ลูกตัวซีด ขาดธาตุเหล็ก ใครว่าไม่สำคัญ - Amarin Baby & Kids
ขาดธาตุเหล็ก

ลูกตัวซีด ขาดธาตุเหล็ก เป็นโลหิตจาง พ่อแม่อย่านิ่งนอนใจ ปล่อยลูกซีดเรื่องใหญ่!

event
ขาดธาตุเหล็ก
ขาดธาตุเหล็ก

ภาวะซีดในเด็กถือเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน ถ้าเกิดคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกตัวซีด ผิวมีสีเหลืองอย่านิ่งนอนใจ อาจเกิดจากการ ขาดธาตุเหล็ก ส่งผลให้เป็นโรคโลหิตจางในเด็กได้

ขาดธาตุเหล็ก ใครว่าไม่สำคัญต่อตัวเด็ก

ธาตุเหล็ก ถือเป็นสารอาหารสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลเป็นพิเศษสำหรับลูกน้อย ในทารกแรกเกิดถึง 6 เดือน จะได้รับธาตุเหล็กจากอาหารที่แม่รับประทานผ่านทางรกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และหลังคลอดจะได้ธาตุเหล็กจาก น้ำนมแม่ ที่ช่วยดูดซึมได้ดีมากถึงร้อยละ 50 ของธาตุเหล็กที่มีอยู่ รวมถึงจากอาหารเสริมอื่น ๆ ที่คุณแม่สามารถให้ลูกที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปได้กิน เพื่อให้ได้รับอาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นในการสร้างฮีโมโกลบินซึ่งเป็นสารสีแดงในเม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่เป็นตัวนำออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ไปสู่เซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ในร่างกายธาตุเหล็กมีความสำคัญมากต่อพัฒนาการของร่างกายและสมอง ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ ถ้าขาดธาตุเหล็กในระดับที่ทำให้ร่างกายผลิตฮีโมโกลบินลดลงมากจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ โดยเฉพาะในหนึ่งปีแรกของชีวิตหากมีการขาดธาตุเหล็กในช่วงนี้ จะทำให้มีผลเสียต่อการพัฒนาสมองในระยะยาวอย่างถาวร

ลูกตัวซีด

ลูกตัวซีด พ่อแม่อย่านิ่งนอนใจ ปล่อยไว้เรื่องใหญ่!

ภาวะโลหิตจางในเด็กของประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากภาวะของการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) และ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย (thalassemia syndrome) ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก พบได้บ่อยใน 2 ช่วงอายุ คือ ช่วงอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี และในเด็กวัยก่อนเรียนอายุต่ำกว่า 6 ปี พบว่ามีอัตราสูงถึงร้อยละ 15 ส่วนในเด็กวัยเรียน อายุ 6-14 ปี พบร้อยละ 1 เด็กที่ตัวซีด มีภาวะโลหิตจาง จากสาเหตุของการขาดธาตุเหล็กที่พบบ่อย คือ

-การได้รับธาตุเหล็กจากอาหารน้อย เป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็กทุกวัย เช่น

  • ทารกในครรภ์ที่ได้รับธาตุเหล็กจากแม่ไม่เพียงพอขณะตั้งครรภ์
  • ในทารกหลัง 6 เดือน ไม่ได้รับอาหารเสริมตามวัยอย่างเหมาะสมหรือได้รับอาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กน้อย
  • วัยเด็กเล็กช่วง 1-2 ปีแรกที่ดื่มแต่นมเพียงอย่างเดียวหรือได้นมผสมที่ไม่ได้เสริมธาตุเหล็ก
  • ในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป มีนิสัยกินยาก เลือกกิน เช่น ไม่กินเนื้อสัตว์ที่มีเนื้อแดง ตับ ไม่ชอบกินผัก ผลไม้ ไข่แดง ซึ่งอาหารเหล่านี้ล้วนมีธาตุเหล็กที่จำเป็นต่อร่างกาย ก็อาจทำให้ลูกมีโอกาสขาดธาตุเหล็กได้

-ร่างกายมีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น พบได้ในแม่ท้องและทารกในครรภ์ที่ควรได้รับธาตุเหล็กจากแม่อย่างเพียงพอขณะตั้งครรภ์ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีธาตุเหล็กที่ได้จากแม่น้อยตามน้ำหนักด้วย ทารกในช่วง 6 เดือนแรกที่ควรได้รับนมแม่หรือกินนมผงที่เสริมธาตุเหล็ก โดยความต้องการธาตุเหล็กของคนกลุ่มนี้จะมากกว่าคนทั่วไป 3-4 เท่า หากได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอในการสร้างเม็ดเลือดแดง ก็อาจทำให้เกิดภาวะซีด ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่อายุเพียง 2-3 เดือน หรือในเด็กที่อยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโต ซึ่งในช่วงนี้ร่างกายมีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น หากขาดธาตุเหล็กไปก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการร่างกายและสมองได้

มีภาวะเสียเลือด เช่น เลือดกำเดาไหลผิดปกติ เลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร แผลในลำไส้เนื่องจากแพ้อาหารกลุ่มเสี่ยง เป็นโรคพยาธิปากขอ ฯลฯ ซึ่งเป็นสาเหตุของการขาดธาตุเหล็กจนทำใหมีภาวะซีดได้

อาการลูกซีด จากขาดธาตุเหล็ก สังเกตได้จาก

  • อาการทางผิวหนัง จะเห็นได้ชัดบริเวณผิวหนัง เปลือกตาล่าง ริมฝีปาก เล็บมือ ฝ่ามือ เหงือก ใบหู เริ่มซีด ไม่มีเลือดฝาดเหมือนผิวเด็กปกติ เล็บมีความผิดรูปงอเป็นรูปช้อน
  • กินอาหารได้น้อยลง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูกและหรือท้องเสีย
  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เป็นลม ง่วงนอนบ่อย
  • มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายเวลาออกแรงหรือดูดนม เฉื่อยชา คิดช้า ซึมเศร้า
  • กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ
  • หัวใจเต้นแรง ชีพจรเต้นเร็ว
  • ปลายมือปลายเท้าเย็น
  • อาจมีไข้ต่ำ ๆ

โดยอาการของคนมีภาวะโลหิตจางจะแตกต่างกันขึ้นกับความรุนแรงและระยะเวลาของการเกิด หากมีอาการอย่างช้า ๆ จะแสดงอาการน้อยกว่าคนที่มีภาวะโลหิตจางที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และถ้ามีอาการซีดเรื้อรัง อาจส่งผลต่อการเรียน ผลการเรียนลดลง เรียนไม่รู้เรื่อง ซึ่งหากพบว่าลูกมีอาการดังกล่าว ควรพาไปตรวจเพื่อหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งการรักษาโดยเสริมยาธาตุเหล็กเพียงอย่างเดียวจะไม่หายขาด และมีโอกาสกลับมาซีดใหม่ได้อีก

รู้มั้ย? ลูกขาดธาตุเหล็กส่งผลร้ายต่อพัฒนาการได้มากมาย เช่น

  • ส่งผลให้สมองทำงานช้าลง เนื่องจากได้รับออกซิเจนจากเม็ดเลือดแดงน้อยลง และการขาดธาตุเหล็กมีผลต่อระดับเชาว์ปัญญา ส่งผลทำให้ลูกเรียนรู้ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน ทั้งนี้มีการศึกษาทั่วโลกพบว่าการขาดธาตุเหล็กตั้งแต่ในวัยทารกจะมีปัญหาต่อสมองโดยเฉพาะด้านเชาว์ปัญญา สมาธิ และปฏิภาณไหวพริบ ในกรณีที่มีการขาดธาตุเหล็กและได้รับการแก้ไขก็อาจจะไม่สามารถทำให้สมองกลับมาเป็นปกติได้เหมือนคนที่ไม่เคยขาดโดยพบว่าเด็กอาจจะมีการสูญเสียศักยภาพด้านสติปัญญาไป ทำให้ไอคิวต่ำลงอย่างถาวร
  • การขาดธาตุเหล็กยังทำให้มีภาวะโลหิตจาง ทำให้มีการเจริญเติบโตของร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย อาจพบว่าเด็กมีความสูงน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย
  • ความสามารถและพัฒนาการของกล้ามเนื้อต่าง ๆ ลดลง รวมถึงการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ ก็ทำได้ไม่ดี กลายเป็นเด็กเฉื่อยชา ไม่กระฉับกระเฉง เหนื่อยล้า อ่อนเพลียง่าย

ลูกขาดธาตุเหล็ก

  • รับประทานข้าวได้น้อยลง อาการเบื่ออาหารทำให้ลูกขาดโภชนาการที่ถูกต้อง ยิ่งทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร อาจทำให้ติดเชื้อและเจ็บป่วยได้ง่าย ส่งผลกระทบไปถึงสุขภาพมากขึ้น ทำให้เด็กเจริญเติบโตช้า
  • ร่างกายที่ขาดธาตุเหล็กจะส่งผลให้กระดูกไม่แข็งแรง เปราะง่าย
  • กรณีที่มีภาวะซีดรุนแรงมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายเนื่องจากหัวใจทำงานหนักมากขึ้นจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

ลูกขาดธาตุเหล็ก ป้องกันลูกเป็นโลหิตจางป้องเริ่มได้จากพ่อแม่

แม้ว่าภาวะโลหิตจาง ลูกตัวซีด ดูเป็นเรื่องที่น่ากลัวและอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของลูก แต่อาการดังกล่าวสามารถป้องกันได้ตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์จนกระทั่งการเลี้ยงดูลูก โดยให้ลูกได้รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กซึ่งมาจาก

  • ธาตุเหล็กจากอาหารที่แม่รับประทานระหว่างตั้งครรภ์ซึ่งสะสมอยู่ในตัวทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ โดยปกติทารกที่คลอดครบกำหนด และมีน้ำหนักตัวปกติจะมีธาตุเหล็กเพียงพอต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมองเพียง 4 เดือน หลังจากนั้นทารกจำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กจากน้ำนมแม่ ดังนั้นในระหว่างตั้งครรภ์และให้นมลูก คุณแม่ควรได้รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น อาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ ตับ หรือผักใบเขียว เพื่อส่งผ่านสารอาหารไปสู่ลูกน้อย
  • ทารกแรกเกิดถึง 1 ปี น้ำนมแม่คืออาหารเสริมธาตุเหล็กที่สำคัญ ถ้าแม่กินอาหารที่มีธาตุเหล็กเพียงพอลูกน้อยก็จะได้รับสารอาหารผ่านทางน้ำนมแม่ เมื่อทารก 6 เดือนขึ้นไปควรให้อาหารเสริม ผัก และผลไม้ที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก หรือนมเสริมธาตุเหล็ก สามารถป้องกันลูกน้อยจากโรคหิตจางหรือภาวะตัวซีดได้
  • ทารกตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป นอกจากนมแม่แล้ว ควรเสริมด้วยอาหารที่มีปริมาณธาตุเหล็กและวิตามินซี เช่น เนื้อไก่ ไข่ ตับ ข้าวโอ๊ต ผักโขม คะน้า หรือผักใบเขียวชนิดอื่น ๆ และให้ลูกดื่มนมที่มีธาตุเหล็กเสริม จำกัดการดื่มนมกล่อง (UHT) ที่เป็นนมวัว เนื่องจากมีธาตุเหล็กน้อย ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กที่ต้องการเสริมธาตุเหล็ก
  • ให้ลูกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมถึงอาหารที่มีธาตุเหล็กที่พบได้ในเนื้อแดง ไข่แดง เครื่องในสัตว์ ตับหมู เลือดหมู ผักใบเขียว ธัญพืช และนม เป็นต้น จับคู่อาหาร โดยให้ลูกกินอาหารที่มีธาตุเหล็กคู่กับอาหารที่มีวิตามินซีในมื้ออาหารแต่ละมื้อ เช่น อาหารหลักและผลไม้ เพราะจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้น
  • เสริมวิตามินรวมและธาตุเหล็กสำหรับเด็ก หากการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กยังไม่เพียงพอ เด็กบางคนอาจต้องรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กร่วมด้วย หรือในกรณีที่ลูกน้อยกินยาก กินอาหารได้น้อย การเสริมวิตามินรวมสำหรับเด็กที่มีธาตุเหล็กด้วยจะช่วยให้การดูดซึมทั้งวิตามินและแร่ธาตุได้ ทั้งยังมีใยอาหารที่ช่วยในการปรับสมดุลระบบทางเดินอาหาร ช่วยให้ขับถ่ายได้ดีอีกด้วย ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับวิตามินหรืออาหารเสริมในปริมาณที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย เนื่องจากการได้รับธาตุเหล็กในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะพิษต่อร่างกายได้
อาหารเสริมธาตุเหล็ก
อาหารเสริมธาตุเหล็ก

อาหารที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี vs อาหารขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก

โดยปกติเมื่อรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเข้าไปแล้ว ร่างกายจะดูดซึมธาตเหล็กจากอาหาร “ธาตุเหล็ก” ในอาหารจะอยู่ใน 2 รูปแบบคือ Heme Iron เป็นธาตุเหล็กที่ดูดซึมได้ง่าย เช่น เนื้อสัตว์ที่มีเนื้อแดง เครื่องในสัตว์ ตับหมู เลือดหมู ธาตุเหล็กที่อยู่ในรูปของอาหารเหล่านี้ร่างกายจะสามารถดูดซึมไปใช้ได้ทันที และ Non-Heme Iron เป็นธาตุเหล็กประเภทดูดซึมได้ยาก เช่น ถั่ว ธัญพืช แป้ง ไข่แดง ผักใบเขียว ผลไม้ เป็นต้น ซึ่งความสามารถในการดูดซึมผ่านลำไส้ทำได้น้อยกว่า คือดูดซึมได้เพียง 5-15% แต่ก็นับว่าเป็นอาหารที่เพิ่มธาตุเหล็กได้เช่นกัน

รวมอาหารที่มีผลต่อการดูดซึมของธาตุเหล็กที่คุณแม่สามารถนำมาให้ลูกรับประทานได้ เช่น

  • เนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อแดง รวมถึงเนื้อสัตว์ปีกทุกชนิด ซึ่งประกอบไปด้วยธาตุเหล็ก ควรรับประทานเนื้อสัตว์ร่วมกับผักใบเขียวจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้น
  • ตับและเครื่องใน อุดมไปด้วยธาตุเหล็กและกรดโฟลิค อย่างไรก็ตาม การรับประทานตับเพื่อเสริมธาตุเหล็กอาจไม่เหมาะกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารชนิดนี้ เพื่อความปลอดภัยของแม่และลูกน้อยในครรภ์
  • ผักใบเขียวผักสีเขียวเข้มจะอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก เช่น ผักโขม คะน้า บร็อคโคลี่ เป็นต้น การ จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้น
  • อาหารที่อุดมด้วยวิตามินซี เพื่อเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้น พบได้ในผักและผลไม้ต่าง ๆ  เช่น ฝรั่ง ลิ้นจี่ เงาะ ส้ม มะนาว สตรอเบอรี่ มะละกอ สับปะรด กีวี มะเขือเทศ เป็นต้น
  • อาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า กุ้ง เป็นต้น ที่เป็นแหล่งอาหารของธาตุเหล็ก การรับประทานอาหารทะเลหรือปลาที่มีไขมันสูงสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางได้

อย่างไรก็ดี แม้การกินอาหารดังกล่าวจะช่วยเสริมปริมาณธาตุเหล็กในร่างกาย แต่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ไว้ว่ายังมีอาหารบางประเภทที่เป็นตัวขัดขวางและยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กของร่างกายที่ไม่ควรกินควบคู่กัน เช่น

  • ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง ชีส เพราะแคลเซียมในนม และไฟเตทในนมถั่วเหลืองจะทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กลดลง ไม่ควรกินพร้อมกับอาหารหรือยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก
  • อาหารในพืชที่มีเส้นใยอาหารสูงและแคลเซียมฟอสเฟสสูง จะทำให้มีการดูดซึมธาตุเหล็กได้ยากกว่าอาหารที่มีใยอาหารน้อย
  • พืชตระกูลถั่ว ที่ทีไฟเตตซึ่งจะขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก

จะเห็นได้ว่าการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเป็นตัวช่วยที่ดีต่อการป้องกันไม่ให้ลูกมีภาวะซีดหรือภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กและขาดสารอาหารที่จำเป็นอีกหลายชนิด โดยเฉพาะเด็กวัยหลัง 6 เดือนเป็นต้นไปที่ร่างกายมีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มเติม การรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์ ตับและเลือด ควบคู่ไปกับผักและผลไม้ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง จัดเป็นแนวทางเบื้องต้นที่ช่วยให้ร่างกายได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีพัฒนาการที่ดี ไม่เจ็บป่วยง่ายจากการ ขาดธาตุเหล็ก นะคะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.gedgoodlife.com, www.paolohospital.com, www.pobpad.com, www.nonthavej.co.th

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!

ลูกสุขภาพแข็งแรง ถ้าได้ทาน อาหารที่มีธาตุเหล็ก ให้ถูกต้อง

รู้ทัน ภาวะซีดในทารก ก่อนลูกขาดธาตุเหล็กรุนแรง

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up