AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

โรคปอดบวมในเด็ก ภัยของเจ้าตัวเล็กที่มักมากับอากาศหนาว

โรคปอดบวมในเด็ก ระบาดหน้าหนาว

โรคปอดบวมในเด็ก หรือ โรคปอดอักเสบ เป็นหนึ่งใน 6 โรคที่ สธ.ประกาศเตือนให้ระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงอากาศเย็น ซึ่งโรคปอดบวมนั้นพบประมาณร้อยละ 8 -10 ของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ และยังเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พยากรณ์ของโรคจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคปอดบวม การรักษาที่เหมาะสม ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น และโรคประจำตัว

แม้ “โรคปอดบวม” จะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้เพราะมีวัคซีนป้องกันและยารักษา แต่ก็มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงเช่นเดียวกัน ล่าสุด องค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยตัวเลขว่ามีเด็กจำนวนกว่า 800,000 คนต่อปีเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวม

สาเหตุของ โรคปอดบวมในเด็ก

เกิดจากการอักเสบของเนื้อปอด สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และ Atypical Pathogen เชื้อแบคทีเรียที่พบได้บ่อยที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม ได้แก่ นิวโมคอคคัส หรือฮีโมฟิลุส ส่วนเชื้อไวรัส ได้แก่ อาร์เอสวี ไข้หวัดใหญ่ และเชื้อ Atypical Pathogen ที่ทำให้เกิดโรคปอดบวมได้บ่อย ได้แก่ ไมโครพลาสม่า

เมื่อทารกป่วย แม่ต้องคอยสังเกตอาการให้ดี

วิธีสังเกต อาการปอดบวม

เด็กจะมีไข้ บางรายอาจมีอาการหนาวสั่น ไอมีเสมหะ อัตราการหายใจเร็วกว่าปกติ หรือหอบ ในบางรายอาจมีอาการอื่นๆ เช่น เจ็บชายโครงขณะหายใจลึกๆ หรือไอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว ถ้าอาการปอดบวมเป็นรุนแรง อาจมีการหายใจลำบาก หน้าอกบุ๋ม ปีกจมูกบาน ริมฝีปากเขียว อัตราการหายใจเร็วกว่าปกติ ขึ้นกับอายุของเด็ก ดังนี้

โรคปอดบวมในเด็ก

การวินิจฉัย

ดูจากประวัติผู้ป่วยคือ มีไข้ ไอ หอบ ร่วมกับการตรวจร่างกายจะพบว่ามีเสียงเสมหะผิดปกติในปอด กรณีที่มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดเสียงหายใจบริเวณนั้นจะเบาลง เคาะปอดแล้วได้เสียงทึบกว่าส่วนอื่น ในรายที่เป็นรุนแรงจะตรวจพบค่าออกซิเจนต่ำ โดยอาจเอกซเรย์ปอดและเจาะเลือดเพื่อช่วยในการวินิจฉัย นอกจากนี้การตรวจเพาะเชื้อเสมหะในผู้ป่วยบางรายอาจช่วยในการวินิจฉัยและรักษาได้

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

การรักษาโรคปอดบวมในเด็ก

  1. การรักษาจำเพาะ

ในรายที่เป็นโรคปอดบวมจากเชื้อไวรัสจะไม่มียารักษาที่จำเพาะ การรักษาเป็นเพียงการประคับประคอง ในกรณีสงสัยเชื้อแบคทีเรีย จะให้ยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 7-21 วัน ขึ้นกับเชื้อและความรุนแรง

  1. การรักษาทั่วไป

ผู้ป่วยโรคปอดบวมที่มีอาการหอบ ไข้สูง เสมหะเหนียว เบื่ออาหาร จำเป็นต้องให้สารน้ำให้เพียงพอ และในรายที่มีการหายใจเร็ว หอบ ชายโครงบุ๋ม กระวนกระวาย หรือซึม และตรวจพบว่ามีออกซิเจนต่ำควรพิจารณาให้ออกซิเจนด้วย หากได้ยินเสียงวี้ดให้ใช้ยาขยายหลอดลม และพิจารณาให้ยาขับเสมหะหรือยาละลายเสมหะในรายที่อาการไอและมีเสมหะมาก ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดทรวงอก ได้แก่ การจัดท่าระบายเสมหะ การเคาะปอด และช่วยดูดเสมหะเพื่อช่วยระบายเสมหะที่คั่งค้างในหลอดลมออกมาได้

โรคปอดบวมในเด็ก

การรักษาอื่นๆ ตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้และเช็ดตัว ในผู้ป่วยที่มีภาวะการหายใจล้มเหลวหรือหยุดหายใจแพทย์จะพิจารณาใส่ท่อหลอดลมคอและเครื่องช่วยหายใจ

นอกจากนี้ พญ.มณินทร ยังได้ฝากถึงข้อพึงปฏิบัติเพื่อการป้องกันลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคปอดบวมไว้ดังนี้

โรคปอดบวมในเด็ก

นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนเสริมบางชนิดที่ช่วยลดการเกิดโรคปอดบวมในเด็ก ได้แก่

  1. วัคซีนไอพีดี ซึ่งจะป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส
  2. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ป้องกันโรคปอดบวมจากไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามฤดูกาลในปีนั้นๆ

ผู้เลี้ยงดูเด็กทุกท่านควรรู้จักอาการแรกเริ่มของโรคปอดบวม และควรพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อรักษาแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าและเพื่อให้เด็กหายป่วยไว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ พัฒนาการ และการเรียนต่อไปค่ะ


บทความโดย : พญ.มณินทร วรรณรัตน์ กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111

ภาพ : shutterstock

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?

RSV คืออะไร? ตรวจหา RSV ทำอย่างไร? ราคาเท่าไหร่?

โรคหัดระบาด ช่วงไหน ไข้ออกผื่นแบบนี้ ลูกเป็นโรคหัดหรือเปล่า?

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids