AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ยาอมแก้เจ็บคอ และบรรเทาอาการไอที่ถูกจัดให้เป็นยาอันตราย

เตือนภัย ยาอมแก้เจ็บคอ ถูกจัดเป็นยาอันตราย

เมื่อคุณพ่อ คุณแม่และลูกน้อยมีอาการไอ หลายคนจะซื้อ ยาอมแก้เจ็บคอ มาบรรเทาอาการเจ็บคอ และไอร่วมด้วย ตามร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป มักวางยาอมไว้ในที่ๆ สะดวกในการหยิบได้ตามใจชอบ คุณพ่อ คุณแม่คงเคยลองอ่านฉลากยา แล้วรู้หรือไม่ว่ายาอมบางชนิดเป็นอันตราย

คนไทยเสียชีวิตจากการดื้อยาปีละกว่า 3 หมื่นคน เพราะใช้ยาต้านแบคทีเรียเกินจำเป็น และเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด เพราะพ่อแม่ใช้เพื่อการรักษาผิดประเภท

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พบคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยา 88,000 คน และเสียชีวิตอย่างน้อยปีละ 20,000-38,000 คน เพราะการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมตามท้องตลาด โดยพบว่ายาอมไม่ควรมีส่วนผสมของยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เพราะ 80% ของการเจ็บคอไม่ได้เกิดจากเชื้อดังกล่าว อาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในลำไส้

นพ.พิสนธ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยาอมแก้เจ็บคอมีการผสมสารปฏิชีวินะ 2 ประเภท คือ นีโอมัยซิน และเบซิทราซิน ในปริมาณไม่มาก ทำให้ไม่เพียงพอในการฆ่าเชื้อ แต่กลับทำให้แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่เกิดการต่อต้านและกลายพันธุ์เป็นแบคทีเรียดื้อยา ส่วนที่อมแล้วรู้สึกดีขึ้น เพราะมียาชา

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า กำลังพิจารณาถอนทะเบียนยาที่มีมากกว่า 10 รายการ โดยอยู่ระหว่างการหาข้อมูลทางวิชาการมาประกอบการพิจารณาให้มากเพียงพอ ขณะนี้วิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้า ทำให้ทราบว่ายาอมมีความไม่เหมาะสม และทำให้มีโอกาสดื้อยา

รศ.พญ.ดร.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า เด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อดื้อยาสูงสุด เพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันที่พัฒนาได้ไม่เต็มที่ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่พ่อแม่ไม่รู้วิธีรักษาเบื้องต้น จึงให้ยาเพราะความเข้าใจผิด

บัญชียาอันตราย

อ่านต่อ “ส่วนประกอบของยาอม และวิธีใช้ยา” คลิกหน้า 2

ส่วนประกอบของยาอมแก้เจ็บคอ และบรรเทาอาการไอ

ยาอมแก้เจ็บคอ อันตราย

1.ยาชาเฉพาะที่ และยาแก้ปวด ลดการอักเสบ เป็นยาบรรเทาความรู้สึกเจ็บในลำคอ

2.สารฆ่าเชื้อ/ทำให้ปราศจากเชื้อ เป็นตัวทำความสะอาดในช่องปากและลำคอ

3.ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ มีประสิทธิภาพของยาน้อยมาก และอาการเจ็บคอสามารถเกิดได้จากการติดเชื้อ และไม่ติดเชื้อ เมื่อติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นไวรัส เช่น เจ็บคอเพราะหวัด สามารถหายได้เอง แต่ถ้าเกิดจากแบคทีเรีย เช่น คอหอยอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ยาในการรักษาคือยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน

4.ยาอมแก้ไอมี 2 ชนิดคือ ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน สำหรับอาการไอแห้ง และยาแอมบรอกซอล สำหรับอาการไอมีเสมหะ ปริมาณยาอม 1 เม็ดจะมีน้อยกว่ายาเป็นรับประทาน

วิธีใช้ยาอมแก้เจ็บคอ และบรรเทาอาการไอ

ยาอมเป็นเพียงยาบรรเทาอาการเจ็บคอ และไอ โดยยาบางชนิดถูกจัดให้เป็นยาอันตราย ซึ่งต้องขอคำแนะนำจากแพทย์ และเภสัชกร และยาบางชนิดเป็นยาสามัญประจำบ้านที่สามารถซื้อได้เอง

คุณพ่อ คุณแม่ควรอ่านฉลากยา และข้อบ่งใช้ให้ชัดเจน อ่านคำเตือนต่างๆ เช่น

คุณพ่อ คุณแม่ และลูกน้อยไม่ควรอมยาเท่าไหร่ก็ได้ตามต้องการ เพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาได้ ถ้าใช้ยาอมติดต่อกัน 2-3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปหาคุณหมอเพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี

อ่านต่อ “ยาอมที่ถูกจัดเป็นยาอันตราย และวิธีบรรเทาอาการเจ็บคอโดยไม่พึ่งยาอม” คลิกหน้า 3

ยาอมที่ถูกจัดให้เป็นยาอันตราย

1.ยาอมแก้อักเสบ เฟอร์บิโพรเฟน เป็นยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ถ้าใช้มากเกินไป อาจทำให้เกิดแผล และมีเลือดออกในทางเดินอาหาร โดยเฉพาะคนที่เคยเป็นแผลในกระเพาะอาหารอยู่แล้ว

2.ยาแก้ไอ เดกซ์โทรเมทอร์แฟน ถ้าใช้มากเกินไป จะทำให้ง่วงซึม เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ได้

3.ยาอมเบนโซเคน ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายน้อยลง

4.ยาอมซิกาทริซิน มายบาซิน สเตร็ปซิล จัดอยู่ในยาอันตราย อาจทำให้หูหนวก การทรงตัวผิดปกติ ถ้าอมมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ผิวหนังไหม้ ผู้ที่แพ้ยามากอาจรุนแรงจนเสียชีวิต

วิธีบรรเทาอาการเจ็บคอโดยไม่ต้องพึ่งยาอม

1.พักผ่อนให้เพียงพอ

2.หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด น้ำเย็น ของทอด ของมัน

3.ดื่มน้ำอุ่นมากๆ

4.กลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ โดยนำเกลือ 1 ช้อนชา ละลายในน้ำอุ่น 1 แก้ว (เกลือสำเร็จตามร้านขายยา)

5.ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง

เครดิต: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, หาหมอ.com, ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวอิศรา

Save