สีทาบ้านอันตราย เพราะมีสารตะกั่วที่เป็นพิษในสิ่งแวดล้อม ก่ออันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงโดยเฉพาะเด็ก ซึ่งมีผลต่อทุกระบบของร่างกาย ถ้าได้รับสารตะกั่วในปริมาณมากจะมีผลโดยตรงต่อระดับสติปัญญา สมอง และระบบประสาทอย่างถาวร โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 6 ขวบ
รายงานจากองค์การอนามัยโลกระบุไว้ว่า “มีเด็กป่วยด้วยโรคปัญญาอ่อนจากพิษตะกั่วถึงกว่า 600,000 คน และเด็กไทยคือหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงจากภัยตะกั่ว ที่อยู่ในสีทาบ้าน สีทาโรงเรียน หรืออาคารต่างๆ
มีข่าวการตรวจพบสารตะกั่วปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก เช่น ในของเล่น ภาชนะในการจัดเก็บอาหาร และน้ำดื่ม หม้อที่มีการบัดกรีด้วยตะกั่ว รวมทั้งสีทาบ้าน
ในอเมริกา พบว่า สีทาบ้านที่พบในอาคารเก่าเป็นแหล่งที่มาสำคัญของภาวะพิษจากสารตะกั่วในเด็ก
สีทาบ้านเข้าถึงตัวเด็กได้อย่างไร
สาเหตุที่เด็กได้รับสารตะกั่วคือ การกินแผ่นสีที่หลุดออกมาโดยไม่รู้ตัว หรือการหลุดร่อนของสีตามผนังของอาคารต่างๆ แล้วฟุ้งเป็นฝุ่นกระจายจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กเสี่ยงยิ่งขึ้นคือ เด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงในการเอาของเข้าปาก รวมถึงมีกิจกรรมต่างๆ บนพื้นที่ปนเปื้อนด้วยสารตะกั่ว เช่น การคลาน การเล่นตามพื้นดิน
อันตรายของสารตะกั่ว
- กรณีที่ได้รับในปริมาณมากอาจส่งผลถึงขั้นชัก สมองบวม เสียชีวิต โดยเฉียบพลันทันใด
- เป็นภัยสะสมหากได้รับทีละน้อยแต่บ่อยๆ พิษเรื้อรังทำให้ท้องผูก-เบื่ออาหาร-ปวดท้อง-ซีด
- ทำลายเซลล์สมอง สารตะกั่วที่เพิ่มขึ้นในเลือด ไอคิวจะลดลง โดยเฉพาะเด็กต้องระวัง
- เด็กมีความเสี่ยงต่อการได้รับพิษจากตะกั่วมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะดูดซึมมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 5 เท่า
อ่านต่อ “การป้องกันสารตะกั่ว” คลิกหน้า 2
การป้องกันสารตะกั่ว
- บ้านทาสีและอยู่อาศัยมานาน ระวังการหลุดร่อนของสีตามผนังที่ลูกน้อยอาจหยิบ จับ เข้าปาก
- เลือกสีไร้สารตะกั่ว หรือไม่ต้องทาสีผนังเลย โดยเลือกใช้ปูนฉาบเรียบ ซึ่งก็ดูอินเทรนไม่เบา
- ไม่ควรกวาด ไม่ควรใช้เครื่องดูดฝุ่น เพราะจะทำให้แผ่นสีปลิวฟุ้ง ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ด
- ถ้ามีการขูดสีเก่าเพื่อทาใหม่ ควรใช้ช่างผู้ชำนาญ และกันเด็กๆ รวมทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์ให้อยู่ห่างๆ
- ตะกั่วอาจเกาะติดเสื้อผ้าได้ เมื่อเข้าบ้านหรือก่อนจะกอดลูกๆ ให้ถอดเสื้อลงถังซักผ้าก่อน
- ปริมาณสารตะกั่วในร่างกายที่ปลอดภัย คือ 0 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว
เครดิต: คอลัมน์ Kid Health นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับสิงหาคม 2558 โดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี, ไทยพับลิก้า, Zionism