Respiratory Syncytial virus(RSV)โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจโรคอันตรายในเด็กเล็ก รู้หรือไม่ว่าไม่มีวัคซีนรักษาแต่การฉีดวัคซีน IPD ช่วยลดโอกาสติดเชื้อ RSV ได้
คุ้ม2ต่อ!! วัคซีน ป้องกันไอพีดี แถมลดโอกาสติดเชื้อ RSV
เมื่อเข้าสู่หน้าฝนโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจก็ถามหา หนึ่งในโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย และเป็นอันตรายอย่างมากในเด็กเล็ก และลูก ๆ ของเรานั้น คือ โรคติดเชื้อ RSV
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวในโซเชียลมีเดียว่า ในช่วงฤดูหนาวนี้มีโอกาสพบเด็กป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ได้นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV) เป็นโรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาจมีอาการรุนแรงได้มากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ จากข้อมูลศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า อุบัติการณ์ของโรค RSV ในเด็กของปี 2563 มีอัตราป่วยเท่ากับปี 2562 ในเดือนเดียวกัน และโรคทางเดินหายใจที่ตรวจหาเชื้อจะพบเป็น RSV มากกว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วย โดยเฉพาะในเด็กเล็กแรกเกิด-5 ปี แสดงถึงมาตรการการป้องกันโรคทางเดินหายใจในเด็กขณะนี้ไม่ได้แตกต่างกับปีที่แล้วมากนัก อย่างไรก็ตาม การดูแลบุตรหลาน ให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ก็ยังมีความสำคัญมาก
กล่าววันที่ 27 ตุลาคม 2563 ข้อมูลอ้างอิงจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
วันนี้ทาง ทีมแม่ ABK จึงขอนำความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อ RSV กับพญ.พัชรินทร์ มีศักดิ์ กุมารแพทย์ รพ.จุฬารัตน์9แอร์พอร์ต มาฝากแม่ ๆ เพื่อจะได้รู้ถึงโรคร้ายนี้ ที่ถึงแม้ดูอาการผิวเผินเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่หากลูกเราเกิดอาการรุนแรงก็อาจอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน
ความแตกต่างระหว่างไข้หวัดและการติดเชื้อ RSV
เชื้อ RSV หรือชื่อเต็มว่า Respiratory Syncytial Virus หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Human orthopneumovirus เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจหลายโรค เช่น ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ โดยเฉพาะโรคหลอดลมฝอยอักเสบในเด็กเล็ก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในปอด หรือปอดอักเสบได้ หากเป็นการติดเชื้อในทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหัวใจและโรคปอด หรือผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ (ภูมิต้านทานโรคต่ำ) อาจมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงได้และอาจมีอันตรายถึงชีวิต
ไข้หวัดและการติดเชื้อ RSV มีความคล้ายคลึงกัน แต่ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น มีภาวะหอบหืด หรือเป็นโรคหัวใจ อาจเกิดภาวะติดเชื้ออย่างรุนแรง และเกิดภาวะระบบหายใจล้มเหลวได้
สัญญาณและอาการติดเชื้อรุนแรงที่มักพบในทารกและเด็กเล็ก ได้แก่
- มีไข้สูงขึ้นๆ ลงๆ (ประมาณ 38 องศา สำหรับเด็กอ่อนที่อายุไม่เกิน 3 เดือน)
- จามบ่อย มีน้ำมูกไหลมีน้ำมูกเหนียว สีเหลือง เขียว หรือเทา
- แน่นจมูก
- ไออย่างรุนแรงจนเหนื่อย
- ไอคล้ายเสียงหมาเห่า
- หายใจมีเสียงวี๊ด (เสียงดังที่มักจะได้ยินเวลาหายใจออก)
- หายใจเร็ว หอบ หรือหายใจลำบาก (เด็กที่มีอาการมักเลือกที่จะลุกขึ้นนั่งมากกว่านอนราบ)
- อกบุ๋ม เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกและผิวหนังของทารกจะบุ๋มลงไปอย่างเห็นได้ชัดเวลาหายใจเนื่องจากต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการหายใจแต่ละครั้ง
- ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ
- ตัวลายเขียว เนื่องจากขาดออกซิเจน
- รับประทานน้อยลง เบื่ออาหาร
- อ่อนเพลียผิดปกติ (เซื่องซึม)
- หงุดหงิดง่าย กระสับกระส่าย
- ผิวซีดเซียว
เมื่อใดควรไปพบแพทย์?
