AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

โรคคาวาซากิ อาการ ที่ต้องระวัง อันตรายจากภาวะแทรกซ้อนถึงชีวิต

โรคคาวาซากิ อาการ

อุทาหรณ์ลูกเป็น โรคคาวาซากิ อาการ ออกไม่ครบ กว่าหมอจะตรวจเจอ ลูกก็ป่วยนานกว่า 10 วันแล้ว

โรคคาวาซากิ อาการ ที่ต้องระวัง

เรื่องเล่าจากหัวอกคนเป็นแม่ ที่ต้องทนเห็นลูกวัย 1 ขวบ 2 เดือน ต้องเจ็บป่วยอย่างทรมาน แต่อาการของโรคออกไม่ครบ ทำให้กว่าจะตรวจเจอต้องใช้เวลานาน 11 วัน จึงอยากบอกต่อเรื่องนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ท่านอื่น ๆ ได้สังเกตอาการลูกอย่างใกล้ชิด หากสนใจว่าเป็นโรคร้ายอันตรายอย่าง โรคคาวาซากิ ควรรีบพาลูกไปตรวจอย่างละเอียด

คุณแม่เล่าว่า ลูกเป็นคนกินเก่ง สดใส ร่าเริง ไม่ค่อยเจ็บป่วย ลูกเคยเป็นหวัดแค่ 1 ครั้ง 3 วันก็หาย จนวันหนึ่งลูกเริ่มตัวรุม ๆ มีไข้ต่ำ ๆ ก็ให้ยาลดไข้ที่หมอเคยให้ไว้ ต่อมาเริ่มมีไข้สูงในตอนกลางคืน 38.5 องศาเซลเซียส แต่ตอนกลางวันไข้ 37 องศาเซลเซียส จึงเช็ดตัวให้ลูกทุกวัน

แม่รอดูอาการอย่างใกล้ชิดจน 3 วัน อาการไข้ไม่ลงเสียที ลูกเคยฉีดวัคซีน BCG ตรงหัวไหล่ ก็เริ่มพบตุ่มแดง ๆ ขึ้นเป็นจุด ๆ และขนาดของจุดเริ่มขยายจากขนาดเหรียญ 1 บาท เป็นเหรียญ 10 บาท จึงพาลูกไปแผนกฉุนเฉินในวันต่อไป ต้องเจาะเลือดถึง 2 ครั้ง เพราะเลือดข้นหนืดเอาไปปั่นไม่ได้ แต่ผลเลือดออกมา ผลปัสสาวะออกมา ยังไม่พบอาการผิดปกติ คุณหมอจึงให้ยาลดไข้แล้วกลับบ้าน

โรคคาวาซากิ อันตรายในเด็กเล็ก

หลังจากนั้น กลางคืนลูกจะฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลำตัว ร้อนมาก ไข้สูงเช่นเดิมราว ๆ 38 องศาเซลเซียส แม่ต้องคอยเช็ดตัวเพราะกลัวลูกชัก แต่กลางวันไม่ค่อยมีไข้ แม่คอยหาข้อมูลอยู่ตลอดว่า ถ้าเด็กเล็กมีไข้เกิน 7 วันจะอันตรายไหม แล้วลูกก็ปากแดงมาก ในร่างกายอาจมีอาการอักเสบหรือผิดปกติบางอย่าง แต่สิ่งที่แม่กลัวที่สุดคือ โรคคาวาซากิ เพราะอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงชีวิตได้

จนวันที่น้องมีไข้ครบ 11 วัน คุณแม่ตัดสินใจพาไปโรงพยาบาลเอกชน เพราะริมฝีปากของลูกมีเลือดออกเกรอะกรังติดริมฝีปาก แต่คุณหมอตรวจดูก็ยังไม่พบกับลิ้นสตรอว์เบอร์รี่ ไม่มีอาการมือบวมหรือเท้าบวม แต่ค่าเลือดสูงมากจนผิดปกติ เลือดเข้มข้นเกินไป จึงปรึกษาคุณหมอขอทำเรื่องส่งตัวลูกไปรักษาโรงพยาบาลรัฐที่ประจำ

เมื่อถึงโรงพยาบาลประจำ คุณหมอสังเกตหลังน้องเริ่มมีจุดแดงเล็ก ๆ พร้อมกับตรวจโควิด-19 ไปด้วย ผลตรวจโควิดปลอดภัย แต่อาจจะเป็นโรคคาวาซากิ ที่อาการออกไม่ครบ คุณหมอจึงเริ่มตรวจอย่างอื่น ทั้งเจาะเลือด echo หัวใจ (Echocardiography) เพราะอาการแทรกซ้อนของโรคนี้คือหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง

“ผลเลือดลูกสูงผิดปกติมาก 900,000 กว่า แสดงว่าหลอดเลือดอักเสบ เราก็ถามมันจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเป็นคาวาซากิ จริง ๆ หมอบอกว่า หลอดเลือดมันจะขยายไปเรื่อยจนมันฉีก ซึ่งถ้ามันฉีกแล้วก็…..(หมอไม่พูดต่อ) เราเลยถาม “เสียชีวิตใช่ไหมคะ” หมอบอกใช่ค่ะ”

โรคคาวาซากิ อาการ

จากนั้นคุณหมอบอกว่า และคาวาซากิในเด็กเล็กอาการจะมาช้าและอาการแต่ละอย่างจะมาไม่พร้อมกัน น้องอาจเป็นคาวาซากิแบบออกอาการไม่ครบ (incomplete) ถ้าให้ยา IVIG กับเด็กที่เป็นโรคคาวาซากิจะตอบสนองดี แต่ถ้าไม่ได้เป็นโรคนี้ จะมีผลตรงกันข้ามและเสี่ยงความดันสูงด้วย

คืนนั้นเริ่มมีจุดแดง ๆ ทั้งแผ่นหลัง ตอนเช้าจุดเริ่มกระจายทั้งลำตัว ผื่นเริ่มลามไปที่แขน ผื่นแดงมากบริเวณสะโพก ขาหนีบ สุดท้ายคุณหมอตัดสินใจให้ยา IVIG เพราะเป็นไข้ 12 วันแล้ว ยาชนิดนี้ต้องให้ภายใน 14 วัน แม้หลอดเลือดหัวใจจะยังไม่มีอาการ ก็ต้องรีบสกัดมันก่อนที่จะมีอาการแทรกซ้อนหัวใจ

หลังให้ยาแล้ว ผลตอบสนองต่อยาดีมาก ไข้เริ่มไม่มี ผื่นเริ่มลดลง แต่ตกกลางคืนไข้ยังสูง 38-39 องศาเซลเซียส พยาบาลต้องมาช่วยเช็ดตัวน้องหลายรอบทั้งคืน และให้น้องกินยาลดไข้ ถึงอย่างนั้นน้องก็ต้องกินยาแอสไพรินทุกวันเพื่อละลายลิ่มเลือด ไม่ให้เลือดอุดตัน เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนทางหัวใจ วันต่อมาคุณหมอมาเจาะเลือดอีกครั้ง ช่วงบ่ายก็ได้รับข่าวดีว่า ค่าเลือดปกติให้กลับบ้านได้ แต่หมอให้ยาแอสไพรินมากินทุกเช้าวันละครั้งเพื่อละลายลิ่มเลือด และน้องมีนัดต้องไป echo หัวใจอย่างต่อเนื่อง

โรคคาวาซากิ อาการ

“คุณหมอบอกว่า ถึงแม้กลับบ้านได้ อาการหลอดเลือดหัวใจโป่งพองจะเป็นตอนไหนก็ได้อีก ต้อง follow up ไปอีกสักพัก หลังจากออกจากโรงพยาบาล ผื่นยังมีอยู่บ้าง และลูกจะเป็นหวัดได้ง่าย มีไข้ได้ง่าย หมอบอกว่าต้องระวังเพราะเด็กที่เคยเป็นคาวาซากิจะเป็นหวัดง่ายกว่าเด็กทั่วไป ก็จริงค่ะ เพราะตั้งแต่ออกโรงพยาบาลมา เป็นไข้ไป 2 รอบแล้ว แต่ละครั้งเป็นนาน 1 สัปดาห์”

ส่วนสาเหตุของโรค คุณหมอแจ้งว่า โรคนี้ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด อาจจะเป็นเชื้อโรคที่ลอยมาในอากาศได้ เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน หมอบอกต้องระวังไม่ให้เป็นหวัดค่ะ นี่สำคัญเลย เพราะถ้าเป็นนี่จะเป็นหนักกว่าคนอื่น หลังจากนี้คือต้องไปตรวจตามนัด และฉีดวัคซีนสำคัญตามช่วงอายุลูก

คุณแม่จึงฝากเรื่องนี้ให้กับคุณแม่ท่านอื่น ๆ ได้อ่านเพื่อคอยสังเกตอาการลูกอย่างใกล้ชิด เพราะอาการของโรคคาวาซากิอาจออกไม่ครบ ดังนั้น ถ้าเด็กมีอาการผิดปกติ ให้คุณแม่เชื่อในเซนส์ของตัวเอง และรีบพาลูกไปหาหมอ

อันตรายจากโรคคาวาซากิ

ศ.พญ.ดวงมณี เลาหประสิทธิพร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า โรคคาวาซากิมีความรุนแรงจนสามารถทำให้เด็กเสียชีวิตเฉียบพลัน พบได้ทุกเพศ แต่มักพบในเพศชายมากกว่า โรคนี้ยังพบได้บ่อยในช่วงอายุ 1-2 ปี และต้องระวังไปจนถึงอายุ 5 ปี

สาเหตุของโรคคาวาซากิ

อาจเกิดจากการติดเชื้อบางชนิดทั้งแบคทีเรียและไวรัส มีรายงานถึงการใช้แชมพูซักพรม หรือการอยู่ใกล้แหล่งน้ำ แต่ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แท้จริงได้ อาการของโรคคาวาซากิ จะมีการอักเสบเกิดขึ้น เช่น การอักเสบของหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ สำหรับอาการเด่น ๆ ของโรคคาวาซากิ ได้แก่

เหล่านี้เป็นอาการที่จะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์แรก ในสัปดาห์ที่ 2 ผิวหนังจะลอก จากปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า ลามไปที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อาจพบข้ออักเสบโดยเฉพาะบริเวณนิ้วมือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และท้องเสีย

ข้อควรระวังของโรคนี้ อาจทำให้เกิดการอักเสบของหัวใจและหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหัวใจมีลักษณะโป่งพอง ตีบหรือแคบได้ หากหลอดเลือดตีบแคบมาก อาจเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลี้ยง ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้

หากพ่อแม่พบว่าลูกมีอาการผิดสังเกต มีความคล้ายคลึงกับโรคคาวาซากิ อย่านิ่งนอนใจ เพราะโรคนี้อันตรายและต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

อ้างอิงข้อมูล : si.mahidol.ac.th

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?

แม่แชร์ อาการโรคคาวาซากิ และวิธีรักษา เมื่อลูกป่วยเป็นโรคคาวาซากิ

เป็นไข้เลือดออก ได้กี่ครั้ง ซ้ำรอบสองทำไมรุนแรงกว่ารอบแรก

อุทาหรณ์! ลูกติด เชื้อซาโมเนลลา ไข้ขึ้น ถ่ายทั้งคืน เพราะคนอื่นจับอุ้มหอมลูก