AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ป้องกันไข้หวัดใหญ่ และปอดบวมให้ลูกน้อยช่วงหน้าฝน

กรมควบคุมโรคเตือน ฤดูฝนนี้เด็กเล็กป่วยเป็นโรคปอดบวม และไข้หวัดใหญ่ รวมกว่า 40,000 คน โดย นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในฤดูฝนมีการระบาดของเชื้อโรค ทั้งไวรัส และแบคทีเรีย คุณพ่อ คุณแม่ จึงควร ป้องกันไข้หวัดใหญ่ และปอดบวมให้ลูกน้อยช่วงนี้

โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เนื่องจากช่วงอายุหลังจาก 4-6 เดือนไปแล้ว ภูมิคุ้มกันโรคที่ได้รับจากแม่จะลดลง ทำให้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ถ้าลูกน้อยได้รับเชื้อ อาการเจ็บป่วยจะเกิดขึ้นได้ โรคที่ควรระวังคือ ปอดบวม และไข้หวัดใหญ่ จากข้อมูลตั้งแต่ 1 ม.ค.-4 ก.ค. 59 พบว่ามีผู้ป่วยปอดบวมทั่วประเทศ 105,429 คน เสียชีวิต 206 คน และไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วย 55,545 คน เสียชีวิต 4 คน เฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ขวบ พบว่า เป็นปอดบวม 29,808 คน และไข้หวัดใหญ่ 12,771 คน

อาการปอดบวมในเด็ก

นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคปอดบวมมักเป็นอาการแทรกซ้อนจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคหัด พบบ่อยในเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ น้ำหนักตัวน้อย ขาดสารอาหาร อาการปอดบวมจะมีไข้สูง เกิดขึ้นก่อน หรือพร้อมการมีปอดบวม ไอมาก ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะ หายใจเร็วจนชายโครงบุ๋ม เวลาหายใจจะเห็นปีกจมูกบาน หอบเหนื่อย บางคนหายใจเสียงดัง ถ้ามีเชื้อรุนแรงหรือไม่ได้รักษาได้ทันทีอาจเสียชีวิตได้

การป้องกันสำหรับลูกน้อย

1.พาลูกน้อยไปฉีดวัคซีนป้องกันโรค ลูกน้อยควรได้รับนมแม่ และรับประทานอาหารครบ 5 หมู่

2.ถ้าอากาศหนาวเย็นควรสวมเสื้อผ้าที่อบอุ่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสโรค ไม่คลุกคลีกับคนป่วย

3.ไม่พาลูกน้อยไปสถานที่แออัด ฝึกให้ลูกน้อยล้างมือบ่อยๆ

4.ดูแลบ้านให้อากาศถ่ายเทสะดวก เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ควรเลี้ยงที่บ้าน

5.ถ้าลูกน้อยไอ หายใจลำบาก หอบ หายใจเร็ว แรง จนชายโครงบุ๋ม  หายใจเสียงดัง รีบพาไปพบแพทย์ทันที

อ่านต่อ “การป้องกันสำหรับพ่อแม่ และรักษาลูกน้อยเมื่อไม่สบาย” คลิกหน้า 2

การป้องกันสำหรับคุณพ่อ คุณแม่

1.ดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ครบ 5 หมู่ ใช้ช้อนกลาง

2.ล้างมือบ่อยๆ รักษาอุณหภูมิร่างกายให้เหมาะสม สวมเสื้อผ้าที่เหมาะสมตามสภาพอากาศ

3.พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน เพราะถ้าคุณพ่อ คุณแม่อดนอนแล้วร่างกายจะอ่อนแอ

4.หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการไอ จาม จากคนป่วยที่มีเชื้อในร่างกาย

การดูแลรักษาลูกน้อยเมื่อไม่สบาย

ถ้ามีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ต่ำๆ ยังรับประทานได้ อาจไปพบแพทย์ หรือซื้อยา และขอคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน

ดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น เหนื่อยหอบ หรืออาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ควรไปพบแพทย์ทันที ถ้าสงสัยสามารถโทรปรึกษากรมควบคุมโรค โทร.1422

เครดิต: สำนักโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค