ไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือ ไทรอยด์ เป็นพิษ เป็นอีกหนึ่งโรคที่คุณแม่ต้องระวัง เพราะมีผลสำรวจชี้ว่า ผู้หญิงมีโอกาสเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์มากกว่าผู้ชาย และส่งผลต่อลูกน้อย โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ และให้นมลูก มาลองสังเกตตัวเองกันหน่อยค่ะว่าคุณแม่มีอาการที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์หรือไม่?
ทำความรู้จัก ไทรอยด์
ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ โดยอยู่ด้านข้างและใต้ต่อกระดูกอ่อนไทรอยด์ มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ ประกอบไปด้วย 2 กลีบใหญ่ คือ กลีบด้านซ้ายและด้านขวาที่แผ่ออกทางด้านข้างและคลุมพื้นที่บริเวณด้านหน้าและด้านข้างของหลอดลม
โดยต่อมไทรอยด์ จะทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนสำคัญ 3 ชนิด คือไทรอกซีน (T4), ไตรไอโอโดไทโรนีน (T3) และแคลซิโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนตัวสุดท้ายที่มีความสำคัญน้อยกว่าฮอร์โมนไทรอกซีน และฮอร์โมนไตรไอโอโดไทโรนีนอย่างมาก ดังนั้น โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงฮอร์โมนไทรอยด์ จึงมักหมายถึงเฉพาะฮอร์โมน 2 ชนิดนี้ เพราะฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้จะมีหน้าที่สำคัญมาก คือ ควบคุมดูแลการเผาผลาญ หรือใช้พลังงานทั้งหมดจากอาหารและจากออกซิเจน หรือที่เรียกว่าเมตาบอลิซึมของเซลล์ต่างๆ เพื่อการเจริญเติบโต การทำงานของร่างกาย ช่วยซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บสึกหรอ และควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ถ้าหากเกิดความผิดปกติจนทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป T4 และ T3 ก็จะถูกผลิตออกมามากจนกลายเป็นพิษ หรือที่เคยได้ยินว่า ไทรอยด์เป็นพิษ หรือไฮเปอร์ไทรอยด์นั่นเอง
ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ และพบว่าผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะเป็นสูงมากกว่าผู้ชาย 9-10 เท่า โดยเฉพาะในช่วงอายุ 20-40 ปี
สาเหตุของโรคไฮเปอร์ไทรอยด์
แพทย์ได้แบ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไฮเปอร์ไทรอยด์bหรือไทรอยด์เป็นพิษไว้ดังนี้
1.โรคเกรฟส์ (Graves’ disease) เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือไทรอยด์เป็นพิษได้มากที่สุดถึง 80% สามารถพบได้ทั้งในวัยรุ่นและวัยกลางคน ผู้ป่วยโรคเกรฟส์จะมีอาการของต่อมไทรอยด์โต และตาโปนออกมาจากร่างกาย ส่งผลให้เกิดปัญหาไทรอยด์เป็นพิษต่อมาได้ ซึ่งแพทย์ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่า โรคเกรฟส์ มีสาเหตุมาจากอะไร แต่คาดว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวกับเพศ เนื่องจากพบโรคนี้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และมีการส่งต่อทางกรรมพันธุ์ นอกจากนี้ ความเครียดและการสูบบุหรี่เป็นประจำ จะกระตุ้นให้มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากยิ่งขึ้นด้วย
2.โรคพลัมเมอร์ (Plummer’s disease) คือชื่อของ โรคคอพอกเป็นพิษ เป็นโรคที่มักจะเกิดกับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยจะมีอาการของคอพอกโตเป็นปุ่ม และมีจำนวนหลายปุ่ม ซึ่งจะส่งผลให้ต่อมไทรอยด์มีการหลั่งฮอร์โมนมากผิดปกติ จนเกิดเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์
3.ต่อมไทรอยด์อักเสบ เมื่อต่อมไทรอยด์เกิดการอักเสบในระยะแรกๆ ต่อมไทรอยด์จะปล่อยฮอร์โมนออกมามากผิดปกติ ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้
