่างกาย ยังคงอยู่ในเส้นประสาท ดังนั้น เมื่อร่างกายอ่อนแอจะแสดงอาการออกมาในโรคงูสวัด เมื่อเป็นโรคควรหยุดงาน พักผ่อน ดื่มน้ำให้มาก ส่วนเด็ก ๆ หากมีอาการผิดปกติให้หยุดเรียนเพื่อสังเกตอาการและป้องกันการแพร่เชื้อต่อไป
โรคหัด
หัดเกิดจากเชื้อไวรัสรูบิโอลา (rubeola virus) เกิดได้กับทุกวัย พบบ่อยในเด็กอายุ 2-14 ปี แต่ไม่ค่อยพบในทารกที่อายุน้อยกว่า 6-8 เดือน เพราะมีภูมิต้านทานที่ได้รับจากแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โรคนี้พบได้ตลอดปี ส่วนมากเกิดในช่วงฤดูหนาวจนถึงต้นฤดูร้อน
การติดต่อของโรคหัด
โรคหัดติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วมาก โดยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือใช้สิ่งของร่วมกัน เพราะเชื้อพบมากในน้ำลายของผู้เป็นโรค
อาการสำคัญของโรคหัด
7 วันหลังร่างกายได้รับเชื้อโรคหัดเข้าไปจึงเริ่มมีอาการ ดังนี้
- ช่วงแรกอาการคล้ายไข้หวัด และมีไข้สูงตลอดเวลา แม้จะทานยาลดไข้ก็ไม่ช่วย
- อ่อนเพลีย
- ซึมลงหรือกระสับกระส่าย
- เบื่ออาหาร
- น้ำมูกใส
- ไอแห้ง
- น้ำตาไหล
- ไม่สู้แสง หนังตาบวม
- อาจถ่ายเหลวบ่อยเหมือนท้องเดิน
- ทารกจะร้องกวน
- ระวังอาการชักจากไข้
หลังจากไข้สูง 3 ถึง 4 วัน ผื่นเริ่มขึ้น ลักษณะผื่นเป็นจุดแดงเล็ก ๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด ที่บริเวณตีนผม ซอกคอก่อนเป็นอันดับแรก แล้วลามไปตามใบหน้า ลำตัวและแขนขา ทำให้ผิวหนังโดยรอบเป็นสีแดงระเรื่อ อาจจะคันเล็กน้อย ผื่นจะใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 วันผื่นจางลง มักเปลี่ยนเป็นสีคล้ำในช่วงแรก
อันตรายจากภาวะแทรกซ้อน
ปกติแล้วโรคนี้จะหายได้เอง ยกเว้นเด็กขาดสารอาหาร ร่างกายอ่อนแอ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคปอดอักเสบ และโรคอุจจาระร่วง มักพบหลังผื่นขึ้นหรือเมื่อไข้ทุเลาแล้ว ส่วนโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงและอาจทำให้เสียชีวิตได้คือ โรคสมองอักเสบ ขณะที่เป็นโรคหัดยังทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง เพิ่มโอกาสเป็นวัณโรคปอดง่ายขึ้น
เมื่อพบว่าลูกมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม และฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด ซึ่งต้องฉีดให้เด็กที่อายุระหว่าง 9 ถึง 12 เดือน ฉีดเพียงครั้งเดียวสามารถป้องกันโรคหัดได้ตลอดไป และให้ฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 4 ถึง 6 ปี
โรคหัดเยอรมัน
หัดเยอรมัน เกิดจากเชื้อไวรัสรูเบลล่า (Rubella) มักพบการระบาดในโรงเรียน โรงงาน สถานที่ ทำงาน โดยเชื้อส่วนมากอยู่ในน้ำมูกและน้ำลาย ผู้ติดเชื้อส่วนมากมักไม่มีอาการหรือพบอาการเล็กน้อย ข้อควรระวังคือหญิงตั้งครรภ์หากติดเชื้อโรคหัดเยอรมันในช่วงอายุครรภ์ 3 ถึง 4 เดือนแรก จะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ อาจทำให้ลูกคลอดออกมาพิการได้
การติดต่อของโรคหัดเยอรมัน
เชื้อมักอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย จึงติดต่อกันได้ง่ายเช่นเดียวกับโรคหัด ติดได้ด้วยการไอ จาม หรือสัมผัสน้ำมูกน้ำลายที่มีเชื้อหัดเยอรมันอยู่ โดยเชื้อจะมีชีวิตอยู่ในร่างกายคนได้ถึง 1 ปี เมื่อติดเชื้อแล้วจะใช้เวลา 14-21 วัน จึงเริ่มเกิดอาการ
อาการสำคัญของโรคหัดเยอรมัน
- ในเด็กโตจะเริ่มจากต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู ท้ายทอยและด้านหลังของลำคอ มีไข้ ปวดศีรษะ มีอาการคล้ายเป็นหวัด อาจเจ็บคอร่วมด้วย เมื่อมีไข้ประมาณวันที่ 3 จะมีผื่นขึ้น ลักษณะผื่นแบนราบ สีชมพูจาง ๆ ผื่นขึ้นที่ใบหน้าแล้วลามไปทั่วตัวอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง เห็นชัดเจนบริเวณแขนขาจะหายไปในเวลา 1 ถึง 2 วัน แล้วสีของผิวหนังจะกลับเป็นปกติ ในเด็กอาจไม่มีไข้ หรือไม่มีอาการอื่นมาก่อน
- อาการของผู้ใหญ่ จะคล้ายที่พบในเด็ก แต่ผู้ใหญ่จะมีไข้สูงกว่า ผู้หญิงอาจมีอาการปวดข้อหรือข้ออักเสบร่วมด้วย
ส่วนโรคแทรกซ้อนที่อันตรายคือ สมองอักเสบ และข้อนิ้วมื้อนิ้วเท้าอักเสบ
อันตรายจากการติดเชื้อโรคหัดเยอรมันของทารกในครรภ์
ทารกที่ติดเชื้อในครรภ์อาจมีอวัยวะผิดปกติได้ตั้งแต่กำเนิด ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ หากติดเชื้อในช่วง 4 สัปดาห์แรกของอายุครรภ์ พบว่าทารกมีโอกาสเกิดความพิการได้สูงถึงร้อยละ 50 ถ้าติดเชื้อในช่วงอายุครรภ์ที่ 5 ถึง 8 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเกิดความพิการได้ประมาณหนึ่งในสี่หรือร้อยละ 25 และถ้าติดเชื้อในช่วงใกล้คลอดคืออายุครรภ์ที่ 9 ถึง 12 สัปดาห์ ความพิการของทารกมีโอกาสเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 8 ความพิการที่พบบ่อย ได้แก่ ความพิการทางตา เช่น ตาต้อกระจก ต้อหิน ความพิการที่หัวใจ หูหนวก ศีรษะเล็ก โครงสร้างสมองผิดปกติ ตัวเล็ก พัฒนาการช้า ตับโต ม้ามโต ตัวเหลือง มีจ้ำเลือดตามตัว และเกล็ดเลือดต่ำ
โรคหัดเยอรมันสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งอยู่ในวัคซีนรวม 3 โรค วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) คือสามารถป้องกันโรคคางทูม โรคหัด และโรคหัดเยอรมัน ฉีดเข็มแรกให้กับเด็กตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และฉีดเข็มที่สองเมื่อเด็กอายุ 4-6 ปี
สำหรับหน้าหนาวนี้ ควรสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง และหมั่นดูแลคนในครอบครัว โดยเฉพาะบ้านที่มีลูกหรือเด็กเล็ก หากพบว่ามีสัญญาณของอาการเจ็บป่วย ควรพาไปหาหมอเพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธีให้เร็วที่สุด
อ้างอิงข้อมูล : กรมการแพทย์ และ pidst.or.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
Rhinovirus แตกต่างจาก RSV อย่างไร ระวังลูกเป็นโรคทางเดินหายใจ