AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

Kid Safety- สีทาบ้านที่ปลอดภัย…มี แต่ยังวางใจไม่ได้

สีทาบ้านที่ปลอดภัย…มี แต่ยังวางใจไม่ได้

ราวกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า ในขณะนี้บรรดาสีน้ำมันทาบ้าน ทาอาคารโทนสีขาวที่ปลอดสารตะกั่วจาก ร้อยละ 29 (การสำรวจเมื่อปี 2556) เพิ่มเป็น ร้อยละ 68 (การสำรวจเมื่อปี 2558) และโทนสีสดประเภทปลอดสารตะกั่วจากที่มีเพียง ร้อยละ 2 ( ปี 2556) เพิ่มเป็นร้อยละ 24 ( ปี 2558) อีกทั้งบริษัทสีบางรายถึงกับเลิกใช้สารตะกั่วผสมไปเลย แต่ที่ทำให้ยังสบายใจไม่ได้เต็มที่คือ สีของบางบริษัทยังพบค่าของตะกั่วในปริมาณที่สูงมาก แถมยังไม่ได้แก้วิธีการใช้ข้างกระป๋องสีอีก โดยยังมีข้อความระบุไว้ว่า “ใช้ตกแต่งในอาคารและบ้านเรือน!”

 

สีทาบ้านเข้าถึงตัวเด็กได้อย่างไร

สาเหตุที่เด็กได้รับสารตะกั่วคือ การกินแผ่นสีที่หลุดออกมาโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หรือการหลุดร่อนของสีตามผนังของอาคารต่างๆแล้วฟุ้งเป็นฝุ่นกระจายอย่างมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กเสี่ยงยิ่งขึ้นคือ เด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงในการเอาของเข้าปาก รวมถึงมีกิจกรรมต่างๆ บนพื้นที่ปนเปื้อนด้วยสารตะกั่ว เช่น การคลาน การเล่นตามพื้นดิน”

ภัยของสารตะกั่ว อันตรายร้ายแรงต่อเด็ก!

คือการทำลายเซลล์สมอง สารตะกั่วที่เพิ่มขึ้นในเลือด ไอคิวจะลดลง โดยเฉพาะเด็กต้องระวังการได้รับสารตะกั่วอย่างมาก เพราะเด็กมีความเสี่ยงต่อการได้รับพิษจากตะกั่วมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะความสามารถในการดูดซึมสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายของเด็กมีมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 5 เท่า องค์การอนามัยโลก ระบุว่า “ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่ควรมีสารตะกั่วอยู่ในเลือดแม้แต่น้อย”

 

ป้องกันแต่แรกสำคัญที่สุด

ดังนั้นต้องมีมาตรการป้องกันสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายทั้งทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ และการปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม การจัดการขยะที่มาจากการก่อสร้างอย่างถูกวิธี (Construction Waste Management) เพื่อมิให้ไปก่อมลพิษต่อผู้อื่นต่อไป

 

“ในบ้านเราปัญหา “สารตะกั่ว” ยังคงเป็นภัยคุกคามที่มองไม่เห็น ขณะที่ทางการแพทย์ทั่วโลกระบุอย่างชัดเจนว่า “ไม่มีระดับสารตะกั่ว ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ” ซึ่งตรงกับข้อสรุปขององค์การอนามัยโลกที่ประกาศว่า “ปริมาณสารตะกั่วในร่างกายที่ปลอดภัย คือ 0 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว นั่นคือ…ร่างกายคนเรานั้น ไม่ควรมีสารตะกั่วเลยแม้แต่นิดเดียว..”

 

จากคอลัมน์ Kid Health นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับเดือนสิงหาคม 2558
เรื่องโดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ
ภาพโดย beeclassic