AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ท้องอืด ภาวะของลูกน้อยที่ไม่ควรมองข้าม

คุณพ่อคุณแม่หรือลูกๆ ที่บ้าน มีใครที่มัก ท้องอืด เรอ และผายลมบ่อยๆ กันบ้างหรือไม่คะ อาการนี้เกิดจากการมีแก๊สในทางเดินอาหาร ซึ่งร่างกายต้องขับออกมา

คุณพ่อคุณแม่หรือลูกๆ ที่บ้าน มีใครที่มัก ท้องอืด เรอ และผายลมบ่อยๆ กันบ้างหรือไม่คะ อาการนี้เกิดจากการมีแก๊สในทางเดินอาหาร ซึ่งร่างกายต้องขับออกมาอยู่เป็นประจำ แต่หากมีมากเกินไปก็จะทำให้เกิดการจุกเสียดแน่นท้องรวมทั้งอาการอื่นๆ ตามมา และแน่นอนค่ะว่า มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

ท้องอืด ในทารก

อาการท้องอืด เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กทารกไม่สบายตัว ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น และมักไม่เป็นอันตราย แต่คุณพ่อ คุณแม่ก็ควรรู้จักวิธีป้องกัน และรับมือเพื่อช่วยผ่อนคลายความอึดอัดให้ลูกน้อย หมั่นสังเกตอาการจะช่วยป้องกันปัญหาที่รุนแรงได้

อาการท้องอืด เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กทารกไม่สบายตัว ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น

ทำไมลูกถึงท้องอืด

1.ดื่มนมช้าเกินไป เกิดจากปัญหาหัวนมบอดของคุณแม่ หรือรูที่จุกขวดนมเล็กเกินไป ทำให้น้ำนมไหลออกมาน้อย หรือช้า ส่งผลให้ลูกน้อยดูดแต่อากาศเข้าไปมาก

2.ดื่มนมเร็วเกินไป หากน้ำนมของคุณแม่ หรือจุกขวดนมมีมาก หรือไหลเร็วเกินไป ก็อาจจะทำให้ลูกน้อยต้องกลืนนมอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร

3.ดื่มนมที่มีฟองอากาศ สำหรับลูกน้อยที่ดื่มนมผง หากมีฟองอากาศเกิดขึ้นขณะดูดนมอาจทำให้ลูกท้องอืดได้ ควรทิ้งไว้สัก 2-3 นาที เพื่อให้ฟองอากาศแตกตัวเสียก่อน

4.ร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ลูกน้อยกลืนเอาอากาศเข้าไปเป็นจำนวนมาก คุณพ่อ คุณแม่ควรปลอบให้ลูกน้อยหยุดร้องโดยเร็ว

5.กระบวนการย่อยอาหารยังทำงานไม่สมบูรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในเด็กทารก จึงทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร และจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

6.สำหรับเด็ก 6 เดือนขึ้นไป การปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารอาจทำให้ลูกท้องอืดได้ โดยเฉพาะอาหารที่สะสมแก๊สมากกว่าปกติ เช่น พืชตระกูลถั่ว บรอกโคลี กะหล่ำปลี รำข้าว ข้าวโอ๊ตบด ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เป็นต้น

7.แพ้โปรตีนจากนม เช่น โยเกิร์ต ชีส รวมถึงโปรตีนในนมผง และนมแม่ ซึ่งอาหารที่คุณแม่รับประทานอาจไหลผ่านน้ำนมส่งผลให้ลูกมีอาการท้องอืดได้

อ่าน “สังเกตลูกท้องอืดแบบไหนอันตราย” คลิกหน้า 2

สังเกตลูกท้องอืดแบบไหนอันตราย

ในเด็กทารกอายุ 2-3 สัปดาห์ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูด แต่คุณพ่อ คุณแม่ก็สามารถสังเกตจากอาการได้ เช่น ร้องไห้ ยกขาขึ้นสูงไปทางหน้าท้อง ดื้นตลอดเวลาโดยเฉพาะหลังจากให้นม กำมือแน่น และหน้าแดง หากลูกน้อยร้องไห้ไม่หยุดหลังจากผายลมออกมาแล้ว อาจแสดงสัญญาณผิดปกติ เช่น กรดไหลย้อน ท้องผูก โคลิค เป็นต้น ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วยควรรีบพบแพทย์

วิธีบรรเทาเมื่อลูกท้องอืด

1.วางลูกน้อยเอาไว้ในท่านอนหงาย นวดบริเวณหน้าท้องเบาๆ เริ่มจากขวาไปซ้าย

2.วางลูกน้อยเอาไว้ในท่านอนหงาย จับขาทั้ง 2 ข้างสลับขึ้นลงเหมือนปั่นจักรยาน

3.อุ้มลูกน้อย ให้คางอยู่ที่บริเวณไหล่ แล้วใช้มือตบหลังเบาๆ

4.ให้ลูกน้อยนั่งบนตัก โน้มตัวลูกไปข้างหน้าเล็กน้อย มือโอบคางประคองตัวไว้ แล้วตบหลังเบาๆ

5.วางลูกน้อยเอาไว้ในท่านอนคว่ำบนตัก ศีรษะสูงกว่าลำตัวเล็กน้อย แล้วตบหลังเบาๆ

วางลูกน้อยเอาไว้ในท่านอนหงาย จับขาทั้ง 2 ข้างสลับขึ้นลงเหมือนปั่นจักรยาน

ป้องกันลูกท้องอืด

1.ป้อนนมให้ลูกน้อยในปริมาณที่เหมาะสม และจัดท่าทางให้เหมาะสมขณะให้นม โดยยกศีรษะให้สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย

2.หากลูกน้อยดูดนมจากขวด ควรยกขวดขึ้นป้องกันลูกน้อยดูดอากาศภายในขวดนม เลือกซื้อจุกขวดนมที่เหมาะสม รูไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป

3.หากลูกน้อยหย่านมแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำให้ท้องอืด รวมถึงคุณแม่ที่ให้นมลูกน้อยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ท้องอืดด้วยเช่นกัน

อ่าน “ปัญหาแก๊สในกระเพาะอาหารของพ่อแม่” คลิกหน้า 3

ปัญหาแก๊สในกระเพาะอาหารของพ่อแม่

สมัยนี้ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องเร่งรีบ ซึ่งพฤติกรรมนี้ส่งผลกับร่างกายของเรา ภาวะแก๊สในทางเดินอาหารนั้น หลายๆ ท่านอาจจะไม่ได้ให้ความใส่ใจ เพราะคิดว่าไม่มีผลร้ายแรงอะไรกับร่างกาย แต่หารู้ไม่ว่าอาการเหล่านี้อาจบ่งชี้ว่าร่างกายกำลังประสบภาวะโรคร้ายอยู่ จริงๆ แล้วการผายลม การเรอ ถือเป็นเรื่องปกติ ที่คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านอาจจะคิดว่า “ดีแล้ว ปล่อยออกมาบ้าง จะได้ไม่อึดอัด” แต่ถ้ามันมากเกินไป มันอาจเป็นสัญญาณบางอย่างว่า ร่างกายของเรากำลังประสบกับภาวะบางอย่างอยู่

สาเหตุของการเกิดแก๊สในทางเดินอาหาร

นายแพทย์สว่างพงษ์ พูลทรัพย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุร ศาสตร์โรคทางเดินอาหารและตับ ศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า แก๊สในทางเดินอาหารนับวันยิ่งเป็นปัญหาทำให้มีผู้ที่ทนทุกข์ทรมานจากอาการเหล่านี้มากขึ้น อาจเนื่องจากระบบการใช้ชีวิตของมนุษย์มีความรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้บริโภคอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สมากขึ้นไปด้วย ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดนั้นได้แก่

การใช้ชีวิตของมนุษย์มีความรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้บริโภคอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สมากขึ้น

นอกจากนี้ อาการแก๊สในทางเดินอาหาร ยังสามารถถูกกระตุ้นได้จากการรับประทานอาหารบางอย่างเข้าไป เช่น อาหารประเภทนม ไอศกรีม เนย โยเกิร์ต น้ำอัดลม น้ำผึ้ง หรือของขบเคี้ยว เช่น ถั่วต้ม ถั่วเหลือง ลูกอม หมากฝรั่ง ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด มันฝรั่ง เมล็ดพืชอบแห้ง ตลอดจนกะหล่ำปลี บรอกโคลี เป็นต้น

นายแพทย์สว่างพงษ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า “คนเราผายลมเฉลี่ย 10-20 ครั้งต่อวัน ในปริมาณแก๊สที่ถูกขับออกมาถึง 0.5- 1.5 ลิตรต่อวัน โดยไม่ขึ้นอยู่กับอายุหรือเพศ”

โดยคนไข้ส่วนใหญ่ที่พบนั้น มักจะมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด เรอบ่อย ผายลมบ่อยกว่าปกติ โดยอาการเหล่านี้ผู้ป่วยเองรับรู้ว่าเกิดจากการที่ร่างกายมีแก๊สในทางเดินอาหารมากกว่าปกติ ซึ่งแพทย์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีอาการเหล่านี้บ่อยๆ หรือนานๆ บ่งชี้ได้ถึงภาวะอันตรายที่จะนำไปสู่โรคต่างๆ ได้ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน โรคกรดไหลย้อน แผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งในทางเดินอาหาร และมะเร็งในลำไส้ใหญ่ เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายสามารถอยู่กับเราไปได้นานๆ การดูแลรักษาสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนควรทำ จะมีอะไรบ้างนั้น เราไปดูพร้อมๆ กันค่ะ

วิธีการดูแลตัวเอง

การที่เราจะมีอายุยืนยาวได้นั้น ต้องเริ่มจากการมีสุขภาพที่แข็งแรงกันก่อนค่ะ คนส่วนใหญ่มักที่จะสนใจดูแลแต่ร่างกายภายนอก แต่ระบบภายในนั้นมักที่จะมองข้าม เช่นเดียวกับภาวะแก๊สในทางเดินอาหาร หากเราไม่อยากเป็น ไม่อยากท้องป่องเหมือนคนท้องล่ะก็ แนะนำให้ปฏิบัติตามดังนี้ค่ะ

  1. หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแก๊ส เช่น อาหารที่ผลิตจากนม เนย ไอศกรีม น้ำอัดลม หรือพืชผักบางชนิด ไม่ว่าจะเป็น กะหล่ำปลี บรอกโคลี เป็นต้น
  2. หลีกเลี่ยงการพูดคุยในระหว่างรับประทานอาหาร พร้อมทั้งเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน
  3. พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน
  4. งดสูบบุหรี่ งดเคี้ยวหมากฝรั่ง เพราะการเคี้ยวหมากฝรั่งนั้น จะเป็นการกินอากาศเข้าไปด้วยค่ะ
  5. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน

ไม่ยากเลยใช่ไหมละคะ หากเราทำได้ละก็ สุขภาพดีๆ ไร้โรคจะไปไหนเสีย

ขอบคุณที่มา: POBPADBangkok Health และ OKNation

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ คลิก!!

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids