AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

5 อันดับโรคยอดฮิตของเด็กไทย

โรคยอดฮิตในเด็กไทย ที่เด็กทุกคนต้องเป็นกันสักครึ่งหนึ่งในชีวิตกว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่ มีอะไรบ้าง Amarin Baby & Kids มีข้อมูลมาฝาก 5 โรคด้วยกันค่ะ

1. โรคหวัด

หวัดมีหลายชนิดแต่พ่อแม่ไม่ต้องตกใจเพราะระบาดไปตามฤดู บางสายพันธุ์บางชนิดจะดุหน่อย เช่น เชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) ที่หลายคนค่อนข้างจะตกใจกลัวกัน แต่ที่จริงแล้วสำหรับเด็กที่มีอาการหอบหืดอยู่แล้วหรือมีพื้นฐานหลอดลมไม่แข็งแรงพอ เมื่อเป็น RSV ก็จะมีเสมหะมาก หายใจลำบาก บางครั้งจะลุกลามกลายเป็นโรคปอดบวม ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ต้องสังเกตอาการลูก

พ่อแม่หลายคนจะมีคำถามว่าเมื่อไหร่จะพามาหาหมอได้ ไข้จะต้อง 39 องศาเซลเซียสไหม หรือ 38.9 องศาเซลเซียสจะต้องมาไหม คำถามพวกนี้ไม่ได้ช่วยการดูแลคนไข้ เราก็จะบอกให้ดูอาการของลูกเป็นหลัก ใช้ความรู้สึกของความเป็นพ่อแม่ ลูกอาการผิดไปจากเดิมไหม เช่น ไข้สูง หนาวสั่น หรือไอจนอาเจียน แบบนี้ก็ต้องพามาทันที ไม่ต้องรอดูอาการถึง 3 วัน

ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนหลายคนคงสงสัยว่าฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วแต่ทำไมยังเป็นหวัดอยู่ นั่นเป็นเพราะว่าเชื้อหวัดมีหลายชนิด การฉีดวัคซีนในทางการแพทย์สามารถลดอัตราเสี่ยงได้ 60-70% ก็ถือว่าป้องกันได้ดีเยี่ยมแล้ว แต่ถ้าต้องการผลลัพธ์ถึง 100% อาจเป็นไปไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม “โรคหวัด“ โรคฮิตติดชาร์ตทุกฤดู

2. โรคท้องเสีย

โรคที่นอกจากจะเกี่ยวพันกับเรื่องของสุขอนามัยแล้ว ยังมีไวรัสบางตัวที่แพร่กระจายตามฤดูกาลอย่างโนโรไวรัสและโรต้าไวรัสด้วย ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับโรต้าไวรัสแล้ว ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยได้พอสมควร แต่วัคซีนสำหรับโนโรไวรัสยังไม่มี ทั้งนี้ถ้าลูกมีอาการท้องเสียอย่างหนัก ในเบื้องต้นต้องเช็กเสียก่อนว่ามีอาเจียนร่วมด้วยหรือท้องเสียเพียงอย่างเดียว จากนั้นมาดูกันต่อว่าลูกมีอาการอย่างไรบ้าง ถ้ายังเล่นได้ร่าเริงกินได้เป็นปกติมีถ่ายเหลวๆบ้างแบบนี้ไม่น่าห่วง รอดูอาการไปก่อนแล้วปรับเปลี่ยนให้ดื่มนมหรือน้ำผลไม้น้อยลงแล้วให้กินอาหารที่ย่อยง่ายปรุงสุกสะอาดอย่างข้าวต้ม หรือใช้เกลือซองโออาร์เอสเข้ามาเสริมน้ำที่ลูกเสียไป ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งเด็กเล็กและเด็กโตด้วยการชง 1 ซองผสมน้ำเปล่า 5 ออนซ์ ไม่ควรให้ดื่มน้ำเปล่าอย่างเดียว อาการอาจแย่ลงกว่าเดิมได้

แต่ถ้าเราหาเกลือโออาร์เอสไม่ได้ ลองใช้น้ำมะพร้าวอ่อนแทน หรือเครื่องดื่มเช่น สไปรท์ เพราะเวลาที่เราอาเจียนหรือท้องเสียถ่ายเหลวเป็นน้ำร่างกายจะสูญเสียทั้งเกลือแร่และพลังงานเราจึงควรให้น้ำตาลและเกลือควบคู่กันเพื่อช่วยการดูดซึมของน้ำที่สูญเสียระดับโซเดียมของเกลือไปเยอะ

อ่านต่อ “5 โรคยอดฮิตของเด็กไทย” คลิกหน้า 2

3. โรคไข้เลือดออก

ปีนี้ไข้เลือดออกค่อนข้างรุนแรง มีคนเสียชีวิตมากมายเพียงแต่ไม่เป็นข่าว แต่ไม่ได้หมายความว่าไข้เลือดออกเกิดการกลายพันธุ์ ไข้เลือดออกยังคงเป็นสายพันธุ์เดิมเพียงแต่คนไข้มีโอกาสช็อคได้ง่าย หลังจากช็อคก็ทำได้เพียงรักษาอวัยวะส่วนต่างๆ ที่เสียไปจากอาการช็อคเท่านั้น ซึ่งอาการช็อคก็เหมือนแผ่นดินไหวซึ่งมักจะมาโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว การเฝ้าระวังไม่ให้ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเกิดอาการช็อคจึงมีความสำคัญมากทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม สถานการณ์ไข้เลือดออก โรคภัยที่มากับหน้าฝน

ลูกเคยป่วย จะป่วยซ้ำรุนแรงหรือได้ภูมิเพิ่ม?

หลายคนมีข้อสงสัยว่าหากลูกเคยป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้วจะกลับมาเป็นใหม่รุนแรง หรือจะได้ภูมิต้านทานเพิ่ม ข้อสงสัยนี้มีส่วนที่ถูกแต่ไม่ทั้งหมด ยกตัวอย่างไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสเดงกี่ซึ่งมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ หากเป็นแล้ว 1 สายพันธุ์ก็จะมีภูมิต้านทานสายพันธุ์นั้นสูงขึ้นในระดับหนึ่ง และภูมินั้นจะยังคงอยู่ต่อไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นจึงค่อยๆ ลดต่ำลงไป หากเคยเป็นไข้เลือดออกเดงกี่สายพันธุ์ที่ 1 ต่อมาติดเชื้อสายพันธุ์ที่ 3 ภูมิต้านทานจากสายพันธุ์ที่ 1 อาจช่วยป้องกันเชื้อจากสายพันธุ์ที่ 3 ได้บ้างแต่ว่าไม่ได้ทั้งหมดจึงทำให้ป่วยได้

จากกรณีที่มีข่าวออกมาว่าหากเป็นไข้เลือดออกหนที่สองจะทำให้มีอาการรุนแรงได้จนเป็นที่ตื่นตระหนก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในทางการแพทย์เราเรียกการป่วยครั้งแรกว่า ไพรมารี่ (Primary) คือเป็นครั้งแรกจริงๆ ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน แต่พอหลังจากนั้นไม่ว่าจะป่วยมากี่ครั้งเราจะเรียกว่าเป็นหนที่สองหรือ เซคเคินดารี่ (Secondary) ทั้งหมด ส่วนเรื่องความรุนแรงของโรคอยากให้มองในเรื่องของสิ่งมีชีวิต (Biology) เปรียบเทียบง่ายๆสมมตินักท่องเที่ยวคนหนึ่งไปถ่ายรูปกับงูที่สวนสัตว์ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าเชื่อง มีคนต่อคิวถ่ายรูปมากมาย แต่เมื่อถึงคิวตัวเองกลับถูกงูกัด เชื้อโรคก็เช่นกัน วันดีคืนดีมันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเราไม่ทางรู้ได้เลย ทั้งๆที่เราเจอเชื้อโรคอยู่ทุกวัน

4. โรคอ้วน

โรคนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ แต่ส่วนมากเกิดจากค่านิยมผิดๆ ที่ว่าเด็กกินได้ยิ่งเยอะยิ่งดี พยายามผลักดันลูกตลอดเวลา กินแค่นี้ไม่พอ ต้องกินให้เยอะกว่านี้ เด็กก็พยายามกินเข้าไปจนอ้วกออกมา แต่จะกินแบบไหนถึงเรียกว่าพอดี ในทางการแพทย์จึงได้มีตารางการเจริญเติบโตของเด็กออกมา นอกจากนี้เด็กในยุคปัจจุบันไม่ค่อยออกกำลังกาย ทำไม่นานก็เบื่อ ซึ่งตรงนี้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองต้องพาเด็กมาเล่นกิจกรรมกลางแจ้งกันให้มากๆอย่างจริงจังไม่ใช่แค่แป๊บเดียวก็เลิกเล่น

5. โรคติดโซเชียลติดเกม

โรคนี้มากับเทคโนโลยีในยุค 4G เด็กขาดมนุษยสัมพันธ์และมารยาทต่างๆ ไป เหล่านี้ไม่ได้หยุดแค่เพียงเด็กออทิสติกอย่างเดียว การที่เด็กออทิสติกเขาไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นเพราะสมองเขาเป็นอย่างนั้นซึ่งยังสามารถฝึกทำอะไรได้ แต่เด็กปัจจุบันพอถูกล็อคด้วยไอแพดก็อยู่แต่กับตัวเองไม่สนใจคนรอบข้าง

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

เรื่อง : กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

ภาพ : Shutterstock