เตือนพ่อแม่! ของเล่นเด็ก เหล่านี้…? ไม่ควรซื้อให้เล่น ถ้ามีเก็บทิ้งด่วน..ตรวจพบ “สารทาเลต” เกินมาตรฐาน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและเสี่ยงทำให้ฮอร์โมนเพศผิดปกติ
ตรวจพบ ของเล่นเด็ก มี “สารทาเลต” เกินมาตรฐาน!
ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ได้ทำการสุ่มตรวจตัวอย่าง ของเล่นเด็ก และพบว่ามีการปนเปื้อนสารเคมีทาเลต (phthalates) เกินมาตรฐาน ซึ่งสารทาเลตนี้มีผลต่อการเจริญเติบโตและเสี่ยงทำให้ฮอร์โมนเพศชายของเด็กผิดปกติ
ซึ่งได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่าง ของเล่นเด็ก รวมไปถึงของใช้ประเภทพลาสติกพีวีซี (PVC) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้พลาสติกอ่อนตัว ทำให้ของเล่นที่มีสารชนิดนี้ส่วนใหญ่เป็นของเล่นที่มีลักษณะอ่อนนิ่ม บีบจับและนำเข้าปากง่าย จำนวน 51 ตัวอย่าง จากห้างสรรพสินค้า ท้องตลาดและหน้าโรงเรียนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ รวมไปถึง ของเล่นเด็ก ที่ขายในเว็บไซต์ออนไลน์ นำไปส่งตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารทาเลต 6 ชนิด ที่สกัดได้จากพลาสติก ยาง และสารเคลือบจากผิวของเล่นที่เด็กอาจสัมผัส
โดยพบปริมาณสารทาเลตเกินกว่าค่ามาตรฐานสากล 18 ชิ้น และที่น่าตกใจ คือ พบสารชนิดนี้ทั้ง ของเล่นเด็ก ที่มีเครื่องหมาย มอก. และ ไม่มีเครื่องหมาย มอก. โดยแบ่งของเล่นที่สุ่มตรวจเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. ⊕กลุ่มที่มีเครื่องหมาย มอก. และตรวจไม่พบทาเลต หรือพบแต่ไม่เกิน 0.1
(ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด)
มี 12 ชิ้น ได้แก่ ยางกัดมีที่จับ ยี่ห้อ Mind Care, ยางกัดเป็ด (สีชมพู) ยี่ห้อ Tesco loves baby, ยางกัด (สีน้ำเงิน) ยี่ห้อ Playskool baby, ตุ๊กตาพ่นน้ำ, กรุ๊งกริ๊ง (สีน้ำเงิน), ชุดตุ๊กตาไดโนเสาร์, อมยิ้มด้ามยาว, ชุดทำอาหารพลาสติก, ตุ๊กตากระต่าย (สีเหลือง), หุ่นยนต์ซุปเปอร์ฮีโร่, ชุดผลไม้ผ่าครึ่ง และตุ๊กตาช้าง (สีน้ำเงิน) ยี่ห้อ NB Toys
2. ⊗กลุ่มที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. และตรวจไม่พบทาเลต หรือพบแต่ไม่เกิน 0.1
(ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด)
มี 21 ชิ้น ได้แก่ ช้อน (สีแดง), พวงกุญแจม้า (สีเหลือง), ช้าง (สีส้ม), หมี (สีเทา), ไดโนเสาร์ (สีชมพู), ลูกบอลยาง (มีไฟกระพริบ), ลูกบอลยาง, ชุดตักดิน, ตุ๊กตาสัตว์เล็ก, แหวนยาง, ตุ๊กตาหนู (สีม่วง-เทา), แม่เหล็กผีเสื้อ, พวกกุญแจโมชิ (สีชมพู), ยางกัดทรงห่วงกลม, ยางกัดลายแมว, ยางกัดน้ำ fin, ที่กัดเด็ก, ยางกัดยีราฟ (สีเหลือง), ยางกัดรูปหัวใจ (สีแดง-เขียว), ตัวต่อไดโนเสาร์ และรถตักดิน
