ช่วงนี้มีเด็กป่วยด้วย โรคคาวาซากิ ในไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และพบภาวะการต้านยามากขึ้น ภัยร้ายที่แท้จริงคือโรคนี้ส่งผลต่อหลอดเลือดหัวใจจนอาจทำให้พิการได้
คุณพ่อคุณแม่รู้จัก “โรคคาวาซากิ(Kawasaki Disease)” ไหมคะ?
เชื่อได้ว่าคนส่วนใหญ่อาจทำหน้างง พลางคิดไปว่าโรคอะไรเนี่ย ชื่อเหมือนจักรยานยนต์ยี่ห้อหนึ่ง สัญชาติญี่ปุ่นเลย อย่ากระนั้นเลย ไปถามผู้เชี่ยวชาญกันดีกว่า
พญ.มณินทร วรรณรัตน์ กุมารเวชศาสตร์โรคระบบหายใจ โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111 ระบุว่าโรคคาวาซากินั้น มีรายงานครั้งแรกตั้งแต่ปี 1967 โดยแพทย์ชาวญี่ปุ่นชื่อโทมิซากุ คาวาซากิ (Tomisaku Kawasaki) ตรวจพบในเด็กชายชาวญี่ปุ่นอายุ 4 ปี ที่ป่วยเป็นไข้ร่วมกับอาการอื่นๆ ซึ่งไม่เคยตรวจพบมาก่อน หลังจากนั้นจึงตรวจพบผู้ป่วยอาการแบบเดียวกันมาเรื่อยๆ และมีอุบัติการณ์ของโรคนี้กระจายไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอายุน้อยกว่า 5 ปี
ในไทยพบผู้ป่วยโรคคาวาซากิมากแค่ไหน?
ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 5-10 รายในประชากร 100,000 คน แต่ในระยะหลังๆ นี้พบว่ามีอุบัติการณ์ของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และพบภาวะการต้านยามากขึ้นด้วย เฉพาะในโรงพยาบาลเวชธานีก็พบว่ามีอุบัติการณ์ของโรคคาวาซากิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีเช่นกัน เนื่องจากโรคนี้หากให้การรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นคือ ก่อน 10 วันแรกของโรค จะช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคแทรกซ้อนลงได้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หลอดเลือดหัวใจ ผู้ปกครองของเด็กเล็กจึงควรทำความรู้จักกับโรคนี้ เพื่อรับมือและช่วยให้การรักษาสัมฤทธิ์ผลมากที่สุด
สาเหตุและอาการของโรคคาวาซากิ
โรคคาวาซากิเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่ทำให้มีการอักเสบของเส้นเลือดขนาดกลางทั่วร่างกาย ซึ่งมีผลต่ออวัยวะในร่างกายหลายระบบ เกณฑ์การวินิจฉัยโรคคาวาซากิ ประกอบด้วย ไข้สูงมากกว่า 5 วัน ร่วมกับมีอาการต่างๆ 4 ใน 5 ข้อนี้
- เยื่อบุตาอักเสบ 2 ข้าง
- มีอาการของลิ้นและริมฝีปาก ได้แก่ ลิ้นเป็นสตรอเบอร์รี่ ริมฝีปากบวมแดง แห้งแตก
- มีอาการของแขนและขา ได้แก่ แขนขาบวมแดง ผิวแห้งปลายเท้าลอก
- มีผื่นตามตัว อาจเป็นผื่นแดงคล้ายลมพิษหรือปื้นแดงตามตัว
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต โดยเฉพาะเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1.5 เซนติเมตร
ทั้งนี้โรคดังกล่าวพบว่าเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจในเด็ก ดังนั้นผู้ปกครองควรสังเกตอาการและหากพบอาการผิดปกติควรรีบนำเด็กเข้าพบแพทย์ เพื่อตรวจให้แน่ชัดและให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป เพราะหากปล่อยไปจะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนและความพิการต่อหัวใจอย่างถาวร จนยากแก่การรักษาให้หายขาดได้
ข้อมูล : โรงพยาบาลเวชธานี
ภาพ : (ภาพหลัก) kdcanada.org, Shutterstock, drthindhomeopathy.com
Save