AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

วิธีดูแลลูกน้อย ให้ห่างไกลจากผื่นผ้าอ้อม

วิธีดูแล ผื่นผ้าอ้อม

ผื่นผ้าอ้อม …คือผื่นที่เกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับผ้าอ้อม ไม่ว่าผ้าอ้อมนั้นจะเป็นผ้าอ้อมแบบผ้าหรือผ้าอ้อมที่ใช้แล้วทิ้งก็ตาม โดยผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับผ้าอ้อมจะเกิดเป็นผื่นแดงซึ่งต่อมาอาจจะมีอาการแดง ลามเป็นมากขึ้นจนผิวหนังอักเสบ เปื่อยเป็นแผลและติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราได้

♦ สาเหตุที่ทำให้เป็นผื่นผ้าอ้อม

ผื่นผ้าอ้อม ไม่ได้เกิดจากตัวผ้าอ้อมโดยตรงเพราะจากการวิจัยพบว่าผื่นผ้าอ้อมนั้นเกิดได้ทั้งในทารกที่ใช้ผ้าอ้อมชนิดผ้าที่ใช้แล้วสามารถซักแล้วนำกลับมาใช้ใหม่หรือผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่เกิดเนื่องจากผลของการใช้ผ้าอ้อม เช่น ความร้อน อบ อับ เปียกชื้น เหงื่อที่ผิวหนังและปัสสาวะและอุจจาระที่ติดอยู่ที่ผ้าอ้อม  เนื่องจากผิวหนังที่เปียกชื้นตลอดเวลาจะทำให้ผิวหนังโดยเฉพาะผิวหนังของทารกและเด็กเล็กซึ่งบาง อ่อนนุ่ม เกิดการระคายเคือง เปื่อยเป็นแผลและติดเชื้อจนเกิดการอักเสบได้ง่ายกว่าเด็กโต การปล่อยให้ทารกและเด็กแช่อยู่ในผ้าอ้อมเปื้อนปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเวลานานเกินไป แบคทีเรียในอุจจาระจะไปย่อยสารสารยูเรียในปัสสาวะสลายตัวเป็นแอมโมเนียซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังและทำให้ผิวหนังมีความเป็นด่างแล้วไปกระตุ้นให้เอ็นไซม์ที่ช่วยย่อยโปรตีน และไขมัน ที่มีอยู่ในอุจจาระทำงาน ซึ่งจะยิ่งทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นระคายเคืองจากกรดน้ำดีมากขึ้น ผิวหนังจึงเกิดผื่นแดงเป็นผื่นผ้าอ้อม

โดยสรุป … ผื่นผ้าอ้อม เกิดจากการที่ผิวหนังเปียกชื้นและสัมผัสกับปัสสาวะและอุจจาระเป็นเวลานานๆ จนทำให้ผิวหนังมีความเป็นด่าง และเกิดการระคายเคืองจนผิวหนังเป็นผื่นแดง เปื่อยเป็นแผลและอาจติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราซ้ำเติม ทั้งนี้ทารกที่กินนมผงจะมีอุจจาระเป็นด่าง ทำให้มีโอกาสเกิดผื่นได้ง่ายกว่าทารกที่กินนมแม่ซึ่งมีอุจจาระเป็นกรดช่วยทำให้เอ็นไซม์ต่างๆ เช่น โปรตีน และไขมัน และกรดน้ำดี ที่มีในอุจจาระทำงานน้อยลง จึงมีโอกาสเป็นผื่นผ้าอ้อมน้อยกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ตามทารกที่กินนมแม่ก็ยังสามารถเป็นผื่นผ้าอ้อมได้ ถ้าหากมีการใช้ผ้าอ้อมและดูแลผิวหนังบริเวณนั้นอย่างไม่ถูกต้อง

ผื่นผ้าอ้อม

เมื่อลูกเป็น ผื่นผ้าอ้อม

♠ อาการ ผื่นผ้าอ้อม

ผื่นผ้าอ้อม มักเกิดบริเวณขาอ่อนด้านในโดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงซอกเนื้อ ข้อพับ ขาหนีบ บางคนอาจเกิดผื่นขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศและอาจมีผื่นขึ้นเกือบรอบบริเวณที่สัมผัสกับผ้าอ้อม ลักษณะผื่นผ้าอ้อมจะเป็นผื่นแดงๆและแฉะ บางคนอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นจนผิวหนังเปื่อยเป็นแผลมีน้ำเหลืองเยิ้ม และถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียจะทำให้ผิวหนังอักเสบเป็นหนองได้ แต่ถ้ามีการติดเชื้อราลักษณะของผื่นจะมีทั้ง แบบผื่นแดง  ปื้นแดงโดยจะมีสีแดงชมพูและเห็นขอบผื่นชัดเจน หรือผื่นมีหนังลอกออกเป็นแผ่นๆ และลักษณะทีบ่งชี้ว่าเป็นการติดเชื้อราคือมักพบผื่นเล็กๆ ที่กระจายออกไป เหมือนมีการลามของผื่นออกไปเป็นวงๆ เรียกว่ามี Satellite lesion รอยผื่นแดงเล็กบางที่อาจรวมตัวกันเป็นผื่นที่ใหญ่ขึ้นเป็นผื่นเดียว

ปัจจัยเสี่ยงให้เกิด ผื่นผ้าอ้อม?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดผื่นผ้าอ้อม คือ เด็กที่มีประวัติเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) จะมีโอกาสเป็นมากขึ้น รวมถึงการที่เด็กมีอาการท้องเสีย อาจเพิ่มโอกาสการเป็นผื่นผ้าอ้อมได้

ผื่นผ้าอ้อมก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากผื่นผ้าอ้อม คือ สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อราหรือแบคทีเรีย แทรกซ้อนได้ ซึ่งโดยทั่วไป ผื่นผ้าอ้อมไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ถ้ามีการติดเชื้อรา หรือ ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อดังกล่าวอาจแพร่ไปยังผิวหนังส่วนอื่นของร่างกายผู้ป่วย ก่อให้เกิดผิวหนังอักเสบติดเชื้อ เช่นที่ ขา มือ ลำตัว หรือเชื้อติดต่อไปยังผิวหนังบุคคลอื่นที่สัมผัสกับผื่นผ้าอ้อมที่ติดเชื้อได้

ทั้งนี้อาการของผื่นผ้าอ้อมต่างๆจะดีขึ้นและหายได้ เมื่อกำจัดปัจจัยต่างๆที่ทำให้เกิดความอับชื้นซึ่งถ้าปล่อยให้หมักหมมเป็นเวลานาน จะเกิดผื่นแพ้ อักเสบ เป็นแผล และติดเชื้อได้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องหาวิธีปกป้องผิวก้นของลูกน้อยอย่างเป็นพิเศษเสมอ

อ่านต่อ >> “วิธีดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลจากผื่นผ้าอ้อม” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

√ วิธีดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลจากผื่นผ้าอ้อม

การดูแลผิวบอบบางบริเวณก้น ง่ามขา และรอบอวัยวะเป็นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทารกตั้งแต่แรกเกิด – 1 ขวบ ถ้าปล่อยให้อับชื้น หมักหมมเป็นเวลานาน จะเกิดผื่นแพ้ อักเสบ เป็นแผล และติดเชื้อได้ ทำให้ลูกน้อยเจ็บและร้องทรมานตลอดทั้งวัน จึงต้องปกป้องผิวเป็นพิเศษ ดังนี้

1. เลือกผ้าอ้อมที่เหมาะกับลูก ทั้งแบบสำเร็จรูป และแบบผ้า ถ้าลูกใส่แล้วไม่แพ้ เหมาะกับผิวลูก ลองให้ลูกใส่ผ้าอ้อมเพื่อดูความระคายเคือง ว่าร้อง มีผดผื่น เลือกผ้าอ้อมที่ได้มาตรฐานรับรอง น่าเชื่อถือ

2. สวมผ้าอ้อมพอกระชับ ไม่ควรใส่แน่นเกินไป เลือกผ้าอ้อมที่หลวมกว่าเอวลูกเล็กน้อย ให้มีพื้นที่ระบายอากาศ และทำให้ไม่อึดอัด สังเกตได้เมื่อปลดออกไม่มีรอยแดงที่ผิวหนัง เมื่อลูกถ่ายจะต้องซึมซับได้ง่าย

3. เปลี่ยนผ้าอ้อมให้เป็นเวลา โดยลูกวัย 1 – 6 เดือน ควรตรวจทุกชั่วโมง เพราะวัยนี้ถ่ายบ่อย ไม่ปล่อยให้ก้นลูกเปียกชื้น หมกอยู่กับผ้าอ้อมนานเกินไป และทุกครั้งที่เปลี่ยนผ้าอ้อม ควรล้างทำความสะอาดด้วย

4. ให้ก้นลูกสัมผัสอากาศบ้าง ด้วยการไม่นุ่งผ้าอ้อม หรือมีอะไรคลุมทับ โดยเฉพาะหลังอาบน้ำ หรือหลังทำความสะอาดก้น ปล่อยให้โล่งสบายสักพัก ลดอาการอักเสบระคายเคือง แต่ต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม

5. ทำความสะอาดอวัยวะเพศของน้องทุกครั้งที่เปลี่ยนผ้าอ้อม โดยใช้ผ้าแตะซับผิวของน้องเบา ๆ ให้แห้ง ระวังอย่าใช้ผ้าถู เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้ค่ะ

Must readทำความสะอาดอวัยวะเพศของ “ลูกสาว”
Must readทำความสะอาดอวัยวะเพศของ “ลูกชาย”

6. เมื่อน้องเริ่มกินอาหารแข็ง ๆ ได้บ้างแล้ว แนะนำให้คุณแม่ค่อย ๆ ให้เขาหัดกินไปทีละอย่างนะคะ รอสักสองสามวันค่อยให้น้องกินอาหารชนิดใหม่ วิธีนี้จะช่วยให้คุณแม่รู้ว่าผื่นผ้าอ้อมเป็นผลมาจากการแพ้อาหารชนิดนั้น ๆ หรือไม่ค่ะ

7. ไม่ควรซักผ้าอ้อมด้วยผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่ผสมน้ำหอม และไม่ควรใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มนะคะ เพราะทั้งสองอย่างนี้อาจทำให้ผิวของลูกน้อยระคายเคืองได้ ควรใช้น้ำร้อนซักทำความสะอาดผ้าอ้อมแล้วล้างด้วยน้ำเปล่าสองครั้ง หรือคุณแม่จะเติมน้ำส้มสายชูสักครึ่งถ้วยลงในน้ำล้างน้ำแรกก็ได้ค่ะ เพื่อช่วยขจัดสารที่มีฤทธิ์เป็นด่างซึ่งก่อให้การระคายเคือง

อ่านต่อ >> “วิธีดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลจากผื่นผ้าอ้อม” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

8. พยายามหยุดการใช้ผ้าอ้อมหรือใส่ผ้าอ้อมให้น้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้แม้จะอยู่ในห้องแอร์ และเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกบ่อยๆ (อย่างน้อยทุกๆ 2-3 ชั่วโมงหรือทุกครั้งที่ลูกถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ) เพื่อช่วยให้ผิวหนังของลูกได้สัมผัสอากาศมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผิวลูกจะได้แห้ง ไม่เปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้าลูกเป็นผื่นผ้าอ้อม จะต้องลดเวลาการใส่ผ้าอ้อมลงไปอีกเรื่อยๆและดูแลผิวลูกให้ถูกต้องและดีขึ้นอีกจนกระทั่งลูกไม่มีปัญหาผื่นผ้าอ้อมอีก

9. การให้ทารกกินนมแม่ให้นานที่สุดอาจช่วยได้ เพราะว่านมแม่จะช่วยลดค่า ph ในอุจจาระได้ ทำให้มีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้โดยทั่วไปแล้ว การให้น้อง กินนมแม่ยังช่วยกระตุ้นให้เขามีภูมิคุ้มกันต้านทานการติดเชื้อ ทำให้ทารกมีโอกาสใช้ยาปฏิชีวนะ น้อยลง ซึ่งยาปฏิชีวนะนี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้องเป็นผื่นผ้าอ้อมได้ด้วยค่ะ

10. ควรใช้ผ้าอ้อมชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งที่มีเจลหรือผ้าใย ที่ช่วยดูดซึมความเปียกชื้นจากผิวหนัง จะช่วยให้ผิวหนังแห้งและมีโอกาสเป็นผื่นผ้าอ้อม เมื่อลูกปัสสาวะหรืออุจจาระควรถอดเปลี่ยนผ้าอ้อม แล้วทำความสะอาดผิวหนังส่วนที่อยู่ในผ้าอ้อมเบาๆ ด้วยน้ำเปล่า หรือสบู่ไร้ด่าง

11. หลังทำความสะอาดผิวหนังบริเวณผ้าอ้อมของลูก ควรเช็ดให้แห้ง ปล่อยให้ผิวหนังลูกสัมผัสกับอากาศก่อนแล้วจึงทาด้วยครีมหรือ Ointment ที่มีZinc Oxide หรือ Petrolatum (วาสลีน) หรือ dimethiconeเพื่อเคลือบปกป้องผิวไม่ให้เกิดการระคายเคือง

12.ไม่ควรทาแป้ง บริเวณขาหนีบและอวัยวะเพศของลูกเพราะแป้งจะจับกับเหงื่อที่ออกในบริเวณนั้นกลายเป็นคราบหรือก้อนแป้งชื้นๆแฉะๆ ทำให้ผิวชื้นแฉะตลอดเวลา และสามารถเกิดอาการระคายเคืองและเป็นผื่นผ้าอ้อมง่ายขึ้น

13.ควรพาลูกไปพบแพทย์ หากดูแลรักษาตามวิธีข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือเมื่อสงสัยว่าลูกอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นตุ่มหนอง หรือ เป็นผื่นเนื่องจากเชื้อรา

นอกจากการดูแลผิวของลูกน้อยโดยตรงแล้ว พฤติกรรมและสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่ก็ยังมีผลกระทบต่อการเป็นผื่นผ้าอ้อมของลูกน้อยในทางอ้อมได้อีกด้วย เช่น หากคุณแม่รับประทานอาหารที่ไม่สะอาด หรือรับประทานยาปฏิชีวนะบ่อยครั้งเพราะสุขภาพไม่ค่อยดีในระหว่างช่วงให้น้ำนมลูก ก็อาจส่งผลให้ลูกน้อยมีอาการท้องเสียได้ง่ายและต้องขับถ่ายบ่อยเป็นพิเศษ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคผื่นผ้าอ้อมของลูกน้อยได้โดยทางอ้อม ดังนั้นการดูแลผิวอันบอบบางของลูกน้อยจะต้องอาศัยความเอาใจใส่ที่รอบด้าน ทั้งด้านสุขอนามัยของร่างกายลูกน้อยเอง และด้านสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่รอบตัว

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!