4.การได้รับสารไอโอดีนมากเกินไป สาเหตุอาจเกิดจากการบริโภคอาหารบางชนิด หรือการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีการปล่อยสารไอโอดีน เป็นเหตุให้ต่อมไทรอยด์ถูกกระตุ้นจนมีการหลั่งฮอร์โมนออกมาในปริมาณมาก
5.เกิดจากผลข้างเคียงของยารักษาโรคบางชนิด เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ มักจะได้รับยารักษา อะมิโอดาโรน ซึ่งมีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบหลักของยา และหากใช้ในปริมาณมาก ก็มีโอกาสไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้เช่นกัน รวมทั้งผู้ที่ทำการรักษาอาการต่าง ๆ จากโรคไทรอยด์อยู่แล้ว เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ รักษาปุ่มไทรอยด์ แล้วได้รับยาที่มีฮอร์โมนไทรอยด์สูง ก็อาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้ด้วย
6.เป็นเนื้องอกบริเวณต่อมใต้สมองและรังไข่ การที่ผู้ป่วยมีเนื้องอกบริเวณต่อมใต้สมองและรังไข่ จะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ช่วยกระตุ้นให้ต่อมฮอร์โมนทำงานมากกว่าปกติ จนกลายเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ได้เช่นกัน
อ่าน “อาการของโรคไฮเปอร์ไทรอยด์” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อาการของโรคไฮเปอร์ไทรอยด์
1.มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรง บางครั้งไม่สม่ำเสมอ ทำให้อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย
2.อุณหภูมิร่างกายไม่คงที่ ร้อนง่าย หนาวง่าย เหงื่อออกเยอะ
3.อารมณ์แปรปรวน ขี้หงุดหงิด
4.ผู้หญิงอาจมีประจำเดือนน้อยกว่าปกติ
5.กล้ามเนื้อต้นแขน ต้นขาอ่อนแรง บางครั้งเกิดอาการมือสั่น
6.คอโตผิดปกติ ใบหน้าบวม ตัวบวม
7.ทานอาหารได้มากขึ้น ทานจุขึ้น แต่น้ำหนักกลับลดลง
8.ในบางรายอาจมีอาการตาโปน ผิวแห้ง และผมร่วง
ภาวะแทรกซ้อนของไฮเปอร์ไทรอยด์
1.ภาวะแทรกซ้อนด้านสายตา ผู้ป่วยโรคเกรฟส์ที่เป็นสาเหตุของไฮเปอร์ไทรอยด์ ก็มักจะมีลักษณะตาโปนอยู่แล้ว และเมื่อเป็นโรคนี้อีกก็จะยิ่งทำให้ตาโปนออกมานอกเบ้ามากกว่าเดิม รวมทั้งมีความผิดปกติเกี่ยวกับตา อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้เลย
2.ภาวะแทรกซ้อนไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤติ หากป่วยโรคไทรอยด์ แล้วยังเพิกเฉยต่อการรักษา จะส่งผลให้อาการมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต และถ้าหากตั้งครรภ์อยู่ก็มีโอกาสที่จะแท้งบุตรได้
วิธีรักษาไฮเปอร์ไทรอยด์
วิธีการรักษาทางการแพทย์โดยทั่วไปนั้น สามารถทำได้โดย
1.การให้ยาต้านไทรอยด์ วิธีนี้ใช้ได้กับผู้ป่วยที่อายุไม่มาก และมีอาการของโรคไม่รุนแรง ตัวยาจะเข้าไปกดการทำงานของต่อมไทรอยด์ไม่ให้หลั่งฮอร์โมนออกมาในระยะหนึ่ง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการหลั่งฮอร์โมนที่มากผิดปกติได้ โดยปกติผู้ป่วยจะต้องกินยานี้เพื่อทำการรักษาอย่างน้อย 1-2 ปีขึ้นไป
2.กินน้ำแร่รังสีไอโอดีน หรือสารไอโอดีนกัมมันตรังสี วิธีนี้เป็นวิธีจำเพาะ ที่สามารถใช้ได้กับโรงพยาบาลบางแห่งที่มีการรักษาในด้านนี้เท่านั้น โดยการรักษาด้วยวิธีนี้ มีโอกาสที่จะรักษาโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ แบบหายขาดได้สูง ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปที่ยังมีอาการไม่รุนแรงมากนัก หรือผู้ป่วยที่ยังไม่พร้อมจะผ่าตัด รวมทั้งมีภาวะอื่นๆ แทรกซ้อนจนไม่สามารถผ่าตัดได้
3.การรักษาโดยการผ่าตัดไทรอยด์ วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์โตจนเบียดอวัยวะอื่นๆ ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะหายใจลำบากมากยิ่งขึ้น โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วน เพื่อทำให้มีขนาดเล็กลง ซึ่งจะควบคุมให้ฮอร์โมนหลั่งน้อยลงด้วย
วิธีป้องกันไฮเปอร์ไทรอยด์
ปัญหาของโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ เกิดจากความผิดปกติของร่างกายและภูมิต้านทานที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงไม่สามารถหาวิธีป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพได้ นอกจากการดูแลร่างกายตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ (โดยเฉพาะแคลเซียมและโซเดียม ควรได้รับในปริมาณที่พอดีต่อร่างกาย) แต่หากไม่แน่ใจว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคไฮเปอร์ไทรอยด์หรือไม่? ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และรักษาทันที ซึ่งยังมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ค่ะ
อ่าน “ไทรอยด์ในเด็กทารกเสี่ยงโรคเอ๋อ” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ไทรอยด์ในเด็กทารกเสี่ยงโรคเอ๋อ
พญ.พิริยา จันทราธรรมชาติ แพทย์ประจำสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า เด็กแรกเกิด 3,000-4,000 คน จะพบโรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน 1 คน ส่วนใหญ่พบบริเวณภาคเหนือและภาพตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนจะทำให้เกิดโรคเอ๋อ หรือภาวะปัญญาอ่อน สาเหตุเกิดจาก
1.ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น เด็กไม่มีต่อมไทรอยด์ หรือมีต่อมไทรอยด์ผิดตำแหน่ง
2.ความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น การขาดสารไอโอดีน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนในร่างกาย และเป็นสารสำคัญในการควบคุมอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโต
ป้องกันลูกจากโรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน
เพื่อเป็นการป้องกัน ลูกน้อยจึงควรตรวจคัดกรองโรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิดทันทีภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังคลอด โดยคุณหมอจะทำการตรวจโดยการเจาะเลือดที่ส้นเท้าหรือหลังมือเพียงเล็กน้อย หากลูกน้อยคนไหนที่ไม่ได้ตรวจ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรสังเกตและตรวจอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิดในช่วง 2-3 เดือนแรกว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ ได้แก่ ภาวะตัวเหลืองนาน ท้องผูก ท้องอืด ดูดนมไม่ดี ลิ้นโต กระหม่อมกว้าง หากมีควรรีบพาลูกไปรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ และสติปัญญาที่ดีของลูกน้อย
นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ และให้นมลูก ควรได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันความผิดปกติของลูกน้อย โดยแนะนำให้คุณแม่รับไอโอดีนอย่างน้อย 250 ไมโครกรัมต่อวัน และเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีควรได้รับไอโอดีนอย่างน้อย 90 ไมโครกรัมต่อวัน และเพิ่มเป็น 150 ไมโครกรัมต่อวันในช่วงวัยรุ่น
อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจระดับไอโอดีนในปัสสาวะของคุณแม่ตั้งครรภ์ทั่วประเทศ ปี 2556 พบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์กว่า 50% มีระดับไอโอดีนต่ำกว่ามาตรฐาน บ่งบองถึงภาวะขาดไอโอดีนที่มีผบต่อภาวะปัญญาอ่อนของลูกน้อยแรกเกิดได้ คุณแม่จึงควรรับประทานยาเม็ดวิตามินรวม ประกอบด้วยไอโอดีน ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิก ตั้งแต่ฝากครรภ์ไปจนถึงให้นมลูกน้อยเป็นเวลา 6 เดือน
ขอบคุณข้อมูลจาก mgronline / mahosot / สสส
อ่านบทความที่น่าสนใจ คลิก!!
เมื่อป่วยไทรอยด์เป็นพิษ…ตอนท้อง
โรคไทรอยด์อักเสบเรื้อรังฮาชิโมโตะ ภัยเงียบเพิ่มความเสี่ยงแท้งลูก
“โรคเอ๋อ” จากภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่