ไข้มาลาเรีย หรือไข้ป่า มีมานานตั้งแต่สมัยอยุธยาเลยนะคะเนี่ย บอกเลยว่าที่แม่นายการะเกดสอน วิธีป้องกันไข้มาลาเรีย ในละครเรื่องบุพเพสันนิวาส มีประโยชน์กับแม่ๆมากเลยค่ะ วันนี้ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอนำวิธีการกำจัดยุง และป้องกันไข้มาลาเรีย ของออเจ้า มาบอกต่อกันอีกทีนะเจ้าคะ
แม่นายการะเกด สอนวิธีป้องกัน ไข้มาลาเรีย
จากฉากที่มีบ่าวในเรือนของพี่หมื่นป่วยเสียชีวิตนั้น อาการก่อนหน้านี้ที่เห็นได้ชัดคือ มีอาการหายใจหอบ หนาวสั่น เป็นไข้ จนในที่สุดก็เสียชีวิตลง และมีอีกหลายคนที่มีอาการป่วยแบบนี้เช่นกัน เมื่อออเจ้าได้เห็นก็รู้ได้ทันทีเลยว่า เป็นอาการของ ไข้มาลาเรีย ซึ่งในสมัยก่อนจะรู้จักในชื่อของ ไข้ป่า
เมื่อออเจ้ารู้ว่าเป็นอาการของ ไข้มาลาเรีย ก็รีบแนะนำวิธีการป้องกันว่าต้องไม่ให้มียุง ซึ่งวิธีกำจัดยุง ป้องกันไข้มาลาเรีย แบบฉบับแม่นายการะเกด ก็ง่ายๆเพียงแค่
♦ พื้นดินที่เป็นแอ่งน้ำ มีน้ำขัง ต้องกลบให้หมด เพื่อไม่ให้มียุงมาวางไข่ได้
♦ หม้อดิน หรือกระถางที่แตกแล้วไม่ได้ใช้ ให้คว่ำน้ำทิ้ง
♦ โอ่งน้ำที่ใช้ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ไม่เปิดทิ้งไว้ (เพราะนอกจากจะป้องกันยุงวางไข่แล้ว ยังเป็นการป้องกันไม่ให้ฝุ่งละอองตกลงไปด้วย ทำให้น้ำสกปรก)
♦ กลางคืนควรนอนกางมุ้งทุกครั้ง และปิดให้มิดชิด ป้องกันยุงเข้ามากัดได้
จะเห็นได้ว่าหากไม่ระวัง หรือป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัด ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลยค่ะ เพราะฉะนั้น มาทำความรู้จักกับไข้มาลาเรีย กันมากขึ้นอีกหน่อย เพราะในช่วงหลายปีมานี้ก็เริ่มมีการกลับมาพูดถึงโรคเก่าแก่นี้อีกครั้ง
ขอบคุณภาพจาก www.mello.me
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ไข้มาลาเรีย
ไข้มาลาเรีย หรือไข้ป่า เป็นโรคที่มีมานานแล้วในประเทศไทย บางคนอาจจะคุ้นหู ในอีกชื่อหนึ่งคือ โรคไข้จับสั่น เพราะคนที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการเป็นไข้สูง และหนาวสั่น หรืออาจมีอาการอาเจียน ปวดศีรษะร่วมด้วย ไข้มาลาเรียแพร่สู่ร่างกายคนได้โดยมีพาหะตัวสำคัญ คือ ยุงก้นปล่องเพศเมีย โดยมักพบโรคนี้ในเขตที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น และมีแหล่งน้ำขังตามธรรมชาติมาก
สาเหตุของมาลาเรีย มาลาเรียเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวที่เรียกว่า พลาสโมเดียม มียุงก้นปล่องเพศเมียเป็นพาหะ โดยเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน แต่ชนิดที่ทำให้เกิดโรคในคนมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่
1.พลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม 2. พลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ 3. พลาสโมเดียม มาลาริอี่
4. พลาสโมเดียม โอวาเล่ 5. พลาสโมเดียม โนว์ไซ
แต่เชื้อที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทย คือ พลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม และรองลงมา คือ พลาสโมเดียม ไวแว็กซ์
อาการของไข้มาลาเรีย
หากได้รับเชื้อมาลาเรีย จากการถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัด ประมาณ 10-14 วัน จะเริ่มมีอาการป่วย 2-3 วันแรกอาจมีอาการปวดศีรษะ หรือปวดเมื่อยตัว ต่อมาจึงมีอาการ ไข้จับสั่น ซึ่งจะเป็นลักษณะเฉพาะของไข้มาลาเรีย
ซึ่งภาวะการจับไข้ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะหนาว จะเริ่มด้วยการมีไข้ขึ้น และเกิดอาการสั่น ผิวหนังเริ่มซีด
- ระยะร้อน จะมีไข้ขึ้นสูง ผู้ป่วยจะรู้สึกร้อน ปวดศีรษะมาก กระสับกระส่าย เพ้อ ผิวหนังแห้ง แดง ร้อนผ่าว กระหายน้ำ ถ้าเป็นเด็กอาจจะชัก
- ระยะเหงื่อออก ผู้ป่วยจะเริ่มเหงื่อออก และไข้ค่อยๆ ลดลงจนรู้สึกอ่อนเพลีย และหลับไป
มาลาเรียมีการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างไร?
