ไข้เลือดออกเป็นแล้วน่ากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการรู้ให้เท่าทัน พ่อแม่ต้องรู้จักและเข้าใจ อาการของไข้เลือดออก!
กลับมาอีกครั้งหนึ่งแล้วกับโรคยอดฮิตสุดอันตรายที่ใคร ๆ ก็เป็นได้ หากไม่สังเกตอาการให้ดีหรือหาหมอช้าอาจส่งผลทำให้เสียชีวิตเอาได้! ซึ่งจากสถานการณ์ล่าสุดนั้นพบว่า มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทยของเรา ทำให้ทีมงาน Amarin Baby and Kids เกิดความรู้สึกเป็นห่วงทุก ๆ ครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่มีเด็กเล็กและผู้สูงอายุ
มีนักวิจัยแพทย์ไทยเผยโรคไข้เลือดออกพบว่า โรคไข้เลือดออกนั้น ไม่เคยเลือกเพศหรือวัย เรียกได้ว่าสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคนจริง ๆ โดย ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศ ได้ให้ความรู้ว่า “โรคไข้เลือดออกยังเป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางและจัดเป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งองค์การอนามัยโลกพบผู้ติดเชื้อในทวีปเอเชียและอเมริกาใต้เพิ่มขึ้นทุกปี ร้อยละ 75 ของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในโลกนี้อยู่ในทวีปเอเซีย รองลงมาคือในทวีปอเมริกาใต้”
ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกมิได้เป็นเฉพาะในเด็ก มีสถิติให้เห็นชัดเจนว่าใน 20 ปีที่ผ่านมา โรคนี้ขยายไปในกลุ่มอายุที่สูงขึ้นทุกวัย แม้แต่วัยผู้สูงอายุ 80-90 ปี ก็พบได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นในผู้ใหญ่มีโอกาสเสียชีวิตได้ง่ายกว่าเด็กเลยละค่ะ
จากรายงานพบว่า การกระจายของโรคไข้เลือดออกนั้น หากแบ่งตามอายุจะพบได้ว่า ส่วนใหญ่แล้วพบในเด็ก โดยจะยกตัวอย่างจำนวนผู้ป่วยที่พบจากจำนวนประชากร 100,000 คนดังนี้
- ร้อยละ 48.7 เป็นเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 0-4 ปี
- ร้อยละ 30.54 เป็นกลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5-9 ปี
- ร้อยละ 28.58 เป็นกลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 10-14 ปี
- เป็นต้น
หากดูจากสถิตินั้น ไม่ใช่ ๆ น้อย ๆ เลยนะคะ คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะเกิดข้อสงสัยว่าแล้วเราจะมีวิธีการสังเกต อาการของไข้เลือดออก ได้อย่างไร แล้วจะมีวิธีการป้องกันอะไรหรือไม่นั้น ไปดูพร้อม ๆ กันเลยดีกว่าค่ะ
อาการของไข้เลือดออก
อาการของไข้เลือดออก ที่พบนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ผู้สูงวัยก็มีอาการที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ
- มีระยะฟักตัวของเชื้อก่อนที่จะแสดงอาการ 5-8 วัน
- มีไข้สูงลอย 2-7 วัน (38.5-41 องศาเซลเซียส)
- ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ร่วมกับปวดตามกล้ามเนื้อมาก
- บางรายมีเลือดออกผิดปกติ เช่น ถ่ายเป็นสีดำ อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง
- อาจพบตับโต คือ กดเจ็บบริเวณใต้ชายโครงขวา
** ในรายที่รุนแรงจะมีภาวะช็อก หากรักษาไม่ทัน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 24-48 ชั่วโมงเท่านั้น **
ด้านนายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้เปิดเผยว่า สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าสังเกตลูกก็คือ 9 สัญญาณอาการบ่งบอกว่า ลูกอาจจะกำลังเป็นไข้เลือดออกก็เป็นได้ อาการที่น่าสังเกตมีดังนี้ค่ะ
- ไข้อาจจะไม่ลดลงหรือลดลงก็ได้ แต่อาการโดยรวมแล้วแย่ลง อีกทั้งยังเบื่ออาหาร ไม่ค่อยเล่น และดูอ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ อาเจียนตลอดเวลา
