"ลูกผม(ฆ่า)ตัวตายเพราะโควิด"เมื่อ โรคติดเกม พรากลูกไป - Amarin Baby & Kids
โรคติดเกม กับเด็กฆ่าตัวตาย

“ลูกผม(ฆ่า)ตัวตายเพราะโควิด”เมื่อ โรคติดเกม พรากลูกไป

event
โรคติดเกม กับเด็กฆ่าตัวตาย
โรคติดเกม กับเด็กฆ่าตัวตาย

จากข่าวพ่อสูญเสียลูกชายเพราะลูกเป็น โรคติดเกม ในช่วงกักตัวจากเชื้อโควิด19 การฆ่าตัวตายในเด็กจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ชวนมาสังเกตและป้องกันให้ลูกก่อนสาย

“ลูกชายผม(ฆ่า)ตัวตายเพราะโควิด!!” เมื่อโรคติดเกมพรากลูกไป

ในโลกโซเซียลได้เกิดกรณีบทเรียนราคาแพงของคุณพ่อ Brad Hunstable จากเมือง Texas ที่ได้กรุณาเล่าถึงประสบการณ์ของครอบครัวที่ต้องสูญเสียลูกชายวัยซนน้อง Haydenในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด -19) โดยคลิปดังกล่าวได้เล่าย้อนไปถึงวันก่อนวันที่ประเทศสหรัฐอเมริกาต้องมีมาตรากักตัวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด -19 นั้น ครอบครัวของเขาก็เป็นเหมือนครอบครัวปกติทั่วไป ลูกชายร่าเริง ออกไปเล่นสนุกในกิจกรรมกลางแจ้งบ้าง เล่นเกมบ้าง แต่ก็ยังคงดำเนินชีวิต ร่าเริงตามปกติของเด็กทั่วไป

แต่เหตุการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไปเมื่อสหรัฐอเมริกาต้องขอให้ประชาชนล็อคดาวน์ประเทศด้วยการให้ประชาชนอยู่บ้านกักตัว ลดเชื้อ คุณพ่อได้เล่าว่าทำให้ลูกชายไม่สามารถไปไหนได้ แม้แต่โรงเรียน ลูกชายใช้เวลาทั้งวันนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เล่นเกมออนไลน์ และในช่วงแรก ๆ คุณพ่อยังรู้สึกด้วยว่าลูกดูจะมีพรสวรรค์ทางด้านนี้อีกด้วย เพราะลูกชายได้แชมป์เล่นเกมแนวสงครามเกมหนึ่งในระดับประเทศเลยทีเดียว และนั่นยิ่งทำให้ Hayden ภูมิใจมาก และยิ่งเป็นสาเหตุให้เขาติดเกมหนักขึ้นไปอีก

ครั้งหนึ่ง Hayden เล่นเกมแพ้ เขาเกิดอารมณ์โมโหจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และได้ทำลายจอมอนิเตอร์คอมพิวเตอร์พัง ด้วยการตีลงไปบนหัวของตัวเอง เมื่อคุณพ่อรู้จึงได้สั่งสอนลูกด้วยการ ไม่ซื้อเครื่องใหม่ให้ทันที แต่ต้องช่วยงานเพื่อแลกเงินเก็บสะสมเอง เพื่อไปซื้อใหม่ ซึ่ง Hayden ก็สามารถทำได้ในหลายเดือนต่อมา และคุณพ่อยังสังเกตด้วยว่าช่วงเวลาที่ลูกห่างจากเกมนั้น ดูเขาจะมีอาการดีขึ้น ไม่ก้าวร้าว อารมณ์ร้อน เหมือนช่วงติดเกม แต่หลังจากลูกได้จอมอนิเตอร์อันใหม่ ก็กลับไปสู่วงจรชีวิตเดิม กลับมาติดเกมเหมือนที่ผ่านมา

แล้วเรื่องร้ายไม่ขาดฝันก็เกิดขึ้น ในวันก่อนงานวันเกิด Hayden เพียงไม่กี่วัน เขาผูกคอตายในตู้เสื้อผ้าในห้องตัวเอง โดยคุณพ่อกล่าวว่าเป็นเพราะเขาทำลายจอมอนิเตอร์ จากการคุมอารมณ์โกรธไม่ได้อีกครั้ง และด้วยความกลัวที่จะไม่ได้จอใหม่ได้ทันก่อนงานวันเกิด เพราะพ่อคงไม่อนุญาตเหมือนคราวที่แล้ว ทำให้ Hayden คิดสั้นในคราวนี้ และนี่เป็นเรื่องราวที่คุณพ่อท่านนี้ได้ขึ้นหัวเรื่องคลิปไวรัลนี้ว่า

“ลูกชายของผมตายเพราะโควิด -19 My son died of Covid-19”

ลูกชายผมตายเพราะโควิด-19
ลูกชายผมตายเพราะโควิด-19

ย้อนกลับมาดูสถานการณ์การฆ่าตัวตายของเด็กไทย

เมื่อมาถอดบทเรียนจากกรณีของ Hayden นั้น คงไม่อาจกล่าวได้ว่าน้องตายเพราะเจ้าเชื้อไวรัสโควิด -19 เนื่องจากว่าน้องได้ฆ่าตัวตาย แต่ที่คุณพ่อได้เชื่อเช่นนั้น ก็เพราะว่าการกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดนั้นทำให้ลูกชายเป็น โรคติดเกม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้น้องไม่สามารถควบคุม และจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ โมโห ผิดหวัง จึงทำให้ตัดสินใจผิดพลาด ทำเรื่องที่น่าเสียใจลงไป

จากการสำรวจที่ทำโดยองค์การยูนิเซฟ ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ในโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ เก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามออนไลน์วันที่ 27 มีนาคม ถึง 6 เมษายน จากเด็กและเยาวชนอายุ 6 ปี ถึง 25 ปีขึ้นไป จำนวน 6,771 คนทั่วประเทศ พบว่าผลกระทบเกิดกับเด็กทุกกลุ่ม แต่น่าจะมีความรุนแรงเป็นพิเศษต่อนักเรียนในกลุ่มยากจน ครอบครัวเปราะบาง มีปัญหาความรุนแรง ยาเสพติด นักเรียนกลุ่มการศึกษาพิเศษ นักเรียนผู้พิการ ผู้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ที่ต้องการการดูแลจากครูอย่างใกล้ชิด สาเหตุความวิตกกังวลในเด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเรื่องสถานะการเงินของครอบครัว โอกาสในการเรียน และกังวลเรื่องการติดเชื้อไวรัส อีกทั้งความเสี่ยงต่อการถูกทารุณกรรม ทำร้ายร่างกาย เนื่องจากครอบครัวได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ปกครองมีความเครียดสูงขึ้น ร่วมกับการอยู่บ้านด้วยกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้โอกาสที่ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ในบ้านจะใช้อารมณ์ในการลงโทษเด็กอย่างรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นได้ อีกประการหนึ่ง เด็กๆจะเข้าสู่สังคมออนไลน์มากขึ้น มีความเสี่ยงในการถูกชักจูง ล่อลวงจากผู้ไม่หวังดีที่แฝงมาในสังคมออนไลน์ได้เพิ่มมากขึ้น

จากผลสำรวจดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าในช่วงเกิดการระบาดของไวรัสโควิด -19 นั้นยิ่งไปเพิ่มความเครียดให้แก่ผู้คนมากยิ่งขี้นในรอบด้าน และส่งผลกระทบถึงเด็กอีกด้วย โดยจากสถิติการฆ่าตัวตายของไทยจากเดิมก็มีอัตราที่น่าเป็นห่วงอยู่แล้ว ตามสถิติขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 14.4 ต่อประชากร 100,000 คน เป็นอันดับที่ 32 ของโลก โดยสาเหตุสำคัญของเด็กและวัยรุ่น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ การค้นหาตัวเอง การเรียน ความรัก การเผชิญกับปัญหาในโลกออนไลน์ เป็นต้น

ช่วงกักตัว ทำให้เด็กเป็น โรคติดเกม มากขึ้น
ช่วงกักตัว ทำให้เด็กเป็น โรคติดเกม มากขึ้น

รู้ทัน สำรวจลูก … ก่อนสาย

องค์การอนามัยโลกได้จัดให้การติดเกมเป็นโรคชนิดหนึ่ง โรคติดเกม (Gaming disorder) เป็นอาการทางจิตที่รุนแรงและต้องได้รับการบำบัดรักษาเช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดเกมออนไลน์ หรือ วิดีโอเกม การเล่นจนติดเกมแตกต่างจากการเล่นเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือเล่นเป็นงานอดิเรก คือ ผลกระทบที่เกิดจากการติดเกมเป็นผลทางด้านลบ ผู้เล่นไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ต้องเล่นอย่างต่อเนื่องและะยะเวลาการเล่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่สนใจการทำกิจกรรมอื่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าเด็กไทยเล่นเกมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับ 1 ของประเทศในแถบเอเชีย ปัญหาเด็กติดเกมอยู่ในขั้นวิกฤต และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี

รู้ทันก่อนลูกเป็นโรคติดเกม

ให้คุณพ่อคุณแม่ลองสำรวจอาการของลูกดูว่ามีพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้หรือไม่ และระดับความรุนแรงแค่ไหน

  1. เมื่อต้องหยุดเล่นหรือถูกขัดจังหวะ จะรู้สึกโกรธ และหงุดหงิดฉุนเฉียวอย่างรุนแรง แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้
  2. แยกตัวออกจากสังคม ตัดขาดจากโลกภายนอก เลือกที่จะใช้เวลาอยู่หน้าจอมากกว่าจะมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อนฝูง
  3. ละเลยการเรียน การทำงาน ตลอดจนกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ
  4. คิดและหมกมุ่นอยู่แต่กับการเล่นเกม วางแผนเพื่อที่จะเอาชนะในการเล่นเกมครั้งต่อไป จะโมโหฉุนเฉียวมากถ้าเล่นเกมแพ้
  5. ไม่สามารถหยุดเล่นได้ทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่ามีผลกระทบต่อตนเองอย่างมาก พยายามและดิ้นรนอย่างมากเพื่อให้ได้เล่นเกม
  6. ไม่ยอมรับความจริงว่าตนเองมีปัญหาติดเกม
  7. พฤติกรรมทางด้านลบอื่น ๆ เช่น พูดโกหก หรือขโมยเงินเพื่อเอาไปเล่นเกม ไม่ยอมไปโรงเรียน หรือเล่นจนกลายเป็นการติดการพนันในที่สุด

    การเอาใจใส่ของพ่อแม่ ช่วยลดปัญหา โรคติดเกม ให้ลูก
    การเอาใจใส่ของพ่อแม่ ช่วยลดปัญหา โรคติดเกม ให้ลูก

อันตรายของ โรคติดเกม

อาการเสพติดเกม ก็คล้ายกับการเสพติพยา คือก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพกายและจิตใจไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เมื่อต้องหยุดเล่นก็จะเกิดอาการคล้ายอาการที่เกิดจากการหยุดยาเสพติด ผลเสียทางร่างกาย เช่น เมื่อต้องเพ่งสายตาไปที่หน้าจอเป็นเวลานานๆ จะทำให้ดวงตาเกิดความอ่อนล้า ตาพร่ามัว ตาแห้ง การนั่งเล่นเกมเป็นเวลานานทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามตัว คอ ไหล่ และข้อมือ เกิดอาการขาดน้ำและขาดสารอาหาร หรือบางรายอาจเป็นโรคอ้วน เนื่องจากร่างกายเคลื่อนไหวน้อยลง ขาดการออกกำลังกาย ตลอดจนได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสม ดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยน้ำตาลและคาเฟอีนมากเกินไป ขาดการพักผ่อนนอนหลับ หลายคนต้องทนทุกข์ทรมานจากการอดหลับอดนอน เกมที่รุนแรงจะทำให้ผู้เล่นเคยชินกับพฤติกรรมที่รุนแรง เกิดอาการก้าวร้าวจากการที่ไม่สามารถเอาชนะเกม หรือในบางกรณีผู้เล่นสามารถเอาชนะเกมได้ทุกครั้ง แต่ชีวิตจริงไม่เหมือนกับในเกม ทำให้เกิดอาการหงุดหงิดฉุนเฉียว ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานที่รับผิดชอบ ผลการเรียนเลวลง ปัญหาทางด้านสุขภาพจิต เช่น เกิดความวิตกกังวล ซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น ในกรณีที่รุนแรง อาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น เกิดอาการวิตกกังวลชนิดหนึ่งที่กลัวการออกจากบ้าน กลัวที่ชุมชน (agoraphobia) ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ที่แยกตัวเองออกจากสังคม

แก้ไขได้เพียงแค่ใส่ใจ

โรคติดเกมเกิดได้กับเด็กและผู้ใหญ่ ในกรณีที่เป็นเด็ก พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะมีบทบาทสำคัญที่สุด อย่ามองเกมที่เด็กเล่นว่าไม่เป็นพิษเป็นภัยเหมือนเป็นของเล่นชนิดหนึ่ง ควรตระหนักเสมอว่าเด็กมีโอกาสติดเกมได้เหมือนติดสิ่งเสพติด ก่อนที่จะอนุญาตให้เด็กเล่นเกม ควรมีการสัญญาและตกลงกันก่อนว่า จะต้องทำการบ้าน อ่านหนังสือ หรืออาบน้ำกินข้าวก่อนถึงจะเล่นเกมได้ จำกัดเวลาเล่นเกม เช่นเล่นได้ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง เลือกประเภทเกมให้เด็กเล่น ให้รางวัลเมื่อเด็กทำตามที่ตกลงกันไว้ได้ เก็บอุปกรณ์ในการเล่นเกมรวมทั้งมือถือให้ห่างไกลจากเด็ก เบี่ยงเบนความสนใจของเด็กให้หันไปทำกิจกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกับพ่อแม่ได้ เช่น การอ่านหนังสือหรือเล่านิทานก่อนนอน เล่นกีฬาที่เด็กชอบ พาไปเดินเที่ยวในสวนสาธารณะ เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ให้มากขึ้น

ข้อมูลอ้างอิงจากบทความ รศ.ดร.ภญ. จิรภรณ์ อังวิทยาธร ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล pharmacy.mahidol.ac.th
โควิด-19 ทำให้เด็กต้องงดกิจกรรมกลางแจ้ง
โควิด-19 ทำให้เด็กต้องงดกิจกรรมกลางแจ้ง

แม้ว่าในโลกปัจจุบันที่การอยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสโควิด -19 จะยังเป็นเรื่องที่น่าห่วง และทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนบนโลกใบนี้ไปอย่างสิ้นเชิง และเมื่อยังไม่สามารถหาวิธีควบคุมการแพร่ระบาดใดได้ดีไปกว่าการกักตัวอยู่บ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการรับเชื้อแล้ว ทำให้พ่อแม่คงต้องเพิ่มความระมัดระวังอีกหนึ่งเรื่อง นอกจากการระวังการติดเชื้อแล้ว นั่นคือ การเฝ้าดูลูก ๆ ของเราให้เขาสามารถปรับตัวให้เขากับวิถีชีวิตใหม่นี้ได้อย่างไม่เป็นปัญหา อย่างในกรณีตัวอย่างน้อง Hayden ที่ยกมานั้น ชี้ให้เห็นแล้วว่าการปล่อยลูกให้เล่นเกมออนไลน์ทั้งวันทั้งคืน โดยปราศจากการดูแลนั้น ส่งผลเสียอย่างร้ายแรงมากแค่ไหน ปัญหาเด็กติดเกมเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังตามเรามา ไม่แพ้กับปัญหาด้านสุขภาพเลยทีเดียว เพราะการที่เด็กติดเกม และยิ่งเขาไม่มีผู้ใหญ่คอยตักเตือน สั่งสอนให้รู้จักการควบคุม และจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้นั้น มันก็ให้เกิดปัญหาใหญ่ที่ตามมาทั้งต่อตัวเด็กเอง และรอยร้าวในจิตใจของพ่อแม่ คนในครอบครัวหากเขาได้กระทำการอันร้ายแรงน่าเสียใจแบบ การฆ่าตัวตาย เช่นเดียวกับในกรณีของ Hayden ทาง ทีมแม่ ABK จึงขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของน้องมา ณ ที่นี้ และขออนุญาตนำเรื่องราวมาใช้เป็นอุทาหรณ์แก่พ่อแม่ท่านอื่นที่ไม่ควรละเลย ปล่อยลูกให้เสพสื่อโซเซียล หรือเล่นเกมออนไลน์โดยลำพังแบบไร้ผู้ใหญ่ควบคุมดูแล เพราะบางสิ่งไม่สามารถย้อนเวลากลับคืนมาได้

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก ประชาสัมพันธ์ กรมสุขภาพจิต

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

หมอชี้! โรคติดเกม ถือเป็นโรคทางจิตอย่างหนึ่ง

เผยผล ทดสอบ iq เด็กยุคใหม่ต่ำกว่าพ่อแม่!!

ลูกเก่งรอบด้าน แค่เพียงแม่ชวนลูก “นั่งสมาธิ”

10 วิธีสร้างวินัยเชิงบวก : เมื่อ ลูกอาละวาด เอาแต่ใจ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up