การวินิจฉัยการติดเชื้อ RSV สามารถดูได้จากอาการของผู้ป่วย เช่น มีภาวะไอ หอบ หายใจ เสียงดังวีด และหากลูกของคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีอายุน้อยกว่า 3 เดือน คลอดก่อนกำหนด มีโรคเกี่ยวกับปอด หรือหัวใจ มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ หรือมีอาการชนิดรุนแรงแม้เพียงอาการเดียวก็ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการทดสอบโดยการนำน้ำมูกหรือเสมหะไปตรวจเชื้อโดยตรง โดยทดสอบหาเชื้อไวรัส RSV (rapid RSV test) ซึ่งจะทราบผลได้ภายในเวลาประมาณ 10 นาที
การรักษา
เชื้อ RSV ยังไม่มียารักษาที่เฉพาะ จะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ได้แก่ พ่นยาเสมหะ ให้ออกซิเจน และให้สารน้ำในเลือด ซึ่งโดยทั่วไปจะหายเป็นปกติได้ภายใน 2 สัปดาห์ในกรณีที่ติดเชื้อไม่รุนแรง แต่หากติดเชื้อไวรัส RSV อย่างรุนแรง แพทย์จะให้ใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้น้ำเกลือ และดูดเสมหะให้เป็นระยะ
การป้องกัน
การป้องกันการแพร่กระจายหรือติดเชื้อ คือ การรักษาความสะอาด หากมีอาการป่วยควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจาย ควรมีการทำความสะอาดของเล่นเด็ก ข้าวของเครื่องใช้ และล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชน หมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
วัคซีน
ข้อมูลจากรพ.จุฬารัตน์9แอร์พอร์ตยังระบุอีกว่า เนื่องจากเชื้อ RSV มีหลายชนิด จึงไม่มีผลิตวัคซีนเฉพาะ แต่สามารถฉีดวัคซีน IPD เพื่อช่วยลดการติดเชื้อได้
เช่นเดียวกับเพจ Infectious ง่ายนิดเดียว ได้แนะนำ 1 ในวิธีป้องการติดเชื้อไวรัส RSV เนื่องจากอาจพบภาวะติดเชื้อร่วมกับเชื้ออื่นได้
-แนะนำฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่หรือ
-วัคซีนป้องกันโรคไอพีดี (เชื้อแบคทีเรีย Streptococcus pneumoniae)
โดยเฉพาะคนไข้กลุ่มเสี่ยงได้แก่ อายุน้อยกว่า 2 ปี มีโรคประจำตัว อ้วน ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ มีโรคปอด หอบหืด คลอดก่อนกำหนด โรคหัวใจ
วัคซีนป้องกัน IPD คืออะไร
วัคซีนไอพีดี (IPD) เป็นวัคซีนสำหรับการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Streptococcus pneumoniae ชนิดลุกลาม เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้พบได้ในช่องจมูก ช่องปากในคนทั่วไปได้ถึง 35% โดยเฉพาะในเด็กอายุ 2-3 ปี ก่อโรคได้ หากไม่รุนแรงก็มีอาการเหมือนหวัดคออักเสบทั่วไป แต่หากมันลุกลามมักลุกลามไปยัง 3 ที่หลัก ๆ ก็คือ
1. ปอด ทำให้ปอดอักเสบ
2. ติดเชื้อในกระแสเลือด
3. เยื่อหุ้มสมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ซึ่งเราจะเรียกโรคเหล่านั้นว่า ไอพีดี (invasive pneumococcal disease)
เนื่องจากในประเทศไทย วัคซีนชนิดนี้ยังค่อนข้างใหม่อยู่ จึงยังไม่ได้มีการศึกษา การตอบสนองของวัคซีนนี้ในเด็กไทย ในประเทศอเมริกามีการใช้วัคซีนนี้ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1998 โดยเด็กทุกคนจะได้รับวัคซีนป้องกัน IPD ตอนอายุ 2,4,6 และ 12-15 เดือน มีการเก็บข้อมูลผลของการให้วัคซีน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1998-2003 พบว่าอัตราการติดเชื้อแบบลุกลามลดลงเรื่อยๆ อัตราการเกิดปอดอักเสบและหูชั้นกลางอักเสบก็ลดลงด้วย นอกจากนั้น ยังพบว่าการเป็นพาหะก็ลดลงด้วย การแพร่เชื้อในชุมชนลดลง ผู้ใหญ่กลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี มีอัตราการติดเชื้อลดลงด้วย
สรุปผลของวัคซีน คือ
- ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อไอพีดี เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ช่วยลดอัตราการดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อนิวโมคอคคัส
- เชื้อทางอ้อมสู่คนกลุ่มอื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ เช่นเดียวกันช่วยลดจำนวนเชื้อพาหะในโพรงจมูก และลำคอของเด็ก ทำให้การแพร่กระจายเชื้อลดลง จึงเป็นการป้องกันการติด
มาทำความรู้จักกับวัคซีนกัน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรค IPD อยู่ 2 ชนิด คือ
- วัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ 23 สายพันธุ์ (เรียกย่อๆ PS 23) [Polysaccharide Vaccine 23 serotype ; PS23]
วัคซีนนี้ครอบคลุมเชื้อก่อโรคแบบลุกลาม (IPD) ในเด็กได้ครอบคลุม 80% ของสายพันธุ์ที่ก่อโรค แต่พบว่าวัคซีนนี้ไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคนี้ที่ไม่ได้มาทางกระแสเลือด เช่น ถ้ามีการติดเชื้อปอดอักเสบจากการสำลักเชื้อเข้าไป วัคซีนจะไม่สามารถป้องกันโรคได้ นอกจากนั้นวัคซีนนี้ต้องให้ในเด็กอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่สามารถให้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบบลุกลาม - นิวโมคอคคัส คอนจูเกต วัคซีนชนิด 7 สายพันธุ์ (เรียกย่อๆ ว่า PCV 7) [Pneumococcus conjugate Vaccine 7 serotypes ; PCV 7]
วัคซีนนี้ครอบคลุมเชื้อก่อโรคได้ 7 สายพันธุ์ คือ 4, 6B,9V,14,18C,19F และ 23F พบว่าครอบคลุมสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของโรคในเด็กไทยได้ประมาณ 70% (จากข้อมูลการเก็บตัวอย่างเชื้อจาก 4 โรงพยาบาล) วัคซีนนี้ แนะนำให้ฉีดในเด็กอายุ2,4,6 และ 12-15 เดือน (4 ครั้ง ตามการฉีดของต่างประเทศ) สำหรับเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เช่น เด็กที่ไม่มีม้าม แนะนำให้ฉีดตามด้วยวัคซีน PS23 หลังอายุ 2 ปีด้วย
ผลข้างเคียงของวัคซีนที่พบ คือ อาจมีบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ 2-3 วัน ในอนาคตอาจมีวัคซีนที่สามารครอบคลุมสายพันธุ์ก่อโรคได้มากขึ้นซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย
อย่างไรก็ดี วัคซีนเป็นเพียงการป้องกันการติดเชื้อ โดยในแต่ละเชื้อไวรัสมีสายพันธุ์มากมายหลายสายพันธุ์ วัคซีนไม่ได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ จึงไม่ได้เป็นการคุ้มครองทั้ง 100% แต่การได้รับวัคซีนมาก่อนแล้ว แม้เกิดโรคขึ้น วัคซีนก็ยังช่วยบรรเทาอาการให้น้อยลงได้ ดังนั้นจึงแนะนำในการพาลูกไปรับวัคซีนป้องกัน IPD เพราะนอกจากจะได้รับการป้องกันเชื้อ IPD แล้วลูกยังลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ RSV อีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก hd.co.th/saintlouis.or.th/รพ.จุฬารัตน์9แอร์พอร์ต/
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่