อ่านต่อ >> “รายชื่อกลุ่มตัวอย่างของเล่นเด็ก
ที่ตรวจพบทาเลตเกินเกณฑ์ที่กำหนด” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เผยรายชื่อ ของเล่นเด็ก ที่สุ่มตรวจสารทาเลต (ต่อ)
3. ⊕กลุ่มที่มีเครื่องหมาย มอก. และตรวจพบทาเลตเกิน 0.1 (เกินเกณฑ์ที่กำหนด)
มี 7 ชิ้น ได้แก่ พะยูนสีเขียว (35.73), แมวน้ำสีชมพู (34.51), ยางบีบผลไม้ (33.17), ตุ๊กตาเป็ดสีเหลือง ยี่ห้อ Baby gift set (30.34), ตุ๊กตาหมี สีน้ำเงิน ยี่ห้อ NB Toys (27.529), ตุ๊กตาไก่สีเหลือง (22.593) และชุดบล็อกต่อ (12.94)
4. ⊗กลุ่มที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. และตรวจพบทาเลตเกิน 0.1 (เกินเกณฑ์ที่กำหนด)
มี 11 ชิ้น ได้แก่ ยางบีบหมู (37.863), พวงกุญแจสไปเดอร์แมน (36.688), แรคคูณสีเหลือง (36.422), สายรัดข้อมือสีชมพู (33.84), ตุ๊กตาบีบสัตว์ (33.18), เป็ดสีเหลือง (28.436), ตุ๊กตาเจ้าหญิง (18.83), พวงกุญแจจระเข้ (17.56), ตุ๊กตาเจ้าหญิง (9.485), พวงกุญแจยางไดโนเสาร์ (5.43) และตุ๊กตาม้า (2.92)
จาก ของเล่นเด็ก ข้างต้นที่ตรวจพบทาเลตเกิน 0.1 นั้น มาตรฐานของเล่นสหภาพยุโรป มีเกณฑ์กำหนดสูงสุดของปริมาณรวมของอนุพันธ์ทาเลตในของเล่นทั่วไป และของเล่นสำหรับเด็กอายุ 3 ขวบ และมีส่วนที่นำเข้าปากได้ไว้ไม่เกิน 0.1% โดยมวล
ทั้งนี้ในการติดตามภาวะสุขภาพประชาชนในอเมริกา พบมีสารทาเลตสะสมในร่างกาย เนื่องจากสารชนิดนี้อยู่ในผลิตภัณฑ์ทั่วไป เช่น สบู่ ยาสระผม และจากการวิจัยกับสัตว์ทดลองในต่างประเทศ หากรับสารเคมีทาเลตเข้าไปจะมีผลกระทบต่อการทำงานของตับ เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย โดยกลไกการออกฤทธิ์จะต้านแอนโดรเจน หรือฮอร์โมนเพศชาย รวมถึงสารทาเลตบางชนิดยังเป็นสารก่อมะเร็ง จึงออกมาตรการควบคุมปริมาณสารเคมีทาเลต โดยเริ่มจากของเล่นเด็กและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ให้มีได้ไม่เกินร้อยละ 0.1
ซึ่งในส่วนของมาตรฐานสากลและในหลายประเทศได้ควบคุมสารทาเลต แต่ไทยอยู่ระหว่างร่างแก้ไขมาตรฐานของเล่น มอก. 685/2540 ซึ่งใช้มานานกว่า 22 ปี โดยบรรจุเรื่องการควบคุมการใช้สารทาเลตไว้ 6 ชนิด ไม่ให้เกิน 0.1% โดยมวล พร้อมกับการเตรียมห้องทดสอบไว้เพื่อตรวจเมื่อประกาศใช้ คาดว่าปลายปีนี้จะประกาศใช้
ซึ่งจะเพิ่มความปลอดภัยให้กับเด็ก พร้อมเสนอให้พัฒนาระบบตรวจสอบ ของเล่นเด็ก หลังวางจำหน่ายในตลาดให้เข้มข้นขึ้น เพราะปัจจุบันการตรวจหลังวางจำหน่ายแล้วมีน้อย เน้นตรวจก่อนการวางจำหน่ายว่าเป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่มากกว่า
5 หลักการเลือกซื้อ ของเล่นเด็ก ให้ปลอดภัยจากสารเคมี
ดังนั้นแล้วจากสารเคมีอันตรายที่พบอยู่ใน ของเล่นเด็ก ข้างต้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรทราบถึงหลักวิธีในการเลือกซื้อของเล่นให้ลูกน้อยอย่างปลอดภัย ห่างไกลจากสารเคมีต่างๆ โดยดูที่
- หลีกเลี่ยงของเล่นที่ราคาถูกมากๆ เพราะมักจะมีสารเคมีที่เป็นอันตรายมากกว่า
- อย่าซื้อของเล่นที่มีกลิ่น สี หรือ สารเคมีรุนแรง รวมไปถึงกลิ่นน้ำหอมหรือของที่ให้ความรู้สึกไม่สบายเวลาสัมผัส
- สำหรับเด็กเล็ก ควรระวังเรื่องไม่ให้เป็นของเล่นที่มีชิ้นส่วนเล็กๆ ที่สามารถดึงออกมา หรือกลืนลงไปได้
- ควรแกะบรรจุภัณฑ์ของเล่นใหม่และทิ้งไว้ภายนอกอาคาร เพื่อให้สารเคมีอันตรายบางส่วนระเหยไป
- ซื้อของเล่นยิ่งน้อยชิ้นยิ่งดี โดยเน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ และที่สำคัญของเล่นที่ดีที่สุดของลูกก็คือ “พ่อแม่” นั่นเอง
Must read : ประโยชน์ของการเล่น จ๊ะเอ๋ ที่พ่อแม่คาดไม่ถึง
ทั้งนี้หากจะซื้อตุ๊กตา ควรเป็น ตุ๊กตาผ้าหรือตุ๊กตาที่เป็นธรรมชาติ หรือจากผู้ผลิตที่ไร้สารเคมีที่เป็นพิษ หรือมีฉลากสิ่งแวดล้อม เช่น ฉลาก GS ฉลากเขียว และฉลากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ และต้องซักของเล่นพร้อมตากให้แห้งก่อนใช้
หากเป็นของเล่นไม้ ให้เลือกที่มีส่วนที่ติดกาวให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และต้องเป็นไม้ที่ไม่เคลือบเงาและไม่ทาสี จะยิ่งดี ในส่วนของ “ของเล่นจำพวกยางหรือพลาสติก” ให้เลือกที่เป็นยางธรรมชาติ มองหาฉลาก “ปลอดพีวีซี PVC-Free” หรือ “ปลอดสารพทาเลต Phathalate-Free” จะดีที่สุด
อย่างไรก็ตามนอกจากการที่อยากให้ลูกได้สนุกกับของเล่นใหม่ๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าลืมระมัดระวังเรื่องการเลือกซื้อของเล่นที่ปลอดภัยเหมาะสมตามวัย และปลอดจากสารพิษ อันจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของลูกกันด้วยนะคะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก :
- ของเล่นเสริมพัฒนาการ เด็กแรกเกิด-6 เดือน แบบไหนเหมาะกับวัยลูก?
- ระวัง! 5 ของเล่นเด็กอันตราย เด็กทุกวัยควรหลีกเลี่ยง
- ของเล่นอันตราย ออบีซ หมอเตือนเด็กเผลอกินอาจเสียชีวิตได้
- 20 ของเล่นเสริมพัฒนาการลูก ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น
- วิธี เลือกของเล่นให้ลูก อย่างไรให้ปลอดภัย
ขอบคุณข้อมูลข่าวและภาพจาก : news.thaipbs.or.th , consumerthai.org
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่