อาการของโรคไฮเปอร์ไทรอยด์
1.มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรง บางครั้งไม่สม่ำเสมอ ทำให้อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย
2.อุณหภูมิร่างกายไม่คงที่ ร้อนง่าย หนาวง่าย เหงื่อออกเยอะ
3.อารมณ์แปรปรวน ขี้หงุดหงิด
4.ผู้หญิงอาจมีประจำเดือนน้อยกว่าปกติ
5.กล้ามเนื้อต้นแขน ต้นขาอ่อนแรง บางครั้งเกิดอาการมือสั่น
6.คอโตผิดปกติ ใบหน้าบวม ตัวบวม
7.ทานอาหารได้มากขึ้น ทานจุขึ้น แต่น้ำหนักกลับลดลง
8.ในบางรายอาจมีอาการตาโปน ผิวแห้ง และผมร่วง
ภาวะแทรกซ้อนของไฮเปอร์ไทรอยด์
1.ภาวะแทรกซ้อนด้านสายตา ผู้ป่วยโรคเกรฟส์ที่เป็นสาเหตุของไฮเปอร์ไทรอยด์ ก็มักจะมีลักษณะตาโปนอยู่แล้ว และเมื่อเป็นโรคนี้อีกก็จะยิ่งทำให้ตาโปนออกมานอกเบ้ามากกว่าเดิม รวมทั้งมีความผิดปกติเกี่ยวกับตา อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้เลย
2.ภาวะแทรกซ้อนไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤติ หากป่วยโรคไทรอยด์ แล้วยังเพิกเฉยต่อการรักษา จะส่งผลให้อาการมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต และถ้าหากตั้งครรภ์อยู่ก็มีโอกาสที่จะแท้งบุตรได้
วิธีรักษาไฮเปอร์ไทรอยด์
วิธีการรักษาทางการแพทย์โดยทั่วไปนั้น สามารถทำได้โดย
1.การให้ยาต้านไทรอยด์ วิธีนี้ใช้ได้กับผู้ป่วยที่อายุไม่มาก และมีอาการของโรคไม่รุนแรง ตัวยาจะเข้าไปกดการทำงานของต่อมไทรอยด์ไม่ให้หลั่งฮอร์โมนออกมาในระยะหนึ่ง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการหลั่งฮอร์โมนที่มากผิดปกติได้ โดยปกติผู้ป่วยจะต้องกินยานี้เพื่อทำการรักษาอย่างน้อย 1-2 ปีขึ้นไป
2.กินน้ำแร่รังสีไอโอดีน หรือสารไอโอดีนกัมมันตรังสี วิธีนี้เป็นวิธีจำเพาะ ที่สามารถใช้ได้กับโรงพยาบาลบางแห่งที่มีการรักษาในด้านนี้เท่านั้น โดยการรักษาด้วยวิธีนี้ มีโอกาสที่จะรักษาโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ แบบหายขาดได้สูง ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปที่ยังมีอาการไม่รุนแรงมากนัก หรือผู้ป่วยที่ยังไม่พร้อมจะผ่าตัด รวมทั้งมีภาวะอื่นๆ แทรกซ้อนจนไม่สามารถผ่าตัดได้
3.การรักษาโดยการผ่าตัดไทรอยด์ วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์โตจนเบียดอวัยวะอื่นๆ ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะหายใจลำบากมากยิ่งขึ้น โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วน เพื่อทำให้มีขนาดเล็กลง ซึ่งจะควบคุมให้ฮอร์โมนหลั่งน้อยลงด้วย
วิธีป้องกันไฮเปอร์ไทรอยด์
ปัญหาของโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ เกิดจากความผิดปกติของร่างกายและภูมิต้านทานที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงไม่สามารถหาวิธีป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพได้ นอกจากการดูแลร่างกายตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ (โดยเฉพาะแคลเซียมและโซเดียม ควรได้รับในปริมาณที่พอดีต่อร่างกาย) แต่หากไม่แน่ใจว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคไฮเปอร์ไทรอยด์หรือไม่? ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และรักษาทันที ซึ่งยังมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ค่ะ
อ่าน “ไทรอยด์ในเด็กทารกเสี่ยงโรคเอ๋อ” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่