AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

สัญญาณเตือน! อาการหนาวใน จุดเริ่มของโรคร้าย

คุณแม่ลูกอ่อน หรือคุณผู้หญิงคนไหนเคยมีอาการแบบนี้บ้าง? ทั้งๆ ที่อากาศเมืองไทยร้อนขนาดนี้ แต่ทำไมบางวันกลับรู้สึกหนาวสะท้าน หนาวถึงกระดูก แถมคนรอบข้างก็ไม่มีใครนั่งหนาวเหมือนเราเลยสักคน ซึ่งอาการหนาวแบบนี้ อาจเป็นสาเหตุของโรคอย่างหนึ่งก็เป็นได้

ซึ่งอาการหนาวแบบไม่ปกติแบบนี้ เรียกอีกอย่างว่า “หนาวใน” สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกวัย ทั้งในผู้หญิงสูงอายุที่กำลังจะหมดประจำเดือน หรือหมดประจำเดือนแล้ว รวมถึงคุณผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ประจำเดือนมาน้อย เป็นไข้ทับระดู ปวดประจำเดือนรุนแรง ลักษณะของประจำเดือนมีสีคล้ำ เป็นก้อน เป็นลิ่ม เป็นต้น หรือโบราณมักบอกว่าเป็นเพราะคุณแม่ไม่ได้อยู่ไฟหลังคลอด เพราะตำราแพทย์แผนไทยกล่าวว่า เมื่อเราคลอดลูกร่างกายจะสูญเสียความร้อนและธาตุไฟ ทำให้ร่างกายขาดความสมดุลนั้นเอง

อาการเริ่มต้นของอาการ หนาวใน ที่ควรสังเกต!

การรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยแบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอน แต่จะใช้ขั้นตอนไหนบ้างก็ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล ดังนี้

ขั้นแรก เรียกว่า การปลูกไฟธาตุ คือ การใช้ยาร้อน ปลูกให้ธาตุไฟทำงาน เนื่องจากอาการหนาวในมักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายขาดธาตุไฟ เราจึงควรปรับสมดุลธาตุในร่างกายก่อน

ขั้นที่สอง คือ การบำรุงไฟธาตุ โดยการใช้ยารสเปรี้ยว เน้นไปที่การฟอกเลือด บำรุงเลือดเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

ขั้นสุดท้าย คือ การใช้ยาร้อนที่สุดเพื่อช่วยขับโลหิตและของเสียออกจากร่างกาย เช่น เจตมูลเพลิง หรือว่านชักมดลูก เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายมีการขับของเสียเช่นประจำเดือน ออกจากร่างกายให้หมดไม่ให้มีตกค้าง ซึ่งอาจทำให้เป็นสาเหตุของการเกิดช็อกโกแลตซีสต์ได้

นอกจากคนที่ไม่ได้อยู่ไฟแล้ว อาการหนาวใน เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?

1. น้ำหนักน้อยเกินไป

นักโภชนาการ กล่าวว่า หากค่า BMI ในร่างกายเราต่ำกว่า 18.5 นั่นแปลว่าเรามีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถสร้างคามอบอุ่นได้เพียงพอจนทำให้รู้สึกหนาวง่าย อีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อเราผอมเพราะไม่ค่อยได้กินอาหารสักเท่าไร ก็ยิ่งลดประสิทธิภาพการทำงานของระบบเผาผลาญให้อยู่เฉยจนความร้อนในกระบวนการเผาผลาญไม่เกิด ดังนั้นคนที่ตัวผอมบางจึงมักจะรู้สึกหนาวง่ายหรือหนาวตลอดเวลานั่นเอง

ซึ่งวิธีเพิ่มความอบอุ่นให้ตัวเองก็ไม่ยาก แนะนำให้คุณรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเยอะ ๆ โดยเน้นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันชนิดดี

2. ภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติ

ถ้าคุณมักจะรู้สึกหนาวเป็นพัก ๆ รวมทั้งผมเริ่มบาง ผิวแห้งมากขึ้น แถมยังรู้สึกอ่อนเพลียด้วย ลักษณะอาการเช่นนี้อาจเข้าข่ายภาวะขาดไทรอยด์ ซึ่งเป็นอาการที่ต่อมไทรอยด์ไม่หลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนออกมาในปริมาณที่พอเพียง จนส่งผลให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง ความร้อนในร่างกายจึงลดน้อยลงไปด้วย ดังนั้นหากพบว่าตัวเองมีสัญญาณเหล่านี้ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษานะคะ

3. ขาดธาตุเหล็ก

ในภาวะที่ร่างกายมีธาตุเหล็กน้อยก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้รู้สึกหนาวง่ายด้วยเช่นกัน เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง มีหน้าที่ช่วยขนส่งออกซิเจนเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดแดง นำพาความร้อนและสารอาหารที่สำคัญเข้าสู่กระบวนการทำงานของเซลล์ทุกแขนงในร่างกาย ดังนั้นหากขาดธาตุเหล็กไป กระบวนการตามที่ว่าก็คงสะดุดกันบ้าง คราวนี้ความอบอุ่นในร่างกายก็จะลดน้อยลง

ทั้งนี้นักโภชนาการเชี่ยวชาญแห่งสำนักโภชนาการลอสแองเจลิสได้แนะนำว่า คุณสามารถเสริมธาตุเหล็กชนิดอาหารเสริมได้ ทว่าหากเลือกรับธาตุเหล็กจากอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ไข่ ผักใบเขียว กะหล่ำ ผักโขม และอาหารทะเลจะดีกว่า

อ่านต่อ >> “อาการหนาวใน ที่เกิดจากสาเหตุอื่น” คลิกหน้า 2

4. ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี

สำหรับคนที่มักจะมือเย็นเท้าเย็นบ่อย ๆ แต่ร่างกายโดยรวมไม่ได้ผิดปกติอะไร เคสนี้แพทย์หญิงนิวยอร์ก ได้วินิจฉัยว่า อาจเกิดจากระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายของคุณทำงานไม่ปกติ โดยไม่สามารถไหลเวียนเลือดได้สะดวกไปทั่วทั้งร่างกาย หรืออาจจะมีภาวะของโรคหลอดเลือดอุดตันตามตำแหน่งต่าง ๆ ที่อาจขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปยังมือและเท้าได้

นอกจากนี้ยังมีโรคเรย์นอยด์ (Raynaud’s Disease) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เส้นเลือดบริเวณมือตีบ ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ไม่ดี ทำให้เกิดอาการชาบริเวณนิ้วมือ ร่วมกับอาการนิ้วมือนิ้วเท้าเย็นตามมาด้วย ซึ่งก็ควรต้องรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาอาการกันต่อไป

5. พักผ่อนไม่เพียงพอ

การนอนหลับที่ไม่เพียงพออาจส่งผลให้เคมีในสมองรวมไปถึงระบบการเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติได้ ซึ่งก็นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง รวมทั้งอาการหนาวง่ายก็เป็นผลพวงที่ตามมาด้วยเช่นกัน ฉะนั้นพยายามพักผ่อนให้เต็มที่ไว้ก่อนดีกว่า

6. ดื่มน้ำน้อยเกินไป

กว่า 60% ในร่างกายมนุษย์ที่มีการเจริญเติบโตอย่างเต็มวัยคือน้ำล้วน ๆ เลยเชียวล่ะ และน้ำก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้เป็นปกติ โดย Maggie Moon นักโภชนาการเชี่ยวชาญแห่งสำนักโภชนาการลอสแองเจลิสก็ให้ข้อมูลว่า ร่างกายที่ไม่ได้รับน้ำสะอาดเพียงพออาจเกิดได้ทั้งภาวะอุณหภูมิที่ร้อนจัดและเย็นจัด เนื่องจากภาวะขาดน้ำจะทำให้ระบบควบคุมอุณหภูมิของร่างกายปรวนแปร รวมไปถึงเมื่อขาดน้ำ ระบบเผาผลาญก็ทำงานไม่สะดวกด้วย ฉะนั้นเราจึงควรดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวันนะคะ

7. ร่างกายขาดวิตามินบี 12

วิตามินบี 12 มีหน้าที่สำคัญพอ ๆ กับธาตุเหล็กตรงที่ช่วยลำเลียงออกซิเจนเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งหากร่างกายไม่ได้รับวิตามินบี 12 ที่พอเพียงก็คงทำให้หลอดเลือดแดงทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และเมื่อการไหลเวียนของเลือดติดขัด ความหนาวเย็นเหน็บชาก็มักจะมาเยี่ยมเยือนนั่นเองนะคะ ฉะนั้นใครทั้งรู้สึกหนาวง่ายบวกกับอาการเหน็บชามาหาบ่อย ๆ ในช่วงนี้ ต้องรีบเติมเต็มวิตามินบี 12 จากอาหารประเภทปลาและผลิตภัณฑ์จากนมให้ร่างกายโดยด่วนซะแล้ว

8. เพราะคุณเป็นผู้หญิง

อาการหนาวง่ายก็ขึ้นอยู่กับเพศด้วยเหมือนกัน  เพราะเพศหญิงจะถูกกำหนดให้ต้องการความอบอุ่นในร่างกายมากกว่าเพศชาย ด้วยเหตุนี้กลไกร่างกายของผู้หญิงจึงต้องคงความสมดุลของการไหลเวียนเลือดในสมองและหัวใจอย่างเต็มที่ ดังนั้นการไหลเวียนเลือดในส่วนประสาทมือและเท้าจึงถูกลดความสำคัญลงไปโดยปริยาย เป็นเหตุให้คุณรู้สึกหนาวที่มือและเท้าซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของเส้นประสาทจนทำให้รู้สึกหนาวไปทั้งร่างนั่นเอง

9. มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานที่ไม่รู้ตัวและไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปลายประสาทอักเสบได้ ซึ่งอาการนี้จะส่งผลให้มือและเท้าของคุณไวต่อสิ่งเร้าและการสัมผัส จนอาจทำให้รู้สึกหนาวเย็น ณ บริเวณนี้ได้ อีกทั้งปลายประสาทยังจะส่งสารบางอย่างไปยังสมองในส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้รู้สึกถึงความหนาวเย็นด้วยนะคะ ดังนั้นหากคุณรู้สึกเย็นมือเย็นเท้า รวมถึงปวดปัสสาวะบ่อย ๆ อ่อนเพลีย และรู้สึกคอแห้งถี่ขึ้น สัญญาณเหล่านี้คืออาการเริ่มต้นของโรคเบาหวาน ต้องรีบไปพบแพทย์ด่วนแล้วล่ะ

10. กล้ามเนื้ออ่อนแอเกินไป

กล้ามเนื้อนับเป็นเสมือนผ้าห่มส่วนตัวของเรา การที่กล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะช่วยคงอุณหภูมิร่างกายของเราให้สมดุล ดังนั้นเราจึงควรเพิ่มมวลกล้ามเนื้อด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยบำรุงระบบเผาผลาญให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพไปในตัว และช่วยรักษาความอบอุ่นของร่างกายได้เป็นอย่างดี

จากอาการหนาวข้างต้น คุณผู้หญิงและคุณแม่ลูกอ่อนควรสังเกต อาการหนาวนั้น ว่าคุณมี อาการหนาวใน หรือหนาวง่ายหรือเปล่า และหากมีอาการปวดท้องหรือหนาวสั่นแบบผิดปกติ อย่ารอช้า…แล้วละเลยอาการเหล่านั้น เพียงเพราะคิดว่าเป็นอาการปกติที่คนอื่นก็เป็นกัน โดยที่ลืมสังเกตความแตกต่างของอาการ

ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและบำรุงร่างกายให้มีความสมบูรณ์แข็งแรงให้มากขึ้นดูนะคะ ร่างกายจะได้มีความอบอุ่นไม่รู้สึกหนาวง่ายอีกต่อไป และหมั่นสำรวจตัวเองว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ถ้าเกิดสงสัยอะไร แนะนำให้รีบไปปรึกษาหมอ เพื่อที่จะได้คำแนะนำและการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีค่ะ

อ่านเพิ่มเติม บทความน่าสนใจ คลิก

อาการผมร่วงหลังคลอด และเทคนิครับมือพร้อมแนะนำทรงผมสั้นสุดเก๋

การดูแลสุขภาพ และความงามของคุณแม่ให้ยังสาว


ขอบคุณข้อมูลจาก www.matichon.co.th , www.rak-sukapap.com , health.kapook.com