AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เสียหลานชายวัย 1 ขวบ เพราะ โรต้าไวรัส

มีเรื่องเล่าประสบการณ์จากคุณน้าคนหนึ่ง ซึ่งมีหลานชายวัย 1 ขวบ 3 เดือน ซึ่งเป็นลูกชายของพี่สาวที่เป็นลูกพี่ลูกน้อง คุณน้ายังไม่เคยพบหน้าหลานชาย อยู่ๆ วันหนึ่งได้รับโทรศัพท์จากพี่สาว บอกว่า หลานชายเสียแล้ว คุณน้าถึงกับงง และช็อกมาก จึงหาสาเหตุ พบว่าเกิดจาก โรต้าไวรัส

โรต้าไวรัส คร่าชีวิตเด็ก

เพิ่งเสียหลานชายวัย 1.3 ปี ไปด้วยโรคไวรัสลงกระเพาะ

เพิ่งเสียหลานชายไปเมื่อวานค่ะ แบบว่า ช็อกมาก กับหลานคนนี้ เป็นลูกชายของพี่สาว (ลูกพี่ลูกน้องเรา) ซึ่งเราเองยังไม่เคยได้เห็นหน้าหลานชายคนนี้เลย เพราะอยู่คนละจังหวัด กะว่าสิ้นปีนี้ จะไปเยี่ยมอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่า เมื่อวานกลับได้รับโทรศัพท์จากพี่สาวตัวเองว่า หลานชายเสียแล้ว เราก็ งง มาก ไม่มีข่าวการเจ็บป่วยเลย ทำไมถึงเสียชีวิต จนได้รู้มาว่า แม่ของน้องได้ให้ ตา ยาย ซึ่งก็คือ ลุงกับป้าของเรา เลี้ยงช่วงจันทร์-ศุกร์ ส่วนเสาร์ อาทิตย์จึงมารับกลับ เพราะแม่เด็กทำงานโรงงานแถวพระประแดง ส่วนตายายก็ รับจ้างทั่วไปแถววัดครุในพระประแดงเช่นกัน

จึงอาสารับเลี้ยงหลาน เพราะจะได้ลดรายจ่ายค่าเนอสเซอรี่ไป

แต่สองวันที่ผ่านมา น้องท้องเสียมาก มีไข้ ลุงกับป้าจึงพาไปหาหมอ

ซึ่งหมอก็จ่ายยามา แต่ไม่ได้ให้แอดมิทอะไร ตกกลางคืน น้องก็นอนนิ่ง ไม่ไหวติงแล้ว

ลุงกับป้าก็พาไปหาหมออีกปรากฏว่า หมอแจ้งว่าน้องเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาลแล้ว เราเองก็ไม่ทราบอาการแน่ชัดว่าหลานเราเป็นหนักหรือไม่หนัก

ทางโรงพยาบาลจึงไม่รับแอดมิทตั้งแต่แรก

แล้วหมอเองก็วินิจฉัยว่า น้องเป็นไวรัสลงกระเพาะ

เราเอง ตอนนี้ก็กำลังพยายามจะมีลูก เข้าออกห้องนี้บ่อย เพราะหาความรู้เรื่องการตั้งครรภ์ เพราะเราเองก็ผ่าตัดท้องนอกมดลูกมาเมื่อต้นปี ตอนนี้อยากมีลูกมาก

จึงอยากให้แม่ๆ ชานเรือนได้รู้จักโรคนี้กันบ้างว่าเกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร เพราะไม่อยากให้สูญเสียแก้วตาดวงใจไปกะทันหัน อย่างครอบครัวของพี่สาวเราในวันนี้

ขอให้หลานไปสู่สุขคติจ้ะ ถึงเรายังจะไม่ได้เจอกันเลยสักครั้ง แต่ว่าน้าก็ดีใจที่เราเคยได้เป็นน้าหลานกัน เกิดมาใช้สายเลือดร่วมกันจ้ะ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “มารู้จักไวรัสลงกระเพาะในเด็กอันตรายถึงชีวิต” คลิกหน้า 2

มารู้จักกับเจ้าไวรัสลงกระเพาะในเด็กกัน อันตรายถึงชีวิต

โรคไวรัส หรือ หวัดลงกระเพาะ ซึ่งบางครั้งอาการอาเจียน หรือท้องเสียก็รุนแรงมาก จนทำให้ลูกทานนม หรืออาหารไม่ได้ มีอาการขาดน้ำรุนแรง จนหมอต้องรับตัวลูกไว้รักษาในโรงพยาบาล และเนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่พบบ่อยมากในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี จนแทบจะพูดได้ว่าเด็กในวัย 5 ปีแรกทุกคน จะต้องเคยเป็นโรคนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต

จึงควรมาทำความรู้จักโรคนี้เพื่อจะได้ทราบวิธีป้องกันและดูแลรักษาโรคนี้กันดีกว่า

ไวรัสลงกระเพาะพบบ่อยในเด็กวัยใดและฤดูไหน?

โรคไวรัสลงกระเพาะมักเป็นในฤดูหนาวพบบ่อยช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ มักจะเป็นในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยเฉพาะช่วงอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี เพราะเป็นวัยที่มีภูมิต้านทานต่อโรคนี้ต่ำ และมีพฤติกรรมชอบเอาของเข้าปาก

สาเหตุที่ทำให้เป็นโรคไวรัสลงกระเพาะ?

โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่เกิดจาก โรต้าไวรัส หรือ ไวรัสโรตา (Rota virus) พบได้ถึงร้อยละ 16 ถึง 58% ของเด็กที่ป่วยเป็นโรคท้องเสียที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล โรคนี้ติดต่อได้ง่าย โดยเฉพาะทางปาก จากอาหาร ของเล่น หรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่โดยรอบตัว เช่น เชื้อไวรัสจากคนที่ป่วยท้องเสีย จะถูกขับออกมาทางอุจจาระ หากขับถ่ายไม่เป็นที่ และกำจัดอุจจาระไม่ถูกต้อง อาจทำให้เชื้อโรคออกมาปนเปื้อนกับสิ่งของต่างๆ ซึ่งเมื่อเด็กหยิบของนั้นเข้าปาก หรือเชื้อโรคติดกับมือคนที่ดูแลเด็กโดยไม่ได้ล้างมือให้สะอาด ก็จะทำให้เด็กได้รับเชื้อ โรต้าไวรัส นี้เข้าไป

อาการของโรคไวรัสลงกระเพาะ?

หลังจากเด็กได้รับเชื้อประมาณ 2-3 วัน จะเริ่มต้นด้วยการมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และมักจะตามด้วยอาการปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเหลว บางคนอาจมีน้ำมูกไหลและไอร่วมด้วย ซึ่งโดยทั่วไปอาการไข้และอาเจียนมักจะหายเองภายใน 2-3 วัน ส่วนอาการท้องเสียมักเป็นอยู่ประมาณ 3-9 วัน

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “ความรุนแรงและอันตรายของโรค” คลิกหน้า 3

ความรุนแรงและอันตรายของโรค?

อาเจียนและท้องเสียนั้นเด็กบางคนอาจมีอาการไม่รุนแรง เพียงดูแลตามอาการก็จะดีขึ้นจนหายไปได้เอง แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนทำให้กินอาหารไม่ได้ ร่างกายขาดน้ำ และเกลือแร่อย่างรุนแรง จนต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล เพราะหากให้น้ำเกลือไม่ทัน อาจจะรุนแรงจนทำให้ช็อก และเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าเด็กโต เพราะภูมิต้านทานน้อยและตัวเล็กกว่า

นอกจากนี้ในรายที่เป็นรุนแรง เชื้อไวรัสโรต้า จะทำลายเยื่อบุลำไส้ ทำให้ลำไส้ขาด ส่งผลให้น้ำย่อยที่ใช้ย่อยน้ำตาลแล็กโทสในนมไม่ทำงาน ทำให้เกิดอาการท้องเสียมากขึ้น ถ่ายเหลว ท้องอืด เวลาถ่ายจะมีแก๊สหรือลมออกมาด้วย หลังจากเด็กกินนมไปไม่นาน และผิวหนังบริเวณก้นรอบทวารหนักจะมีผื่นแดง ถ้ายังให้เด็กกินนมตามปกติจะยิ่งทำให้มีอาการท้องเสียเรื้อรังไม่หาย และเป็นโรคขาดอาหารได้ ดังนั้นการดูแลรักษาที่ถูกต้องจะช่วยให้ลูกหายเร็ว ไม่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรง จนเกิดผลเสียหรืออันตรายต่อชีวิต

วิธีดูแลรักษาเบื้องต้นที่บ้านก่อนพาลูกไปหาหมอ?

ให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่ที่เหมาะสำหรับเด็กท้องเสีย อาจจะเป็นชนิดน้ำ หรือผงเกลือแร่ ไม่ควรใช้น้ำอัดลม และน้ำเกลือแร่ชนิดขวด สำหรับนักกีฬาผสม เพราะปริมาณน้ำตาลเกลือแร่ไม่เหมาะสมกับเด็ก ควรให้ลูกจิบ-ดื่มน้ำเกลือแร่ทีละน้อย แต่บ่อยๆ และไม่ควรให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่ครั้งละมากๆ เพราะอาจทำให้ลูกอาเจียนมากขึ้น

ให้ลูกกินอาหารและนมอย่างไรดีเมื่อลูกอาเจียนและท้องเสีย?

หากเด็กที่มีอาการท้องเสียไม่มาก ควรให้กินอาหารและดื่มนมตามปกติ และไม่ควรเจือจางนม เพราะจะทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ส่วนเด็กที่ท้องเสียอย่างรุนแรง ควรให้กินอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้มหรือโจ๊ก แต่ถ้ามีอาการอาเจียน ควรให้กินอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ เพื่อไม่ให้กระเพาะตึง และช่วยลดอาการอาเจียนลงได้ ควรงดผัก ผลไม้ และน้ำผลไม้ เพราะอาจทำให้อาการท้องเสียมากขึ้น แต่กรณีที่ลูกไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสได้หมอจะเปลี่ยนเป็นนมวัวหรือนมถั่วเหลืองแทนประมาณ 3-7 วัน เพราะไม่มีน้ำตาลแล็กโทส เมื่อเด็กหายเป็นปกติแล้วก็สามารถกลับมากินนมชนิดเดิมได้

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “ยาที่ไม่ควรให้ลูกกิน และเมื่อไหร่ถึงหาหมอ” คลิกหน้า 4

ไม่ควรให้ลูกกินยาประเภทใด?

กรณีที่ลูกมีอาการปวดท้องและอาเจียน อาจให้ยาแก้ปวดท้อง หรืออาเจียนตามอาการได้ แต่ไม่ควรให้กินยาแก้อักเสบ หรือยาปฏิชีวนะ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส การกินยาปฏิชีวนะจึงไม่ช่วยให้โรคนี้หายเร็วขึ้น แต่กลับจะมีผลเสีย และผลข้างเคียง ทำให้อาการท้องเสียมากขึ้และหายช้าลง เพราะผลข้างเคียงจากยา เช่น Amoxycilin, Augmentin ส่วนยาแก้ท้องเสียจะยิ่งทำให้เชื้อโรค หรือสารพิษคั่งค้างอยู่ในลำไส้นานขึ้น

เมื่อไหร่จึงควรพาลูกไปหาหมอ?

หากอาการอาเจียน หรือท้องเสียไม่ดีขึ้น และลูกเริ่มมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง เช่น ปากแห้ง กระหม่อมหรือเบ้าตายุบ ไข้สูง ซึมลง กระวนกระวาย หอบเหนื่อย ปัสสาวะน้อยลง หรืออาการท้องเสียไม่ดีขึ้น ภายใน 3-5 วัน เป็นเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ถ่ายเป็นมูกเลือด หรือมีอาการที่คุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจ ควรพาลูกไปพบแพทย์โดยด่วน

หมอทำอย่างไร เมื่อรับตัวเด็กท้องเสียไว้รักษาตัวที่โรงพยาบาล?

เด็กที่มีอาการอาเจียน หรือท้องเสียจนมีอาการขาดน้ำ หรือเกลือแร่อย่างรุนแรง หมอจะรีบให้น้ำเกลือแร่เข้าหลอดเลือดดำ เพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำ และเกลือแร่นั้นให้เข้าสู่ภาวะปกติ จะตรวจอุจจาระ เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากเชื้อโรคอะไร เพื่อจะได้รักษาให้ถูกต้อง ตรวจเลือดเพื่อดูว่าระดับเกลือแร่ในเลือดมีความผิดปกติมากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้ปรับความเข้มข้นของเกลือแร่ในน้ำเกลือให้เหมาะสม

เมื่อเด็กพ้นภาวะวิกฤตฉุกเฉิน เช่น ภาวะช็อก ระดับเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ หมอจะพิจารณาเริ่มให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่ กินอาหารอ่อน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นอาหารปกติ และดื่มนม เช่น นมแม่ หรือนมชนิดเดิมตามความเหมาะสม แต่ถ้าหากเด็กมีปัญหาไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสได้ จะพิจารณาให้นมที่ไม่มีน้ำตาลแล็กโทสแทนประมาณ 3-7 วัน เมื่ออาการถ่ายดีขึ้นจึงจะพิจารณาให้กลับมากินนมเดิมที่เคยทานอยู่ต่อไป

วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคไวรัสลงกระเพาะ?

วิธีป้องกันที่ดีที่สุดได้แก่

ปัจจุบันเริ่มมีการผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรตาแล้ว วัคซีนบางชนิดกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา บางชนิดอยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพ และบางชนิดเพิ่งได้รับการจดทะเบียน และเฝ้าติดตามประสิทธิภาพในการป้องกันโรค และความปลอดภัยของวัคซีน คาดว่า คงจะมีการนำเข้ามาใช้ในอนาคต

แต่ก่อนจะรอให้วัคซีนมา การป้องกันและดูแลลูกน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

เครดิต: พันทิปดอทคอม

อ่านเพิ่มเติม คลิก!!

รู้จัก ไวรัสโรต้า ต้นเหตุลูกน้อยท้องร่วง พร้อมราคาวัคซีน

ทำความรู้จักวัคซีนโรต้าไวรัส

[Blogger พ่อเอก-04] เมื่อโรต้ามาเยือน

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

 

รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?

Save