- ลูกมีอาการปวดท้องมาก
- ลูกมีเลือดออกมาก ยกตัวอย่างเช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
- พฤติกรรมของลูกเปลี่ยนไปจากปกติ ยกตัวอย่างเช่น จากเด็กที่เคยขี้เล่นสดใส ก็กลายเป็นเด็กที่เซื่องซึม
- ลูกกระหายน้ำอยู่ตลอดเวลา
- ลูกร้องไห้งอแงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก
- ตัวเย็น สีผิวคล้ำลง หรือตัวลายมากขึ้น
- ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะเลยนานเกิน 4-6 ชั่วโมง
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตแล้วพบว่า ลูกน้อยมีอาการดังต่อไปนี้ อย่ารอช้านะคะ ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์โดยทันที หากช้าเกินไป ลูกอาจจะช็อกและเสียชีวิตได้ค่ะ
นอกเหนือจากนี้ นายแพทย์สมเกียรติ ยังได้แนะนำถึงวิธีการป้องกันไข้เลือดออกซึ่งสามารถทำได้ 3 ขั้นตอนด้วยกัน ซึ่งเปรียบเสมือนกับเป็นการสร้างเกราะภูมิคุ้มกันถึง 3 ชั้นดังนี้
- เกราะคุ้มกันชั้นที่ 1: แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปี จนถึงผู้ใหญ่อายุ 45 ปี แบ่งการฉีดเป็น 3 เข็ม ระยะห่างกัน 6 เดือน (0, 6, 12 เดือน) แต่ไม่แนะนำให้ฉีดในเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปี ซึ่งเป็นวัคซีนสำหรับป้องกันโรคไข้เลือดออกจากไวรัสเดงกี่เท่านั้น จากการวิจัยพบว่า วัคซีนนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 60 % และสามารถป้องกันการเกิดโรครุนแรงได้ 90% แต่ถ้าร่างกายของผู้รับการฉีดวัคซีนเคยมีการติดเชื้อไวรัสเดงกี่อยู่แล้ว ก็จะยิ่งเป็นการเสริมภูมิป้องกันได้ดียิ่งขึ้น
- เกราะคุ้มกันชั้นที่ 2 คือ การช่วยกันกำจัดทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย เช่น แหล่งน้ำขังในบ้าน การป้องกันตัวเองและบุตรหลานไม่ให้ยุงกัด ด้วยการนอนในมุ้ง ทายากันยุง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ
- เกราะคุ้มกันชั้นที่ 3 คือการไปพบแพทย์เมื่อป่วยเป็นไข้ ควรติดตามอาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
เช่นเดียวกันกับด้านกรมควบคุมโรค ซึ่งก็ได้มีการเสนอแนะแนวทางการปฏิบัติคือ “3 ก. อันได้แก่ 3 เก็บ 3 โรค“ คือ
- เก็บบ้าน – คุณพ่อคุณแม่ควรเก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง เพื่อไม่ให้ยุงลายได้เกาะพัก
- เก็บขยะ – จะต้องหมั่นเก็บขยะเศษภาชนะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธ์ุของยุงลายเป็นประจำทุกวัน
- เก็บน้ำ – เก็บน้ำให้มิดชิด ปิดฝาภาชนะ ภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ ก็ให้ปล่อยน้ำทิ้งหรือเปลี่ยนน้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ หรืออาจจะปล่อยปลาหางนกยูงลงไปในน้ำเพื่อให้ช่วยกินยุงก็ได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ
- หลีกเลี่ยงการถูกยุงกัด โดยนอนในมุ้ง หรือห้องที่มีมุ้งลวด หรือจุดยากันยุง ใช้ยาทากันยุง
- ไม่อยู่ในบริเวณอับลมหรือเป็นมุมมืด มีแสงสว่างน้อย เนื่องจากเป็นบริเวณที่ยุงชอบ
- หมั่นอาบน้ำให้สะอาด ปราศจากกลิ่นเหงื่อไคล เพราะกลิ่นเหงื่อไคลจะดึงดูดให้ยุงเข้ามากัดเรามากขึ้น
- สวมเสื้อผ้ามิดชิดหากจำเป็นต้องออกข้างนอกตอนกลางคืน
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะแหล่งน้ำขังภายในบ้านและรอบ ๆ บ้าน เช่น จานรองขาตู้กับข้าวกันมด แจกันดอกไม้ ภาชนะเลี้ยงพลูด่าง จานรองกระถางต้นไม้ หรือกระทั่งเศษวัสดุไม่ใช้แล้วแต่มีน้ำไปขังอยู่ได้ เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก: สสส., กรมควบคุมโรค และมติชนออนไลน์
อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่