โรคปอดบวมในเด็ก อันตรายมาก หากหาหมอช้า! เสี่ยงภาวะติดเชื้อและเกิดอาการช็อกได้!
คุณพ่อคุณแม่คะ โรคปอดบวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กนั้นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลยนะคะ องค์การอนามัยโลก ได้ระบุว่า ปอดบวม เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจในเด็กที่รุนแรงและมีปัญหามากที่สุด โดยในแต่ละปี มีเด็กทั่วโลกโดยเฉพาะเด็กเล็ก เสียชีวิตจากโรคปอดบวมปีละประมาณกว่า 2 ล้านคน โดยทุก ๆ นาทีจะมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตจากโรคปอดบวมอย่างน้อย 1 คน ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เตือนให้ทุกประเทศเฝ้าระวังสถานการณ์โรคปอดบวมอย่างจริงจังแล้ว เพื่อเป็นการลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กทั่วโลก
สำหรับประเทศไทยเองนั้น โรคปอดบวม ก็จัดได้ว่าเป็นโรคที่อยู่ในลำดับ 1 ใน 8 โรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูหนาว
ความน่ากลัวของโรคนั้นมีมากเสียเหลือเกินค่ะ ดังเช่น เรื่องราวที่ทีมงาน Amarin Baby and Kids จะมานำเสนอในวันนี้นั้น เป็นเรื่องราวของหนูน้อยชาวอินเดีย ที่มีอายุได้เพียงหนึ่งปี และป่วยเป็นโรคดังกล่าวจนถึงขั้นที่เกือบจะต้องสูญเสียขาข้างนึงไป
เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น อ่านต่อได้ที่หน้าถัดไปเลยค่ะ >>
อารัธยา หนูน้อยชาวอินเดียวัย 1 ปี เกือบที่จะต้องถูกตัดขา เพราะป่วยเป็นโรคปอดบวม และมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจฉับพลัน ทำให้หนูน้อยหายใจลำบาก หายใจเร็ว ส่งผลให้ขาขวาของเธอเกิดภาวะขาดออกซิเจนอย่างหนัก จนถึงขั้นที่คุณหมอแนะนำให้ตัดขา หากไม่สามารถแก้ไขอะไรได้
คุณพ่อของอารัธยา เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะนำตัวลูกสาวส่งโรงพยาบาลนั้น อารัธยา เป็นหวัดและเริ่มมีไข้สูง คุณพ่อกับคุณแม่ก็เลยเช็ดตัวและให้ทานยาลดไข้ปกติไม่ได้พาไปหาหมอแต่อย่างใด แต่พอหลังจากนั้นแค่หนึ่งวัน อารัธยา ก็เริ่มมีอาการอื่นแทรกซ้อนเข้ามาด้วยก็คือ หายใจเร็ว ไม่ยอมแม้แต่จะทานน้ำหรืออาหาร ซึม ขาของเธอเริ่มเปลี่ยนสี ดวงตาเริ่มโตเหลือกคล้ายกับคนกำลังจะชัก! พอเห็นลูกมีอาการไม่สู้ดี ทั้งคู่จึงรีบนำตัวลูกสาวส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
แต่โรงพยาบาลใกล้บ้านไม่รับ บอกว่าห้อง ICU เต็มให้ไปโรงพยาบาลอื่นแทน ซึ่งกว่าจะมาถึงโรงพยาบาลใหญ่นั้นอาการของ อารัธยา ก็ดูเหมือนจะเริ่มแย่ขึ้นเรื่อย ๆ กว่าจะมาถึงโรงพยาบาลฮินดูจา ก็พาไปเกือบเที่ยงคืนแล้ว พอคุณหมอเห็นคุณหมอรีบนำตัวลูกสาวเข้าห้อง ICU พร้อมกับให้ยาทันที
คุณหมอบอกว่า อาการของเธอแย่มาก ต้องรีบใส่เครื่องช่วยหายใจและต้องเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดจริง ๆ ส่วนเรื่องขานั้น หากมาช้าอีกแค่นิดเดียว อาจจะต้องสูญเสียไปทั้งขาได้ แต่ครั้งนี้คุณหมอจะผ่าตัดเอาส่วนที่เป็นเนื้อที่ตายแล้วออกไปแทน!
คุณพ่อเล่าต่อว่า ทั้งคุณพ่อและภรรยาต่างพากันนั่งร้องไห้หน้าห้องผ่าตัด เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ได้แต่เฝ้าภาวนาขอให้ลูกสาวปลอดภัย หลังจากที่ผ่าตัดเสร็จ อารัธยา ต้องนอนพักฟื้นและดูอาการต่อในห้อง ICU ทั้งหมดใช้ระยะเวลากว่า 20 วัน พวกเรากลัวว่าเธอจะเดินไม่ได้เสียด้วยซ้ำ แต่ดีที่เธอสู้! หลังจากนั้นไม่นาน คุณหมอก็อนุญาตให้เธอย้ายไปพักฟื้นต่อในห้องพักผู้ป่วยปกติต่อไป แต่ก็ยังไม่อนุญาตให้กลับบ้าน เพราะต้องการให้แน่ใจก่อนว่า อารัธยา ปลอดภัยแล้วจริง ๆ
ทำความรู้จักกับโรคปอดบวมเพิ่มเติมได้ที่หน้าถัดไปค่ะ >>
เครดิต: Milaap
ทำความรู้จักกับ “โรคปอดบวมในเด็ก”
พญ.พนิดา ศรีสันต์ กุมารแพทย์ ประจำสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ให้ข้อมูลว่า ในช่วงที่อากาศแปรปรวน ภัยร้ายอย่างปอดบวมอาจจะมาเยือนลูกหลานของคุณได้ ถ้าไม่ทันระวัง โดยโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบในเด็ก เป็นการอักเสบติดเชื้อเฉียบพลันของเนื้อปอด รวมทั้งหลอดลมส่วนปลายและถุงลม ทำให้ความสามารถในการทำงานของทางเดินหายใจลดลง เป็นโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยรุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อย อายุต่ำกว่า 1 ปี มีโรคขาดอาหาร โรคเรื้อรัง หรือความพิการแต่กำเนิด โอกาสที่จะเกิดโรคปอดบวมมีสูงมาก
“จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่า โรคปอดอักเสบเป็นสาเหตุของการตายเป็นอันดับหนึ่งในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี และในแต่ละปีจะมีเด็กทั่วโลกที่เสียชีวิตจากปอดอักเสบปีละ 2.4 ล้านคน” คุณหมอพนิดากล่าว
อาการของโรคนั้นได้แก่ มีไข้ต่ำจนถึงไข้สูง ไอ เริ่มหอบเหนื่อย เพลีย ซึม ไม่ค่อยทานน้ำและอาหาร (หากลูกอยู่ในอาการระยะนี้ต้องรีบพบแพทย์ทันที)
สำหรับวิธีการป้องกันนั้น คุณหมอกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสโรค โดยไม่ควรให้เด็กใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยทุกประเภท หลีกเลี่ยงการนำเด็กไปอยู่ในที่แออัด เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีควรดูแลที่บ้าน หากทำได้ควรหลีกเลี่ยงการส่งลูกไปเลี้ยงตามสถานเลี้ยงเด็กต่าง ๆ และถ้าหากลูกมีอาการไอ จาม มีน้ำมูก ควรพิจารณาใช้ผ้าปิดปากและจมูก หมั่นทำความสะอาดของเล่นบ่อย ๆ
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่คะ อย่าลืมฝึกให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ และสอนไม่ให้ขยี้ตาหรือจมูก ควรดูแลความสะอาดของบ้านเรือนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และไม่สร้างสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เป็นหวัดและปอดบวมได้ง่าย เช่น การอยู่ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ บ้านที่ใช้ฟืนหุงต้มอาหารและมีควันในบ้าน เป็นต้น
เครดิต: ไทยรัฐ และพญ.พนิดา ศรีสันต์ กุมารแพทย์ ประจำสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
อ่านต่อเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่