ลูกปวดท้อง พ่อจ๋าแม่จ๋า อย่านิ่งนอนใจ เพราะบางทีอาการดังกล่าวอาจเป็นอาการเริ่มต้นของ 4 โรคนี้!
โรคลำไส้กลืนกัน
อาการของโรค
– ลูกจะปวดท้องทุกครั้งที่ลำไส้เกิดการบีบตัว จนในบางครั้งทนไม่ไหวจึงส่งเสียงร้องกรี๊ดออกมา
– ตัวซีด มือ-เท้าเกร็ง เหงื่อออกตามร่างกาย และอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย และจะเริ่มมีไข้ต่ำและเริ่มซึ่ม
– อาการปวดท้องจะค่อย ๆ ลดลงเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นชั่วขณะ จนกระทั่งเด็กปวดท้องอีกครั้งพร้อมกับอาเจียนซึ่งอาจจะมีสีเขียวของน้ำดีปนมาด้วย
– เมื่อลำไส้กลืนกันมากขึ้น ลูกจะเริ่มถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมีลักษณะเป็นเลือดสีคล้ำปนออกมากับมูก หรืออาจจะออกมาเป็นเลือดสดก็ได้
การรักษา
– แพทย์จะทำการดันลำไส้ส่วนที่เคลื่อนตัวเข้าไป ให้ออกมาจากลำไส้ส่วนที่กลืนกันอยู่โดยการใช้แรงดันผ่านทางทวารหนัก โดยการสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบแสง หรือใช้แรงกดอากาศจากกาซเป็นตัวดัน หากสามารถดันลำไส้ที่กลืนกันออกได้ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด หากลูกสามารถกินนมแม่หรืออาหารเสริมได้ตามปกติภายในเวลา 12 ชั่วโมง หลังจากการดัน และกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วัน
– ในกรณีที่ลำไส้มีการกลืนกันเป็นระยะเวลานาน จนเกิดการเน่าของลำไส้ หรือไม่สามารถดันลำไส้ที่กลืนกันออกมาได้ จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดให้ลำไส้ส่วนที่กลืนกันคลายตัวออกจากกัน และถ้าลำไส้มีการเน่าตายแล้วก็จำเป็นต้องผ่าตัดตัดต่อลำไส้ส่วนที่ดีเข้าหากัน การดูแลหลังการผ่าตัดนั้น อาจใช้เวลานานกว่าการใช้วิธีดันลำไส้ ลูกจะสามารถกินอาหารได้ตามปกติหลังจากนั้น 3-5 วัน
สิ่งที่พ่อแม่ต้องระวัง
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่รู้ว่าลูกน้อยป่วยเป็นโรคลำไส้กลืนกัน เมื่อใดก็ตามที่เห็นว่าลูกมีอาการปวดท้อง อาเจียน มีไข้ อาจนึกไปว่าเป็นโรคลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อหรือเป็นโรคบิด ซื้อยามารับประทานเอง กระทั่งลำไส้เริ่มมีการขาดเลือด จนลูกถ่ายอุจจาระเป็นเลือดปนมูกจึงไปแพทย์ ทำให้ได้รับการรักษาที่ช้าเกินไป แม้ว่าอุบัติการณ์ของการเกิดโรคลำไส้กลืนกันมีไม่มากนัก แต่ก็ยังเป็นโรคที่มีความรุนแรง อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงไม่ควรนิ่งนอนใจกับอาการปวดท้องที่เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างเร่งด่วนค่ะ
ลูกปวดท้องอย่านิ่งนอนใจ อาจเป็นสัญญาณของโรคถัดไปก็เป็นได้
โรคไส้ติ่งอักเสบ
ไส้ติ่งอยู่บริเวณด้านขวาของช่องท้องตรงใกล้รอยต่อของลำไส้เล็กกับลำไส้ใหญ่ มีปลายข้างหนึ่งตัน แต่ก็จะมีช่องเล็ก ๆ ทางปลายอีกด้านที่ต่อกับลำไส้ เมื่อเกิดการอุดตัน ก็อาจเป็นเหตุให้เชื้อโรคสามารถเจริญเติบโต จนเกิดอาการบวมและอักเสบได้ สาเหตุของการเกิดโรค พบว่าร้อยละ 80 เกิดจากต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ส่วนโคนลำไส้บวมขึ้นมา ทำให้รูดังกล่าวอุดตัน และอีกร้อยละ 20 เกิดจากเศษอุจจาระที่แข็งตัวไปอุดรูเปิด เมื่อมีการอุดตันที่ตัวไส้ติ่ง ก็จะเกิดการอักเสบเนื่องจากเชื้อโรคที่เจริญเติบโตได้ดี ทำให้เกิดการขาดเลือด จนเกิดการอักเสบบริเวณไส้ติ่งที่อยู่ส่วนต้นของลำไส้ใหญ่
อาการของโรค
- ร้องไห้จากอาการปวดท้อง เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีไข้ตามมา
- เด็กบางรายจะมีอาการชัดเจนขึ้นด้วยอาการเริ่มปวดท้อง มักจะเป็นรอบสะดือ และหลายชั่วโมงต่อมาอาการปวดท้องจะชัดเจนมากขึ้น และจะย้ายตำแหน่งที่ปวดมาปวดบริเวณหน้าท้องด้านขวาตอนล่าง ซึ่งถือได้ว่าเป็นตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุด แต่ก็อาจจะปวดในตำแหน่งอื่น ๆ แล้วแต่ตำแหน่งของปลายไส้ติ่งค่ะ
การรักษา
ทำได้โดยการเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัด
สิ่งที่ต้องระวัง
โรคไส้ติ่งอักเสบดูเหมือนไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่หากเกิดความล่าช้าในการวินิจฉัยโรคหรือทำการรักษาช้าเกินไป จนไส้ติ่งเน่าและแตก ทำให้เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ก็อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ ดังนั้น ถ้าลูกมีอาการปวดท้อง แม้ว่าอาการจะยังไม่ชัดเจน แต่หากดูแล้วน่าสงสัย คุณพ่อคุณแม่ต้องอย่านิ่งนอนใจนะคะ ให้รีบนำลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
ลูกปวดท้องอย่านิ่งนอนใจ อาจเป็นสัญญาณของโรคถัดไปก็เป็นได้
โรคไส้เลื่อน
โดยปกติภายในช่องท้อง จะมีผนังหน้าท้องที่แข็งแรงป้องกันอยู่โดยรอบ แต่ส่วนที่ทำให้เกิดปัญหา คือบริเวณขาหนีบ ซึ่งมักจะพบว่ามีส่วนถุงเยื่อบุช่องท้องยื่นออกมาตรงขาหนีบ ปกติแล้วส่วนถุงนี้มักจะปิดได้เองโดยธรรมชาติ แต่บางครั้งก็ไม่เป็นไปตามธรรมชาติหรือไม่ปิดนั่นเอง ทำให้ลำไส้อาจเคลื่อนตามออกมาด้วย ส่วนใหญ่ยังพบอีกว่า มักเป็นกับเด็กผู้ชาย เพราะถุงเยื่อบุช่องท้องมักจะเปิดอยู่ อันเป็นผลจากการเคลื่อนตัวของอัณฑะซึ่งเดินทางจากภายในช่องท้องลงมาที่ถุงอัณฑะ เด็กผู้หญิงก็มีไส้เลื่อนด้วยเช่นกัน แต่การเคลื่อนที่ของไส้เลื่อนจะลงมาได้ถึงแค่บริเวณหัวหน่าวเท่านั้น เด็กทารกที่เกิดก่อนกำหนดจะมีภาวะความเสี่ยงของโรคไส้เลื่อนมากกว่าเด็กปกติทั่วไป
อาการของโรค
- คุณพ่อคุณแม่อาจพบก้อนเนื้อผิดปกติปูดขึ้นบริเวณขาหนีบหรือที่ถุงอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง ขณะที่ลูกร้องเบ่งเสียง
- ก้อนเนื้อที่ปูดขึ้นมาอาจผลุบ ๆ โผล่ ๆ ให้เห็น เวลาที่ลูกยืนหรือเดินนาน ๆ และอาจจะยุบหายไปในขณะที่ลูกนอนหลับ บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะสังเกตเห็นไส้เลื่อนในขณะที่อาบน้ำก็ได้
การรักษา
เข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัด ปิดผนังช่องท้อง
สิ่งที่ต้องระวัง
บางครั้งลำไส้อาจเคลื่อนกลับเข้าไปในช่องท้อง และไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่ถ้าลำไส้เคลื่อนออกมาแล้วกลับเข้าไปไม่ได้ เมื่อถูกปล่อยทิ้งไว้นาน ลำไส้ก็จะขาดเลือดทำให้ลำไส้เน่า ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ อายุน้อยกว่าหนึ่งปี และเมื่อสงสัยว่าลูกมีอาการของโรคไส้เลื่อน ควรรีบพาเด็กมาพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาทันทีค่ะ
ลูกปวดท้องอย่านิ่งนอนใจ อาจเป็นสัญญาณของโรคถัดไปก็เป็นได้
โรคลำไส้อักเสบ
โรคลำไส้อักเสบเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุเลยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น การติดเชื้อ ทั้งจากเชื้อแบคทีเรียและไวรัส พยาธิ แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดเป็นพวกไวรัสซึ่งทำให้เกิดอุจจาระร่วงแบบเฉียบพลัน นอกจากนี้อาจจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบที่ลำไส้โดยตรง หรืออาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ก็เป็นได้
อาการของโรค
- อาเจียน คลื่นไส้ อุจจาระร่วง
- ปวดท้อง เป็นไข้ อาเจียน คลื่นไส้
การรักษา
หลัก ๆ แล้วก็คือ ให้กินน้ำเกลือแร่ หรือผงเกลือแร่ละลายน้ำ และให้ลูกรับประทานอาหารที่เหมาะสม หากลูกเริ่มถ่ายเป็นมูกเลือดก็ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันทีเช่นกันค่ะ
สิ่งที่ต้องระวัง
คือเรื่องความสะอาด ความสุก สด ของอาหาร และสุขอนามัยที่ถูกสุขลักษณะของลูกนั่นเองค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับ 4 โรค ที่อาจแฝงมากับอาการปวดท้องของลูก ทีนี้คุณพ่อคุณแม่ก็พอจะทราบกันแล้วใช่ไหมคะว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกปวดท้อง อย่านิ่งนอนใจเด็ดขาด เพราะบางทีลูกอาจจะป่วยเป็นโรคที่กล่าวมาแล้วนี้ก็เป็นได้
เครดิต: รศ. นพ. รวิศ เรืองตระกูล สาขาวิชากุมารศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
- แชร์ประสบการณ์ พาลูกตรวจเช็ก “สมาธิสั้น” พร้อมวิธีแก้
- เตือนพ่อแม่! อย่าเพิกเฉย ทุกครั้งที่ลูกปวดหัว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่