การติดเชื้อมาลาเรียเริ่มต้นจากยุงที่เป็นพาหะดูดเลือดและปล่อยเชื้อที่อยู่ในน้ำลายเข้าสู่กระแสเลือดคน โดยประมาณ 30 นาที เชื้อจะเข้าสู่ตับและแบ่งตัวเพิ่มจำนวน หลังจากนั้น เชื้อจะกลับเข้าสู่กระแสเลือดและเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดแดงเพื่อแบ่งตัวเพิ่มจำนวน จนกระทั่งเซลล์เม็ดเลือดแดงแตก เชื้อจะเข้าไปอาศัยและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในเซลล์เม็ดเลือดแดงใหม่ต่อไป โดยเชื้อแต่ละชนิดจะใช้เวลาในการแบ่งตัวและทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกแตกต่างกันไป
แม่ท้องป่วยไข้มาลาเรีย อันตรายถึงชีวิตจริงหรือ?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
แม่ท้องป่วยไข้มาลาเรีย อันตรายถึงชีวิตจริงหรือ?
ผู้ป่วยไข้มาลาเรียมีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะแม่ท้องที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะเสี่ยงกับลูกในครรภ์ ดังนี้
ภาวะแทรกซ้อน กับผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์
- ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
- เสี่ยงภาวะคลอดก่อนกำหนด
- ทารกแรกเกิด มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ
- ทารกอาจะเสียชีวิตระหว่างการคลอด
- เสี่ยงภาวะแท้งบุตรสูง
- ขั้นร้ายแรง อาจทำให้ผู้ป่วยตั้งครรภ์เสียชีวิตด้วย
ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆของไข้มาลาเรีย
- มาลาเรียขึ้นสมอง ทำให้หลอดเลือดในสมองบวม สร้างความเสียหายให้สมองได้อย่างถาวร
- ภาวะโลหิตจาง เป็นภาวะที่เม็ดเลือดแดงไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อ และอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย
- ปอดบวมน้ำ เกิดการสะสมของเหลวในปอด ทำให้มีปัญหาในการหายใจ
- เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- อวัยวะภายในเกิดการล้มเหลว เช่น ตับ ไต หรือม้าม
- ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน
- อาการช็อก เนื่องจากความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว
เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งโรคที่ค่อนข้างน่ากลัวมากๆค่ะ โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนกำลังจะมีบุตร ควรดูแลสุขภาพร่างกาย และป้องกันตัวเองอย่างดีที่สุด รวมถึงอย่าลืมหมั่นตรวจสุขภาพด้วยนะคะ จะได้ทำการป้องกัน และรักษาได้ทัน ซึ่งการรักษาไข้มาลาเรียมีวิธีดังนี้
การรักษามาลาเรีย
มาลาเรียรักษาได้ หากได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที แพทย์จะรักษาด้วยการดูแลประคับประคองอาการ รวมทั้งบำบัดรักษาภาวะแทรกซ้อน และให้ยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย ซึ่งการเลือกชนิดของยาหรือรูปแบบการให้ยาจะประกอบไปด้วยหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ชนิดของโปรโตซัว ความรุนแรงของอาการ ผู้ป่วย การตั้งครรภ์ รวมไปถึงการดื้อยา
ยาต้าน ไข้มาลาเรีย ที่นำมาใช้บ่อย
- ยาคลอโรควิน (Chloroquine)
- ยาดอกซีไซคลิน(Doxycycline)
- ยาควินิน ซัลเฟต (Quinine Sulfate)
- ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine)
- ยาเมโฟลควิน (Mefloquine)
- ยาไพรมาควิน (Primaquine)
- การใช้ร่วมกันระหว่างยา Proguanil และ Atovaquone
- การใช้ร่วมกันระหว่างยา Artemether และ Lumefantrine
ไข้มาลาเรีย ป้องกันได้อย่างไร?
ผู้ที่อยู่อาศัยหรือจำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ ที่มีการระบาด ควรป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัดได้ดังนี้
- สวมเสื้อผ้าสีอ่อน และปกปิดร่างกายได้อย่างมิดชิด ใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว
- ใช้ยาที่มีสารไล่แมลง ทาผิวหนัง
- ควรนอนในมุ้ง หรือบริเวณที่ปลอดจากยุง อาจใช้มุ้งชุบยาไล่ยุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันยุง
- หากสงสัย หรือต้องการตรวจสอบ ว่าพื้นที่ที่จำเป็นต้องไป เสี่ยงต่อการระบาดของไข้มาลาเรียหรือไม่ ควรตรวจสอบหรือหาข้อมูลเพิ่มเติม จากกรมควบคุมโรคเสียก่อน เพื่อจะได้เตรียมตัวป้องกันได้
ในปัจจุบันในวงการแพทย์และทีมนักวิจัยด้านมาลาเรีย ไม่ได้หยุดค้นคว้า และยังคงมีความพยายามในการคิดค้นสูตรยาใหม่ในการกำจัดมาลาเรียสายพันธุ์ดื้อยา ซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ด้วย แม้ว่าจะต้องใช้เวลา แต่ก็ถือว่าตอนนี้มีแนวโน้มที่ดีค่ะ แต่จะดีที่สุดก็คือการที่ทุกคนรู้จักป้องกันตัวเอง จากวิธีต่างๆที่ได้แนะนำไป รวมถึงดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิดด้วย จะได้ไม่เจ็บไม่ป่วยกันนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก pobpad
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
10 ข้อห้ามคนท้อง ที่ต้องระวังขณะตั้งครรภ์
แพทย์เตือนพ่อแม่เฝ้าระวัง! 7 โรคระบาดปี 2561
สะระแหน่ ไล่แมลง หนู แมงมุมได้ เคล็ดลับ ที่คุณแม่ๆต้องรู้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่