กรมควบคุมโรค เผยการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ เตือนพ่อแม่ควรพาลูกไปรับวัคซีนตามกำหนด พร้อมเฝ้าระวังและสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันโรคหัด
โรคหัด เป็นโรคติดต่อที่พบมากในเด็กเล็ก เพราะขึ้นชื่อว่า “เด็ก” ภูมิต้านทานโรคย่อมมีน้อยกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเอาใจใส่ลูกน้อยให้ดี เพราะโรคหัดสามารถเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้อีกมาก ไม่เหมือนกับผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นที่มีภูมิต้านทานมากกว่า ถ้าได้รับการรักษาก่อนก็หายได้ไม่ยาก
และเพื่อป้องกันลูกน้อยจากโรคหัด Amarin Baby & Kids จึงมีคำพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ จากกรมควบคุมโรค ซึ่งออกมาเตือนเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคหัดในตอนนี้ พร้อมนำความรู้เรื่อง โรคหัด มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านกัน
กรมควบคุมโรค เผยการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ
อัตราป่วยของ โรคหัด สูงขึ้นถึง 2 เท่า
โดยนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบ คุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์ของโรคหัดในประเทศไทย พบว่า…
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2560) อัตราป่วยของโรคหัดสูงขึ้นถึง 2 เท่า โดยกลุ่มอายุแรกเกิด-4 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี และมีแนวโน้มการเกิดโรคสูงใน ประชากรทั้ง 2 กลุ่มอายุ
โดยในปี 2560 พบผู้ป่วยโรคหัด 2,938 ราย เฉพาะต้นเดือนมกราคม 2561 ที่ผ่านมา… พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน 2 ครั้ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 23 ราย และภาคเหนือ 28 ราย
นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนอีกจำนวนหนึ่งในเรือนจำ สถานที่ทำงาน ค่ายทหาร และโรงพยาบาล และคาดว่าสัปดาห์นี้จะพบผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูหนาว ซึ่งอากาศที่เย็นลงทำให้เสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น
อ่านต่อ >> “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ พร้อมอาการและวิธีรักษาป้องกันลูกน้อยจากโรคหัด” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ ประจำสัปดาห์นี้ (22-28 ม.ค. 2561) คาดว่า…
มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ซึ่งอากาศที่เย็นลง ทำให้เสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น โรคนี้พบได้ทุกวัย แต่ที่พบบ่อยคือในกลุ่มเด็กเล็ก
เช่นเดียวกับตอนนี้ที่ จังหวัดปาปัว ของอินโดนีเซีย ก็มีการแพร่ระบาดของโรคหัดทำให้เกิดความหวาดกลัวว่าจะทำให้ประชาชนราว 100 คนที่สุขภาพไม่ดีเนื่องจากรับประทานอาหารไม่ถูกต้อง และต้องเสียชีวิต ส่งผลให้เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขในจังหวัดทางตะวันออกไกลของประเทศแห่งนี้
โดยนายมูฮัมหมัด ไอดี โฆษกทหารปาปัวกล่าวว่า… เด็กทารก 69 คนเสียชีวิตในเขตอัสมัต ขณะที่รายงานระบุว่า ประชาชน 27 คนเสียชีวิตในพื้นที่เขตภูเขาออคซิบิล และกล่าวว่า… โรคหัดไม่เป็นอันตราย แต่เนื่องจากเด็กมีสุขภาพไม่ดีจากการรับประทานอาหารไม่ถูกต้อง จึงไม่สามารถเอาชนะภาวะดังกล่าวได้
◊ ทำความรู้จักกับโรคหัด ◊
ในประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เราอาจจะคุ้นเคยแต่โรคไข้ออกผื่นชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ร้ายแรง แต่ไม่คุ้นเคยกับโรคหัด ทำให้ไม่ทราบถึงความน่ากลัวของโรคนี้
โรคหัด (มีเซิลส์/measles หรือ รูบีโอลา/rubeola) เป็นโรคไข้ออกผื่นที่พบบ่อยในเด็กเล็ก แต่สามารถพบได้ในทุกวัย โดยโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย อีกทั้ง หัด ยังเป็นโรคที่สามารถก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ อาการแทรกซ้อนของโรคหัดนั้นมีตั้งแต่อาการที่ไม่รุนแรง เช่น อาการท้องเสีย หูชั้นกลางอักเสบ ไปจนถึงอาการแทรกซ้อนรุนแรง ได้แก่ ปอดอักเสบ อาการชักที่สามารถเกิดได้ทั้งแบบมีไข้และไม่มีไข้ ไข้สมองอักเสบและเสียชีวิต
กรณีของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคหัดและติดเชื้อไวรัสนั้นมีโอกาสเสี่ยงแท้งบุตรหรือทารกเสียชีวิตในครรภ์และคลอดก่อนกำหนด โดยผู้เป็นแม่จะคลอดก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของอายุครรภ์ ทั้งนี้ ทารกอาจจะมีน้ำหนักตัวเมื่อแรกคลอดน้อย
อ่านต่อ >> “อาการของโรคหัดพร้อมวิธีรักษาและป้องกันลูกน้อยจากโรคหัด” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
♦ อาการของโรคหัด
หัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles โดยการติดต่อจะเกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจรวมไปถึงจมูกและลำคอ เมื่อเชื้อเข้าไปในตำแหน่งดังกล่าวนี้แล้วก็จะแบ่งตัวในทางเดินหายใจ ใช้เวลาประมาณ 7-14 วันจึงเริ่มมีอาการ โดยอาการเริ่มต้นจะเป็นอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ตาแดง ไข้จะเริ่มจากไข้ต่ำ ๆ จากนั้นจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยไข้อาจจะสูงได้ถึง 41-42 องศาเซลเซียส
หลังจากมีไข้ได้ประมาณ 3 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นสีแดงขึ้น โดยเริ่มขึ้นจากศีรษะ ก่อนจะขยายลงมาที่ใบหน้าลำตัวและแขนขา ตามลำดับ ผื่นเหล่านี้อาจมีอาการคันได้บ้าง หลังจากนั้น ในรายที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน ไข้จะค่อย ๆ ลดลง รวมทั้งผื่นก็จะค่อย ๆ หายไปใส่ตามลำดับเหมือนกับตอนที่เริ่มขึ้นมา บริเวณใดที่เป็นผื่นมาก ๆ ผิวหนังตรงตำแหน่งนั้นอาจจะลอกหรือเปลี่ยนสีเป็นสีคล้ำได้
⇒ การติดต่อของโรคหัด
มักเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากการไอจามของผู้ป่วยที่ติดตามพื้นผิว จากนั้นนำไปโดนเยื่อบุ อย่างเช่น การแคะจมูก หรือขยี้ตา แต่ก็สามารถติดต่อทางการหายใจได้หากอยู่ในพื้นที่ปิด และบางครั้งพบว่าแม้ผู้ป่วยจะออกจากห้องนั้นไปหลายชั่วโมงแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อนี้ได้อยู่
โรคหัดเป็นโรคติดเชื้อที่ติดต่อได้ง่ายมาก ในพื้นที่ปิดหรือคนที่อยู่บ้านเดียวกัน พบว่าอัตราการติดต่อสูงถึง 90% สูงยิ่งกว่าไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอัตราการติดต่ออยู่ที่ประมาณ 15-30% อีกทั้งการแพร่เชื้อก็สามารถเกิดขึ้นได้ก่อนที่จะปรากฏผื่นขึ้นตามตัว ทำให้โอกาสที่เราจะหลีกเลี่ยงการติดเชื้อหัดโดยไม่ฉีดวัคซีนป้องกัน แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
√ การรักษาโรคหัด
- ให้การดูแลปฏิบัติตัวเหมือนโรคหวัด(ไข้หวัด) คือ
- พักผ่อนให้มาก ๆ ไม่ตรากตรำทำงานหนักหรือออกกำลังกายมากเกินไป
- อย่าถูกฝนหรือถูกอากาศเย็นจัด ห้ามอาบน้ำเย็น และควรสวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น
- ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว โดยอาจเป็นน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ก็ได้ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
- อาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารอ่อน ๆ เช่น ซุปไก่ร้อน ๆ น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มร้อน ๆ เช่น ชาร้อน น้ำขิงอุ่น ๆ
- พยายามรับประทานอาหารให้ได้ตามปกติ โดยควรเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ รสไม่จัด ที่สำคัญคือผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องงดของแสลง เพราะโรคนี้ไม่มีของแสลง โดยควรเน้นการรับประทานอาหารประเภทโปรตีนให้มาก ๆ เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ
- ใช้ผ้าชุบน้ำชุบน้ำอุ่นหรือน้ำก๊อกอุณหภูมิปกติ (อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง) เช็ดตัวเวลามีไข้สูง
- ดูแลการหายใจในกรณีที่เกิดปอดอักเสบ
ห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากยานี้ไม่ได้มีผลต่อการฆ่าเชื้อหัดซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสเพราะฉะนั้นจึงห้ามใช้ยานี้ตั้งแต่ระยะแรกเป็น เพราะนอกจากจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้แล้ว ยังอาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบชนิดร้ายแรงแทรกซ้อนซึ่งยากแก่การรักษาได้ด้วย
⊕ วิธีป้องกันโรคหัด
การป้องกันที่ดีที่สุด คือ โรคหัดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูกไปรับวัคซีนตามนัด ซึ่งเป็นรับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) ตามกำหนดให้ครบ 2 ครั้ง เมื่ออายุ 9-12 เดือน และ 2 ปีครึ่ง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย ส่วนในผู้หญิงที่ยังไม่เคยเป็นหัดควรฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่ก่อนแต่งงานหรือก่อนตั้งครรภ์
ส่วนในผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนควรได้รับวัคซีน 1 เข็ม โดยให้วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน จะช่วยป้องกันโรคหัดและโรคแทรกซ้อนอันตรายอื่นๆ ที่อาจเกิดตามมาได้ หากพบผู้มีอาการดังกล่าวให้พาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยทันที หรือสอบถามที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422″
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- โรคหัด หัดเยอรมัน ต่างกันอย่างไร
- โรคหัดในเด็ก ภัยสุขภาพที่ต้องระวังในเด็กเล็ก
- เช็กเลย! ตารางวัคซีน 2561 ลูกน้อยต้องฉีดอะไรบ้าง
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.riskcomthai.org, www.thaihealth.or.th, haamor.com