AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

อาการโรคพิษสุนัขบ้า แค่ข่วนหรือกัด อันตรายถึงตาย!

คุณพ่อคุณแม่คงได้เห็นเตือนให้ระมัดระวัง อาการโรคพิษสุนัขบ้า อยู่บ่อยๆ โรคนี้อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับหลายคนที่ไม่มีสัตว์เลี้ยง อย่าพึ่งชะล่าใจไป

คุณพ่อคุณแม่คงได้เห็นข่าวเตือนให้ระมัดระวัง อาการโรคพิษสุนัขบ้า อยู่บ่อยๆ โรคนี้อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับหลายคนที่ไม่มีสัตว์เลี้ยง อย่าพึ่งชะล่าใจไปค่ะ เพราะลูกน้อยก็มีโอกาสเสี่ยงถูกสุนัข แมว หรือหนู ที่ไม่มีเจ้าของกัดเอาได้เหมือนกัน ดังข่าวล่าสุดที่ Amarin Baby & Kids นำมายกเป็นอุทาหรณ์

ลูก 19 วัน ถูกสุนัขกัด เฝ้าระวัง อาการโรคพิษสุนัขบ้า

ข้อมูลล่าสุดจากข่าวสด ระบุว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา มีเด็กทารกวัย 19 วัน ถูกสุนัขจรจัดกัดที่ใบหน้า จนเป็นแผลเหวอะ ขณะนอนอยู่ในเปลที่บ้าน โดยคุณแม่เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุได้กล่อมลูกนอนในเปลใต้ถุนบ้าน แล้วไปล้างจานหลังบ้านไม่ถึง 10 นาที ก็ได้ยินเสียงสุนัขคำราม เหมือนกัดอะไรบางอย่าง และพบว่าสุนัขกำลังขย้ำลูกสาวของตัวเอง คุณแม่จึงไล่มันไป หลังจากนั้นจึงร้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน และแจ้งเจ้าหน้าที่ เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงก็พบคุณแม่กำลังร้องไห้กอดลูกสาวที่โชกไปด้วยเลือด จึงรีบนำส่งโรงพยาบาลเป็นการเร่งด่วน

หลังจากนั้น ชาวบ้านและญาติพี่น้องช่วยกันตามล่าสุนัขตัวนั้น และลงมือฆ่า นำหัวสุนัขไปตรวจหาเชื้อพิษสุนัขบ้า โดยญาติเล่าว่า หมู่บ้านที่มีสุนัขจรจัดจำนวนมาก ประมาณ 10-20 ตัว และไม่มีเจ้าของ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา ผลพิสูจน์หาเชื้อพิษสุนัขบ้าพบว่า เป็นสุนัขที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และพบว่ากลุ่มที่เสี่ยงติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจากเหตุการณ์ในครั้งนี้มีทั้งหมด 26 คน เนื่องจากสัมผัสช่วยเหลือเด็ก และสัมผัสเลือดโดยตรง จึงต้องเฝ้าระวัง ซึ่งยืนยันว่า หากใครได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าคนนั้นจะเสียชีวิต

เด็กทารกวัย 19 วัน ถูกสุนัขจรจัดกัดที่ใบหน้า จนเป็นแผลเหวอะ เครดิตภาพ: MThai

สถานการณ์พิษสุนัขบ้า

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้ายังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่อง ช่วงที่ผ่านมาการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยง ได้แก่ สุนัข แมวและโคได้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วและยังคงดำเนินการต่ออย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กรมควบคุมโรคได้รับรายงาน ผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า และยังคงเป็นรายที่ถูกสัตว์เลี้ยงของตนเอง ข่วน แล้วไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

ตัวอย่างรายงานการสอบสวนโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร พบว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นผู้หญิง อายุ 68 ปี ในจังหวัดยโสธร โดยก่อนการเข้าโรงพยาบาลมีประวัติถูกลูกสุนัขอายุ 1 ปีข่วนที่หลังมือเป็นแผลถลอก โดยผู้เสียชีวิตไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน ทำให้ ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งก่อนหน้าถูกข่วนสุนัขมีอาการซึมลง บางครั้งก้าวร้าวและหลังข่วนผู้ป่วยได้หายออกจากบ้านไม่กลับมาอีกเลย

สำหรับยอดผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 18 พ.ค. 2561 รวมแล้ว 9 ราย จาก 9 จังหวัด (สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง หนองคาย และยโสธร) ผลการสำรวจความคิดเห็น เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2561 พบว่า ร้อยละ 51.3 ของกลุ่มตัวอย่าง เมื่อถูกสุนัขแมวกัดหรือข่วน จะไม่ทำอะไรและไม่ไปพบแพทย์ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวทำให้มีความเสียงต่อการ ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และเสียชีวิตสูงมากขึ้น

อ่าน “แค่โดนข่วนก็ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจริงหรือ?” คลิกหน้า 2

แค่โดนข่วนก็ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจริงหรือ?

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนที่ติดต่อผ่านทางกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายสัตว์ที่มีเชื้อเข้าทางบาดแผล ระยะฟักตัวของโรคส่วนใหญ่ประมาณ 2 – 3 เดือน ในบางรายอาจนานเป็นปีหรือหลายปีได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะการสัมผัสโรค บริเวณที่ได้รับเชื้อไวรัส และความรุนแรงของบาดแผล โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข แมว ค้างคาว โค กระบือ สุกร แต่ในประเทศไทยพบมากในสุนัข แมว และโค เป็นต้น

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนที่ติดต่อผ่านทางกัด ข่วน เลีย

นอกจากนี้ นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการของโรคแสดงแล้ว จะไม่สามารถรักษาได้และจะเสียชีวิตอย่างเดียว ดังนั้น หากประชาชนถูกสุนัขและแมว หรือแม้กระทั่งลูกสุนัขหรือลูกแมว อายุ 2-3 เดือน กัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถที่จะ ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า ได้แล้วเพราะฉะนั้นอย่าได้ชะล่าใจ รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง ประมาณ 10 นาที จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และถ้าได้รับการฉีดวัคซีนแล้วให้ไปฉีดวัคซีนให้ครบตามนัดทุกครั้ง

อาการของโรคพิษสุนัขบ้า

ในระยะ 2-3 วันแรก ผู้ป่วยอาจมีไข้ต่ำๆ ต่อไปจะมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณแผลที่ถูกกัด ทั้งๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว ต่อไปจะมีอาการตื่นเต้นง่าย กระสับกระส่าย ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่ชอบลม และไม่ชอบเสียงดัง กลืนลำบาก แม้จะเป็นของเหลวหรือน้ำ เจ็บมากเวลากลืน เพราะการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน แต่ยังมีสติพูดจารู้เรื่อง ต่อไปจะเอะอะมากขึ้น และสุดท้ายอาจมีอาการชัก เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิต เนื่องจากส่วนที่สำคัญของสมองถูกทำลายไปหมด

อ่าน “วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า” คลิกหน้า 3

วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

วิธีสังเกตสุนัขหรือแมวว่า เป็นโรคดังกล่าวหรือไม่นั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จากอาการของสัตว์เลี้ยงซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบด้วยกันดังนี้ค่ะ

  1. แบบดุร้าย สัตว์เลี้ยงจะมีอาการหงุดหงิด ไล่กัดคนรวมถึงสัตว์อื่น ๆ ถ้าผูกโซ่หรือขังกรงไว้ ก็จะกัดโซ่และกรง รวมถึงข้าวของต่าง ๆ จนบางครั้งฟันหักหรือลิ้นเป็นแผลไปเลยก็มี และภายหลังจากที่แสดงอาการดังกล่าวได้แล้วครบ 2-3 วันก็จะอ่อนเพลียลง ขาหลังไม่มีแรง เดินโซเซ และตายในที่สุด
  2. แบบเซื่องซึม สัตว์ที่เป็นโรคดังกล่าวจะชอบอ้าปากหุบไม่ได้ ลิ้นมีสีแดงคล้ำ บางครั้งมีสิ่งสกปรกติดอยู่และลิ้นห้อยออกมานอกปาก มีอาการคล้ายกระดูกติดคอ โดยเจ้าของมักจะเอามือล้วงแต่ไม่พบกระดูก สุนัขจะเอาขาหน้าตะกุยบริเวณแก้มปากและคอบวม สุนัขจะลุกนั่ง ยืน และเดินไปมาบ่อย ๆ กินของแปลก ๆ เช่น ใบไม้ ก้อนหิน หรือบางตัวจะกินปัสสาวะของตัวเอง ไม่กัด ถ้าไม่ถูกรบกวน สุนัขแบบหลังนี้จะสังเกตอาการยากมาก ดังนั้น หากสุนัขตายโดยไม่ทราบสาเหตุ วิธีการตรวจสอบที่ดีที่สุดคือ การตัดหัวไปตรวจสอบนั่นเองค่ะ
สัตว์เลี้ยงมีอาการหงุดหงิดไล่กัดคนรวมถึงสัตว์อื่นๆ ถ้าผูกโซ่หรือขังกรงก็จะกัดโซ่และกรง

กรมควบคุมโรคได้ขอให้ประชาชนป้องกันอย่าให้ถูกลูกสุนัขกัดหรือข่วน โดยยึดหลัก 5 ย. ดังต่อไปนี้

1. อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์

2. อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกัน

3. อย่าแหย่ สัตว์เพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้

4. อย่าหยิบ อาหารขณะสัตว์กำลังกิน

5. อย่ายุ่งกับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย

ดังนั้น ขอให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองอย่าชะล่าใจกันนะคะ แค่โดนลูกสุนัขหรือแมวข่วน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยนะคะ เพราะอาจจะเสี่ยง ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า ได้โดยที่ไม่รู้ตัว เป็นแล้วไม่มีทางรักษาหายนะคะ ไม่อยากให้ลูกหลานหรือสมาชิกในบ้านต้องเสี่ยง ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ไปด้วยอย่าลืมนะคะ! รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาและฉีดวัคซีนทันที หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมอะไร สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 นะคะ

ขอบคุณที่มา: ไทยโพสต์

อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ คลิก!!

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids