โรคไตในเด็ก โรคที่ไม่ได้เป็นแค่ผู้ใหญ่ … เด็กก็เป็นได้ แถมอันตรายไม่แพ้กัน!
โรคไต โรคที่ใคร ๆ ก็ต่างเฝ้าระวัง โรคที่เกิดจาก ไตทำงานผิดปกติ โรคที่ไม่เลือกเพศหรือวัย และโรคที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และน้อยคนนักที่จะรู้ว่าเป็น … โดยวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ “โรคไตในเด็ก” กันค่ะ
รศ. พญ.กาญจนา ตั้งนรารัชชกิจ สาขาวิชาโรคไต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลว่า โรคไตคือโรคที่มีภาวะค่าไตเสื่อม และทำงานได้ไม่ปกติ หากรุนแรงจะส่งผลให้ไตมีสมรรถภาพการทำงานที่ลดลงจนแทบไม่สามารถทำงานได้ ไปจนถึงไตวายและเกิดการเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ทำความรู้จักกับโรค คลิก!
ทำความรู้จักกับ “โรคไตในเด็ก”
โรคดังกล่าว สามารถแบ่งได้ตามช่วงอายุค่ะ อันได้แก่
- เด็กแรกเกิดไปจนถึง 5 ปี โดยเด็กที่อยู่ในช่วงอายุนี้นั้น โรคไตที่พบบ่อยเกิดได้จาก ความมผิดปกติของโครงสร้างไตแต่กำเนิด ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ในครรภ์มารดา โดยมีการพัฒนาไตที่ผิดปกติ และการดูแลที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ
- เด็กที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่นั้นมักเกิดภาวะไตอักเสบ ซึ่งมีหลายสาเหตุด้วยกัน ที่พบบ่อยคือการซื้อยามากินเอง เมื่อมีอาการเจ็บคอหรือผิวหนังเกิดการติดเชื้อ ส่งผลให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงและเกิดการทำลายไตตัวเอง ทำให้ไตอักเสบกลายเป็นโรคไตในที่สุด
สำหรับโรคไตนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การรักษาที่รวดเร็วและทันท่วงที แต่ส่วนใหญ่แล้วนั้นมักไม่ค่อยทราบหรอกค่ะว่าลูกหลานหรือว่าตัวเองเป็น เพราะโรคไตนั้นไม่แสดงอาการเหมือนกับโรคอื่น ๆ จนส่งผลทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังตามมา ซึ่งทำให้การรักษาเป็นไปได้ยาก ทำได้แต่เพียงการประคับประคองเท่านั้น และถ้าหากรักษาไม่ทันก็จะทำให้เกิดภาวะไตวายและเสียชีวิตในที่สุด
อ่านต่อ >> ข้อควรระวัง
ข้อควรระวัง
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวังเลยก็คือ “ภาวะอ้วนในเด็ก” ค่ะ ซึ่งภาวะดังกล่าวนั้น มาจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูของผู้ปกครองในยุคนี้ ปัจจุบันพบว่าปัญหาโรคดังกล่าวคือ การทานอาหารของเด็ก ที่มีพฤติกรรมไม่ดีต่อสุขภาพนัก เช่น การรับประทานของมัน ของเค็ม หรือของหวานจัดเกินไป ทำให้อ้วนและเกิดความดันโลหิตสูง นำมาซึ่งภาวะไตเสื่อม
สาเหตุดังกล่าวนั้น คุณพ่อคุณแม่มารถป้องกันได้โดย การปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู รวมถึงการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป กรณีที่ผู้ปกครองไม่รู้ว่าเด็กขับถ่าย จึงทำให้เกิดการหมักหมมของอุจจาระ สามารถทำให้เกิดโรคไตได้ในอนาคตเช่นกันค่ะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรระวังกันด้วยนะคะ คอยสังเกตพฤติกรรมของลูกด้วย หากลูกอุจจาระละก็ให้รีบเปลี่ยนและทำความสะอาดก้นของลูกน้อยทันที
วิธีการรักษา
ส่วนใหญ่แล้ว แพทย์จะทำการรักษาไปตามอาการค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
- กรณีที่ลูกเป็นตั้งแต่กำเนิด โดยทั่วไปมักมาจากการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ สามารถรักษาได้โดยการติดตามอาการ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม บางรายอาการดีขึ้นได้เมื่อเติบโตขึ้น แต่บางรายหากอาการรุนแรงมากก็อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด
- กรณีที่เกิดจากระบบทางเดินปัสสาวะ รักษาได้ด้วยวิธีการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมกับเชื้อ โดยแพทย์จะให้ยาผู้ป่วยตามระยะเวลาที่เพียงพอต่อการรักษา ก็สามารถทำให้หายขาดได้
- กรณีของภาวะไตอักเสบ หากติดเชื้อและไม่รักษาให้ดีตั้งแต่ต้น จะทำให้ไม่สามารถรักษาได้หายขาดแต่จะเป็นการประคับประคองอาการเท่านั้น สำหรับวิธีการรักษาอาจใช้ยาในช่วงที่อาการรุนแรง
คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการของลูก ๆ ได้ด้วยการดูว่าหากลูกมีอาการตาหรือหน้าบวมหลังตื่นนอน หรือปัสสาวะมีสีผิดปกติ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ … อย่าลืมนะคะว่า รู้ไว รู้เร็ว ป้องกันได้ รักษาหาย นั่นเองค่ะ
เครดิต: สสส. และพบแพทย์
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ: