AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

โรคลัสสา โรคร้ายที่แม่ท้องต้องระวังให้ดี!

โรคลัสสา โรคร้ายที่ไม่ใช่โรคใหม่ แต่อันตรายยิ่งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์!

 

 

ถึงแม้ว่าโรคดังกล่าว จะยังไม่ได้ระบาดในไทย แต่ตอนนี้ในหลากหลายประเทศกำลังให้ความสำคัญพร้อมกับหาวิธีป้องกันโรคนี้กันอยู่ ดร.ชาร์ลี เวลเลอร์ หัวหน้าส่วนงานด้านวัคซีน ของเวลคัมทรัสต์ องค์กรการกุศลที่ประกาศตัวเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อหาแนวทางสร้างเสริมสุขภาพของประชากรโลก ได้ออกมาเตือนภัยโรคไข้ลัสสาที่ระบาดในไนจีเรียตั้งแต่ต้นปีมานี้ว่า เป็นหนึ่งในโรคที่อาจระบาดได้อย่างร้ายแรง ในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนใดในการป้องกันโรคนี้

พร้อมธิบายว่าไข้ลัสสาไม่ใช่โรคใหม่ แต่การระบาดของโรคที่เกิดในขณะนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน และยังเป็นการระบาดอย่างรวดเร็ว ในวงกว้างกว่าที่เคยเป็นมา ในขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างทำงานกันอย่างเกินกำลังเพื่อรับมือ ซึ่งหลายคนต้องติดเชื้อ และเสียชีวิตไปด้วย โรคดังกล่าวนี้จัดอยู่ในกลุ่มโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่จะไปทำลายระบบหลอดเลือด และส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในร่างกาย ซึ่งเมื่อเป็นแล้วการรักษาจะเป็นไปอย่างยากลำบาก

อ่านต่อ >> เนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่หน้า 2

 

 

สำหรับโรคดังกล่าวนี้ ผู้ติดเชื้อไวรัสลัสสาส่วนใหญ่จะไม่มีอาการหนักมากค่ะ แต่จะมีไข้ ปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย ซึ่งบางคนอาจจะไม่มีอาการที่ว่าเลยก็ได้ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ร้ายแรง ผู้ป่วยอาจมีอาการไม่ต่างจากผู้ติดเชื้ออีโบล่า ซึ่งจะมีเลือดออกทางจมูก ปากและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เป็นต้น

ศูนย์ควบคุมโรคของอังกฤษ ให้ข้อมูลว่าโดยปกติแล้วอัตราการเสียชีวิตจากโรคลัสสามีประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่การระบาดในไนจีเรีย มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ในหมู่ผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อและน่าจะติดเชื้อ โดยคาดกันว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 90 คน แต่ตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้ เพราะไข้ลัสสาเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก

สำหรับผู้หญิงที่ติดเชื้อโรคนี้ในช่วงปลายของการตั้งครรภ์ มีโอกาสที่จะเสียทารกสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะเสียชีวิตเองด้วยเช่นกัน

คนส่วนใหญ่ติดเชื้อโรคนี้จากสิ่งปนเปื้อนปัสสาวะ อุจจาระ เลือด หรือน้ำลายของหนู ไม่ว่าจะด้วยการกิน ดื่ม หรือสัมผัส นอกจากนี้เชื้อยังสามารถแพร่จากคนสู่คนผ่านทางของเหลวในร่างกาย ซึ่งหมายความว่า เจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเพียงพอถือว่าอยู่ในกลุ่มเสียงที่จะติดเชื้อ

โดยระยะฟักตัวของโรคนานสูงสุดถึง 3 สัปดาห์ ขณะนี้นักวิจัยกำลังศึกษาว่าเชื้อโรคนี้จะอยู่ในร่างกายและแพร่ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ แม้ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม

ทำความรู้จักกับโรคนี้เพิ่มเติม ได้ที่หน้า 3 >>


เครดิต: BBC Thai

 

 

โรคลัสสา คืออะไร?

ไข้ลัสสา เป็นโรคในแถบแอฟริกาตะวันตก โรคนี้พบครั้งแรกในปี พ.ศ.2493 ที่โรงพยาบาลของประเทศไนจีเรีย ตั้งแต่นั้นมามีการระบาดอย่างกว้างขวางในประเทศไลบีเรีย, เซียร์ราลีโอนและกินี การระบาดของโรคเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน เป็นโรคที่มีการติดเชื้อเกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกวัย โดยมีหนูเป็นพาหะนำโรคโดยติดต่อจากเศษอาหารหรือของใช้ในครัวเรือนปนเปื้อนกับอุจจาระหนู

อาการของโรค : มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ มีอาการไออาเจียน ท้องร่วง เจ็บหน้าอกและช่องท้อง อาการไข้จะยังคงมีอยู่ตลอด หรืออาจไข้สูงเป็นระยะ อาการตาอักเสบและคออักเสบเป็นหนอง มักพบได้บ่อย ผู้ป่วยร้อยละ 80มักมีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการเลือดออก ช็อก มีอาการหน้าบวมคอบวม เกล็ดเลือดจะลดลงและการทำงานของเกล็ดเลือดจะผิดปกติ ผู้ป่วยประมาณ ร้อยละ 25 มีอาการหูหนวก

ระยะฟักตัวของโรค : 6 – 21 วัน

การแพร่ติดต่อโรค : เกิดจากการสัมผัสละอองฝอย หรือการสัมผัสจากอุจจาระของหนูที่ติดเชื้อตามพื้นผิว เช่นเตียงนอน หรือการสัมผัสอาหารและนํ้าที่ปนเปื้อนเชื้อหรือการแพร่เชื้อในห้องปฏิบัติการ และสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาล เช่น การฉีดวัคซีนโดยใช้เข็มที่ปนเปื้อนเชื้อและติดต่อได้ทางสารคัดหลั่ง ปัสสาวะ อุจจาระ และโรคนี้ยังสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนทางเพศสัมพันธ์

ถึงแม้ว่าโรคดังกล่าวจะยังไม่พบในประเทศไทยก็ตาม แต่เพื่อเป็นการป้องกันนั้น สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ การควบคุมพาหะ คือ หนู โดยเก็บข้าว และอาหารอื่น ๆ ในที่ ๆ ควรเก็บเพื่อป้องกันไม่ให้หนูเข้ามาเพ่นพ่านในบ้านของเรากันนะคะ

ขอบคุณที่มา: สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids