AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

นุสบา ท้องร่วงหนัก เชื้อไวรัสโรต้า ระบาด ยังไม่มียารักษา

กำลังระบาดอย่างหนักเลยตอนนี้เลยค่ะ สำหรับ เชื้อไวรัสโรต้า ที่ทำให้มีอาการท้องเสีย ท้องร่วงรุนแรง ซึ่งล่าสุดคนบันเทิงอย่าง นุสบา ปุณณกันต์ ก็เป็นอีกหนึ่งรายที่เจอพิษร้ายจากเชื้อไวรัสโรต้า อย่างหนักเลยทีเดียว

เชื้อไวรัสโรต้า ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับวงการแพทย์ และในหมู่คุณแม่อาจจะเคยได้ยิน และพบเจอกันมาบ้าง  เพราะในทางการแพทย์ เชื้อไวรัสโรต้าเป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักลำไส้อักเสบในทารกและเด็กเล็ก พบบ่อยในเด็กอายุระหว่าง 3  เดือน ถึง 5 ปี ทำให้เกิดอาการอาเจียนและท้องร่วงรุนแรง เสี่ยงต่อการขาดน้ำ ช็อก และอาจเสียชีวิตได้

แต่ในปัจจุบัน กรณีที่เกิดขึ้นกับนักแสดงสาว นุสบา ปุณณกันต์ ทำให้เห็นว่า เชื้อไวรัสโรต้ากลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง และกลายพันธุ์มาสู่ผู้ใหญ่ด้วย ทำให้หลายคนมีคำถามว่า เชื้อไวรัสโรต้านี้ กลายพันธุ์มาสู่ผู้ใหญ่แล้วจริงหรือไม่

“nusbapunnakanta… ขออนุญาตแจ้งข่าวเรื่อง ขณะนี้โรคท้องเสียกำลังระบาดจาก เชื้อ Rotavirus (ไวรัสโรต้า) อาการท้องเสียถ่ายเหลวรุนแรงมาก หลายครั้ง มีอาเจียนร่วมด้วย รวมทั้งมีไข้และปวดท้อง เสียน้ำและเกลือแร่กว่าจะหายใช้เวลา5-10 วัน สัมผัสเชื้อได้ทั่วไปโดยที่เราไม่รู้ตัว อาจล้างมือไม่สะอาด ได้รับเชื้อโดยสัมผัสวัตถุปนเปื้อนหรือบริโภคอาหาร&เครื่องดื่มที่ติดเชื้อ หมอบอกว่าไม่มียาแก้ท้องเสียตัวนี้ ต้องให้น้ำเกลือ อุจจาระถ่ายออกมาเรื่อยๆจนกว่ามันจะหยุดเอง ป้องกันโดยล้างมือให้สะอาดบ่อยๆนะคะ อันตรายมากๆค่ะ ติดต่อทางสัมผัส อาหารปนเปื้อน ไม่สะอาด ดูแลสุขภาพนะคะ นุสร่วงไปคนหนึ่งแล้ว 😨😰”

อ่านต่อ ไวรัสโรต้า กลายพันธุ์ในผู้ใหญ่ จริงหรือ? คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

ไวรัสโรต้า กลายพันธุ์ในผู้ใหญ่ จริงหรือ?

ด้าน  นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำตอบเรื่องนี้ว่า โรคท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้านั้น ต้องขอชี้แจงเพื่อให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนกว่า เดิมเชื้อไวรัสโรต้า มักพบในเด็กอายุ 3 เดือนถึงอายุ 5 ปี แต่แนวโน้มในปัจจุบันเริ่มพบในผู้ใหญ่มากขึ้น การที่พบในผู้ใหญ่เพราะมาจากการปฏิบัติตัว ทั้งอาหาร เราต้องเลือกอาหารที่สุก สะอาด และต้องล้างมือบ่อยๆ และต้องเลือกร้านที่มีคุณภาพ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่มีทั้งร้อน ทั้งหนาว และมีฝนตก ซึ่งย่อมทำให้เชื้อไวรัสต้ามีการเปลี่ยนแปลงและแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น จนทำให้เชื้อไวรัสโรต้าเข้ามากระทบต่อสุขภาพ เกิดภาวะเจ็บป่วยง่ายขึ้น

 

เชื้อไวรัสโรต้า อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ได้ ซึ่งทางนักวิชาการของกรมติดตามเรื่องนี้อยู่ แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่อยากเตือนคือ อากาศที่เปลี่ยนแปลงมีผลมาก ต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ ทานอาหารที่มีคุณค่า และอะไรที่มีความเสี่ยงต่อร่างกาย อย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่ก็ควรหลีกเลี่ยง และขอย้ำว่า เชื้อไวรัสโรต้าสามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะพบในผู้ใหญ่ เพียงแต่ไม่ได้มาก แต่การเจ็บป่วยนั้นขึ้นอยู่กับร่างกาย รวมไปถึงปริมาณของเชื้อที่ได้รับ และสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยทั้งหมด ซึ่งช่วงนี้จะพบว่าคนป่วยอาหารเป็นพิษมากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าอาหารเป็นพิษจะมาจากเชื้อไวรัสโรต้าอย่างเดียว

ทั้งนี้ นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ ยังฝากเตือนอีกว่า ในบางกรณี ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ เพราะในกรณีที่เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถหายได้เองโดยธรรมชาติ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรรับประทาน ดื่มน้ำสะอาดที่ผสมเกลือแร่ เพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายเสียไป แต่หากผิดปกติมากกว่า 2- 3 วัน ควรรีบพบแพทย์ทันที

ซึ่งในวันนี้ (10 ม.ค. 61) กรมควบคุมโรค เตรียมประชุมหารือกับผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ของ เชื้อไวรัสโรต้า และหาแนวทางในการป้องกันต่อไป

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ/มติชนออนไลน์

อ่านต่อ วิธีสังเกตอาการ และการป้องกัน ไวรัสโรต้า คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

รู้จักกับ เชื้อไวรัสโรต้า ให้มากขึ้น

เชื้อไวรัสโรต้าส่วนมากพบในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบเกือบทุกคน จะติดเชื้อไวรัสนี้อย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง การติดต่อของโรคนี้ เกิดจากการกินสิ่งปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อนี้ เช่น เด็กมือเปื้อนแล้วอมหรือดูดนิ้ว หรือเชื้อ/อุจจาระติดกับของเล่น หรือเครื่องใช้ จึงเป็นโรคป้องกันค่อนข้างยาก ดังนั้นจึงมักมีการระบาดของไวรัสโรตาในโรงเรียนเด็กเล็ก หรือสถานเลี้ยงเด็ก เด็กเล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อายุน้อยกว่า 3 เดือน จะมีภูมิคุ้มกันต้านทานต่อ เชื้อไวรัสโรต้า ที่ผ่านรกมาจากแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์และเด็กที่กินนมแม่จะมีภูมิคุ้มกัน เชื้อไวรัสโรต้า

 

เชื้อไวรัสโรต้าที่อยู่ในตัวเด็กที่เป็นโรค จะแพร่ไปให้ผู้อื่นทางอุจจาระได้ ตั้งแต่ประมาณ 1-2 วันก่อนมีอาการท้องร่วงจนกระทั่งประมาณ 10 วันหลังจากเริ่มมีอาการ ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง จะพบเชื้อในอุจจาระนานกว่า 30 วันหลังจากการติดเชื้อ ทั้งนี้ เชื้อที่ออกจากร่างกาย ไปติดตามสิ่งของต่างๆ จะคงทนอยู่นานหลายเดือน หากไม่เช็ดออกด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งเชื้อเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดการติดโรคได้เช่นกัน

วิธีสังเกตอาการ ลูกติดเชื้อไวรัสโรต้า

เมื่อได้รับเชื้อไวรัสโรต้าเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัวสั้น คือส่วนใหญ่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง (ระยะเวลาตั้งแต่ 1-7 วัน) เชื้อเมื่อเข้าสู่ทางเดินอาหารที่ลำไส้เล็กจะทำลายผนังลำไส้เล็ก ทำให้การดูดซึมน้ำและเกลือแร่ลดลง และเอนไซม์ สำหรับย่อยคาร์โบไฮเดรตผิดปกติ ทำให้มีอาการท้องร่วง/ท้องเสีย/ท้องเดิน ถ่ายเป็นน้ำ ไม่มีมูกหรือเลือดปน เด็กอาจจะมีไข้ มีน้ำมูกและไอเล็กน้อยนำมาก่อนคล้ายการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ แต่จะมีอา การช่วงสั้นๆแล้วมีอาการทางเดินอาหารตามมา มักมีอาเจียนมากใน 1-2 วันแรก และท้องร่วงเป็นน้ำพุ่งหลายครั้ง หากไม่ได้รับเกลือแร่เพียงพอจะท้องอืดมาก อาจถ่ายอุจจาระมากจนก้นแดง อาการอาเจียนจะเป็นในช่วงสองวันแรกแล้วดีขึ้น แต่ท้องร่วงจะอยู่นานประมาณ 5-7 วัน

รีบพาลูกน้อยพบแพทย์ด่วน หากมีสัญญาณเตือน ต่อไปนี้

วิธีป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า

ปัจจุบันไวรัสโรต้าเป็นเชื้อไวรัสที่ไม่มียารักษา ดังนั้น การรักษาจึงสามารถทำได้โดยรักษาตามอาการเท่านั้น วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ การล้างมือบ่อยๆ ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง หมั่นดูแลทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ พร้อมเสริมภูมิคุ้มกันด้วยนมแม่ และหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโรค ซึ่งในปัจจุบันพ่อ-แม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการรับวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกัน โดยเริ่มหยอดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์

ที่มา : http://www.siphhospital.com  / www.haamor.com

อ่านต่อ บทความน่าสนใจอื่นๆ

รู้จัก ไวรัสโรต้า ต้นเหตุลูกน้อยท้องร่วง พร้อมราคาวัคซีน

เสียหลานชายวัย 1 ขวบ เพราะ โรต้าไวรัส

แพ็คเกจวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า ประจำปี 2560

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids