กินผักดิบต้องระวัง! พยาธิตืดหมู ไชยั้วเยี้ยเต็มร่างกาย - Amarin Baby & Kids
พยาธิตืดหมู

เตือนภัย! กินผักสด หมูดิบ ต้องระวัง พยาธิตืดหมู ไชยั้วเยี้ยเต็มร่างกาย

event
พยาธิตืดหมู
พยาธิตืดหมู

เรื่องของกินคือเรื่องอร่อยของทุกคน แต่สำหรับคนชอบกินผักสด หมูดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบควรต้องระวัง หลังพบว่าโรค พยาธิตืดหมู ส่งผลต่อร่างกายเกินกว่าที่จะคิดได้!

เตือนภัย! กินผักสด หมูดิบต้องระวัง พยาธิตืดหมู ไชยั้วเยี้ยเต็มร่างกาย

ปลุกกระแสให้ทุกคนหันมาใส่ใจเรื่องโภชนาการกับการบริโภคอาหารแบบปรุงสุก หลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบ ๆ หรือการรับประทานผักสดที่จำเป็นต้องล้างให้สะอาดก่อนกิน เมื่อมีเรื่องราวเตือนภัยของผู้ป่วยอายุ 18 ปี ไปโรงพยาบาลด้วยอาการปวดศีรษะ อาเจียน ชัก และประสาทสัมผัสที่เปลี่ยนแปลง โดยจากการตรวจเริ่มแรกพบหนังตาขวาบวม ผู้ป่วยมีอาการชัก ตามด้วยกล้ามเนื้อตึง เกร็ง และหมดสติ ก่อนหน้านั้น 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยมีอาการเจ็บที่บริเวณขาหนีบนำมาก่อน ตามด้วยเจ็บที่อัณฑะขวา ผลการตรวจด้วย MRI พบซีสต์จำนวนมากในเนื้อเยื่อสมอง ศีรษะ กล้ามเนื้อ คอ ผนังหน้าอก ผนังหน้าท้อง กล้ามเนื้อข้างกระดูกสันหลัง สะโพก กระดูกเชิงกราน และกล้ามเนื้อแขนขา และยังพบซีสต์ในตาและอัณฑะ ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น “พยาธิตืดหมู” การได้รับเชื้อนี้ เกิดจากการกินไข่พยาธิที่ปนเปื้อนในผัก ผลไม้ น้ำ หรือดินที่ติดมากับมือแล้วไม่สะอาด

พยาธิตืดหมูในคน

ภาพจากเพจ PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ระบุว่า จุด ๆ สีขาวนั้นคือซีสต์พยาธิตืดหมูกระจายเต็มตัวไปหมด ซึ่งเป็นระยะตัวอ่อน cysticercus ของพยาธิตืดหมู

โรคพยาธิตืดหมู คืออะไร?

พยาธิตืดหมู หรือตัวตืดหมู คือปรสิตชนิดหนึ่งที่เป็นพยาธิของคน เกิดจากพยาธิตืดหมูชื่อที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Taenia solium  เป็นพยาธิตัวแบนซึ่งเป็นกระเทย เนื่องจากมีอวัยวะเพศผู้และเพศเมียอยู่ในปล้องเดียวกัน พยาธิตืดตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้เล็กได้หลายปี มีความยาวประมาณ 2 ถึง 7 เมตร ลักษณะลำตัวมี สีขาวขุ่น เป็นปล้องแบน แต่ละปล้องจะมีไข่ประมาณ 30,000- 50,000 ฟอง ซึ่งอยู่ส่วนปลายจะหลุดออกจากตัวเต็มวัย และเคลื่อนที่ได้ จึงอาจคืบคลานออกมาทางรูทวารได้เอง หรือปล้องสุกอาจจะแตกก่อนที่บริเวณลำไส้ใหญ่ และปล่อยไข่ปะปนออกมากับอุจจาระของคน และกระจายอยู่ในธรรมชาติ รอเวลาเข้าสู่คนหรือหมูเป็นวงจรต่อไป

พยาธิตืดหมูสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งคนและหมู หมูและคนเมื่อได้รับไข่พยาธิจะทำให้เกิดการติดเชื้อ แบ่งเป็น พยาธิตืดหมูอาศัยอยู่ในลำไส้ ซึ่งในกรณีนี้คนทำหน้าที่เป็นโฮสต์สุดท้ายหรือโฮสต์จำเพาะ โดยตัวอ่อนจะฝังตัวตามอวัยวะต่าง ๆ คนจะได้รับเชื้อนี้โดยการรับประทานไข่พยาธิ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งปนเปื้อนอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาดหรือที่ออกมากับอุจจาระ และพยาธิตัวอ่อนในถุงน้ำ หรือที่เรียกว่า ซีสต์เม็ดสาคู เข้าไปฝังตัวในเนื้อเยื่อของคน เรียกว่า โรคซีสติเซอร์โคซิส (Cysticercosis) ในกรณีนี้คนทำหน้าที่เป็นโฮสต์ตัวกลาง โรคดังกล่าวพบได้ทั่วโลก โดยพบได้บ่อยในประเทศด้อยพัฒนาและในประเทศที่กำลังพัฒนา รวมถึงทุกแหล่งที่มีการสาธารณสุขที่ไม่ดี ทั้งนี้ทั่วโลกพบการติดเชื้อโรคนี้ได้ประมาณ 50-100 ล้านคน การติดเชื้อนี้พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและในผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคใกล้เคียงกัน

ซีสต์ตืดหมู

ภาพนี้เป็นซีสต์ตัวอ่อนพยาธิตืดหมู Taenia solium ตีพิมพ์โดย Beda John Mwang’onde (2019) ในหมูอายุ 8 เดือน มีระยะติดต่อ cysticercus เต็มไปหมดที่กล้ามเนื้อหัวใจ (a) สมอง (b) และกล้ามเนื้อท้อง (c) เคสนี้กระจายไปหมด ถือว่ารุนแรงมาก จากเพจ PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

พยาธิตืดหมูเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?

  • ติดต่อผ่านทางอาหารและการปนเปื้อนในอาหาร เมื่อคนรับประทานอาหารที่ประกอบจากเนื้อหมูที่มีตัวอ่อนของพยาธิที่อยู่ในกล้ามเนื้อของหมู ซึ่งนำมาทำเป็นอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ รับประทาน เช่น ลาบ ลู่ น้ำตก หมู แหนม เป็นต้น
  • จากการดื่มน้ำที่ไม่สะอาดและการรับประทานอาหารที่มีไข่ของพยาธิ เช่น ผักสด ผลไม้สด ที่ล้างไม่สะอาด หรือที่ผลิตผลอยู่บนดินหรือมีหัวอยู่ในดิน เช่น สตรอเบอรี่ แครอท หัวไชเท้า รวมทั้งพืชผักที่ใช้อุจจาระของคน หรือสัตว์เป็นปุ๋ย เป็นต้น
  • จากการที่ขย้อนปล้องสุกเข้าสู่กระเพาะ ทำให้เหมือนกินไข่พยาธิเข้าไปกับอาหาร
  • จากการที่ผู้ป่วยมีพยาธิตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้อยู่แล้ว และใช้มือล้างหรือเกาบริเวณทวารหนักโดยไม่ทำความสะอาดมือ ไข่พยาธิที่มาติดอยู่บริเวณนั้นติดนิ้วมือไป เมื่อนำมือมาจับอาหารเข้าปากหรืออมนิ้ว ไข่พยาธิก็จะเข้าปากเกิดการติดเชื้อได้

Taenia solium

 อันตรายจากพยาธิตืดหมู

เมื่อคนกินไข่ของพยาธิตืดหมูที่ปนเปื้อนในอาหาร ผักสด ผลไม้ หรือน้ำที่ไม่สะอาดเข้าไปเข้าไป ไข่พยาธิก็จะโตเป็นระยะตัวอ่อนเม็ดสาคูในร่างกายคน หรือเกิดการขย้อนปล้องสุกของพยาธิตืดหมูที่อยู่ในลำไส้กลับขึ้นไปในกระเพาะอาหาร จะทำให้พยาธิตัวอ่อนในไข่ฟักตัวออกมาแล้วไชทะลุผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด ไปเติบโตเป็นถุงน้ำ ตัวตืด ลักษณะแบบเดียวกับเม็ดสาคูในเนื้อหมู โดยกระจายไปอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น สมอง ตา หัวใจ ตับปอด เนื้อเยื่ออื่น ๆ และกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย หรือบางครั้งอาจคลำเป็นเม็ด ๆ ใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการรุนแรง ภาวะที่มีตัวอ่อนเม็ดสาคูในร่างกาย เรียกว่า ซิสติเซอร์โคซิส (cysticercosis) อาจก่อให้เกิดพยาธิสภาพที่รุนแรงได้ ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ตัวอ่อนไปฝังตัวอยู่ เมื่ออยู่ในอวัยวะที่สำคัญ ๆ เช่น ในสมองและไขสันหลัง (neurocysticercosis) บางทีรุนแรงอาจถึงเสียชีวิตได้ หรือตาบอดเมื่ออยู่ในตา (ocular cysticercosis)

อาการเมื่อมีพยาธิตืดหมูในร่างกาย

  • รู้สึกกินเก่งขึ้น เนื่องจากมีพยาธิตัวเต็มวัยในลำไส้คอยแย่งอาหาร
  • หิวบ่อย แต่น้ำหนักลด ร่างกายผอมลง
  • มีอาการปวดท้อง ท้องอืด
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อุจจาระบ่อย เนื่องจากมีการระคายเคืองต่อลำไส้
  • อุจจาระออกมาพร้อมปล้องสุกของพยาธิ เป็นเส้นยาว ๆ แบน ๆ สีขาวอมเหลือง
  • มีภาวะซีด
  • อาจเกิดเป็นซีสต์ ซึ่งอาการจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งของซีสต์ เช่น ซีสต์อยู่ที่ตาก็จะปวดตา ตาพร่ามัว แต่หากเกิดซีสต์ที่เนื้อเยื่อสมอง อาจไม่มีอาการหรือมีอาการ เช่น ปวดศีรษะ ชัก มือเท้าชา วิงเวียนศีรษะ เป็นลม หรืออาจจะมีอาการปวดศีรษะเนื่องจาก ซีสต์ไปอุดทางเดินน้ำไขสันหลังทำให้ความดันในสมองสูง ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด เรียกว่า โรคนิวโรซีสติเซอร์โคซีส (Neurocysticercosis) ถ้าผู้ป่วยเป็นมากอาจเสียชีวิตได้

หากรู้สึกมีอาการดังกล่าวควรพบแพทย์โดยทันที ในกรณีนี้ถ้าสังเกตเห็นพยาธิออกมาก็สามารถนำมาให้แพทย์ตรวจดูด้วย

การป้องกันไม่ให้เกิดโรคพยาธิตืดหมู

1.หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อหมูหรืออาหารแบบสุก ๆ ดิบ ๆ

2.สังเกตลักษณะของเนื้อหมูที่ซื้อมา หากพบว่ามีตุ่มขาวเหมือนเม็ดสาคูเม็ดใหญ่ในเนื้อหมูไม่ควรรับประทานอย่างยิ่ง

โรคพยาธิตืดหมู

3.ล้างผักผลไม้สดที่ซื้อให้สะอาดก่อนรับประทานเสมอ เพราะในผักผลไม้สดอาจมีไข่พยาธิตัวตืดปะปนมาได้ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีลักษณะของหัวที่อยู่ใต้ดิน

4.ล้างมือให้สะอาดหลังเข้าห้องน้ำ ฟอกสบู่หลังจากถ่ายอุจจาระทุกครั้ง เพื่อกำจัดไข่พยาธิที่อาจติดมือไปแพร่ให้ตนเอง และผู้อื่นทางการปนเปื้อนอาหารได้

5.ล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ควรใช้ช้อนตักอาหารเข้าปาก หลีกเลี่ยงการใช้มือจับอาหารเข้าปาก และควรสอนลูกไม่ให้ติดนิสัยดูดนิ้วอมนิ้ว

6.การเตรียมอาหารหรือประกอบอาหารควรล้างมือ ฟอกสบู่ ก่อนทำอาหารทุกครั้ง เพื่อป้องกันไข่พยาธิปะปนลงไปในอาหาร

7.ถ่ายอุจจาระในห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ถ่ายอุจจาระลงแม่น้ำลำคลองหรือบนพื้นดิน และไม่ใช้อุจจาระคนเป็นปุ๋ยรดต้นผักเพราะเป็นการทำให้ไข่พยาธิอยู่ในดินและหมูมากินเข้าไป กลายเป็นวงจรเกิดพยาธิตืดหมูได้

8.ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก

คุณพ่อคุณแม่อาจจะเห็นได้ว่า การเกิดพยาธิตืดหมูดูเหมือนเป็นโรคที่ไกลตัวแต่จริง ๆ แล้วอาจเกิดขึ้นใกล้ตัวต่อคนในครอบครัวได้ ดังนั้นการดูแลสุขอนามัยและโภชนาการที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงการฝึกนิสัยให้ทุกคนได้ล้างมือบ่อย ๆ กินร้อน และใช้ช้อนกลาง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะมีส่วนช่วยให้ห่างไกลจากโรคต่าง ๆ ได้นะคะ

ขอบคุณภาพจาก : PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.eent.co.thwww.siamhealth.netwww.mittraparphosp.com

อ่านต่อบทความดี ๆ น่าสนใจ คลิก!

เตือนภัย! ยาชุดแก้ปวดเมื่อย ไม่ช่วยให้หาย…แถมเสี่ยงตายไม่รู้ตัว

แม่เตือนภัย…ระวัง กิ้งกือมีพิษ ปล่อยสารโดนลูกน้อยเกือบตาบอด

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up