หากตรวจแล้วว่าลูกมีอาการแพ้นมวัวอย่างแน่นอน วิธีรักษาที่คุณหมอนริศราแนะนำ คือ การหลีกเลี่ยงนมวัวและอาหารที่มีส่วนผสมของนม เพื่อไม่ให้ร่างกายถูกกระตุ้นจนเกิดอาการแพ้ จนกว่าอาการแพ้นมวัวจะหายไปเองเมื่อลูกเติบโตขึ้นค่ะ แต่ไม่ใช่แค่นมวัวเท่านั้นที่เด็กแพ้นมวัวต้องระวัง ยังมีอาหารอีกหลายอย่างที่เด็กแพ้นมวัวมีความเสี่ยงว่าจะแพ้ด้วย ซึ่งคุณหมอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่หลีกเลี่ยงหรือคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดค่ะ
- นมแพะ นมวัวและนมแพะจัดอยู่ในกลุ่มที่ให้โปรตีนใกล้เคียงกัน ดังนั้นเด็กที่แพ้นมวัวจะแพ้นมแพะด้วยถึง 90% เพียงแต่ว่านมแพะจะย่อยง่ายกว่า ทำให้เด็กที่มีปัญหาเรื่องระบบการย่อยอาหาร ดื่มนมแพะแล้วมีอาการปวดท้องหรือไม่สบายท้องน้อยกว่า แต่ก็ยังไม่เหมาะกับเด็กที่มีปัญหาเรื่องแพ้นมวัวอยู่ดี
- ถั่วเหลือง เด็กที่แพ้นมวัวบางกลุ่มอาจแพ้ถั่วเหลืองด้วย ฉะนั้นหากคุณแม่อยากให้ลูกกินถั่วเหลืองควรปรึกษาคุณหมอด้วยเพราะเด็กแพ้นมวัวอาจสามารถรับประทานนมที่สกัดจากโปรตีนถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองได้เป็นกรณีๆ ไปค่ะ
- อาหารในกลุ่มเสี่ยง เช่น ถั่วลิสง ไข่ แป้งสาลี ปลา และอาหารทะเล เด็กแพ้นมวัว ประมาณ 30% มีโอกาสแพ้อาหารอย่างอื่นร่วมด้วย คุณหมอจึงแนะนำให้ทดสอบอาการแพ้จากอาหารเหล่านี้ควบคู่ไปด้วย
เมื่อทดสอบแล้วแม้ผลทดสอบเป็นลบ การให้ลูกเริ่มลองรับประทานอาหารในกลุ่มนี้ ยังควรอยู่ในคำแนะนำของแพทย์อยู่ดี และมักจะแนะนำให้ลองกิน เมื่อเด็กกินอาหารอื่นที่มีโอกาสแพ้ได้น้อยกว่า ได้หลายๆ ชนิดแล้ว อย่าง ข้าวเจ้า หมู ไก่ ผัก ผลไม้ เพราะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ลำไส้ของเด็กแข็งแรงดีแล้ว จึงจะเริ่มอาหารในกลุ่มเสี่ยง
หากผลทดสอบเป็นบวก ก็คงต้องหลีกเลี่ยงกันไปก่อน อย่างไรก็ตามคุณหมอฝากไว้ว่า “ไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่กลัวจนเกินไปนะคะ เพราะส่วนใหญ่มักจะกินได้โดยปลอดภัยค่ะ หมอทุกท่านมักจะอยากให้น้องกินอาหารที่ไม่แพ้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อประโยชน์ทางด้านโภชนาการของเด็กค่ะ”
จากคอลัมน์ Kid Health นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับเดือนสิงหาคม 2558
เรื่องโดย อ.พญ.นริศรา สุรทานต์นนท์ผู้เชี่ยวชาญด้านแพ้อาหารในเด็ก หน่วยภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ
ภาพโดย Shutterstock