โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue) ซึ่งมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ มีพาหะนำโรคคือยุงลาย ซึ่งมักมาพร้อมฝนและน้ำขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่ถูกใจยุงลายอย่างยิ่ง ยุงลายนั้นปกติจะออกหากินเวลากลางวัน ตั้งแต่ช่วงสายจนถึงเย็น แต่บางครั้งก็พบยุงลายออกหากินช่วงพลบค่ำด้วย จุดสังเกตที่เห็นได้ชัดเจนคือมีสีดำสลับขาวทั้งหัว ตัว และขา
อย่าชะล่าใจเมื่อเป็น ไข้เลือดออก โอกาสเสียชีวิตสูง!
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคอันตรายที่มีความรุนแรง (เป็นเชื้อไวรัสที่คล้ายโรคอีโบล่า) โดยในประเทศไทยพบได้ทั้งปีแต่จะพบมากช่วงฤดูฝน
โรคไข้เลือดออก อันตราย ป่วยได้ทั้งเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีความรุนแรงของอาการแตกต่างกัน ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น อายุ ภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นต้น การติดเชื้อไข้เลือดออกครั้งแรกผู้ป่วยมักมีอาการไม่รุนแรง แต่หากติดเชื้อครั้งที่ 2 ด้วยเชื้อต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาการมักจะรุนแรงถึงขั้นเลือดออกหรือช็อกได้
ผู้ป่วย ไข้เลือดออก ในระยะที่มีไข้สูงจะมีเชื้อไวรัสเดงกีอยู่ในกระแสเลือด เมื่อยุงลายมากัดผู้ป่วย เชื้อไวรัสนั้นก็จะเข้าสู่ตัวยุง จากนั้นเชื้อจะเพิ่มจำนวนขึ้นในตัวยุงและไปรวมกันที่ต่อมน้ำลายของยุง เมื่อยุงไปกัดคนครั้งต่อไปจึงแพร่เชื้อเข้าสู่คนที่โดนยุงตัวนั้นกัดนั่นเอง
ลักษณะเด่นของ ไข้เลือดออก
- มีระยะฟักตัวของเชื้อก่อนที่จะแสดงอาการ 5-8 วัน
- มีไข้สูงลอย 2-7 วัน (38.5-41 องศาเซลเซียส)
- ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ร่วมกับปวดตามกล้ามเนื้อมาก
- บางรายมีเลือดออกผิดปกติ เช่น ถ่ายเป็นสีดำ อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง
- อาจพบตับโต คือ กดเจ็บบริเวณใต้ชายโครงขวา
** ในรายที่รุนแรงจะมีภาวะช็อก หากรักษาไม่ทัน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 24-48 ชั่วโมงเท่านั้น **
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ รักษาอย่างไร เมื่อเป็นไข้เลือดออก คลิกหน้า 2
รู้เร็ว! ดูแลรักษาได้ทันท่วงที
ต้องหมั่นสังเกตตนเองและคนในครอบครัวอยู่เสมอ หากใครมีอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นไข้เลือดออก คือ มีไข้เฉียบพลัน ติดต่อกันนานเกิน 3 วัน ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจ โรคไต เพราะต้องรับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่ควรปล่อยไว้หรือซื้อยาลดไข้มารับประทานเอง เนื่องจากผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่มักไปพบแพทย์ช้า ไปเมื่อมีอาการมากแล้ว
หากลูกมีอาการเหล่านี้ พาไปพบแพทย์ด่วน!!
อาการของโรคไข้เลือดออก ที่ต้องพาลูกไปพบแพทย์ทันที ได้แก่
- เบื่ออาหาร
- ไม่ดื่มน้ำ ถ่ายปัสสาวะน้อยลง
- ซึมหรืออ่อนเพลียมาก
- มีเลือดกำเดาไหล
- อาเจียนเป็นเลือด
- ปวดท้องกะทันหัน
- ถ่ายอุจจาระดำ
- กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น
โรคไข้เลือดออก ยังไม่มียารักษาได้โดยตรง
ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนสำหรับป้องกันและต้านเชื้อไวรัสเดงกีโดยเฉพาะ จึงทำได้เพียงรักษาตามอาการ และประคับประคองอาการเท่านั้น ซึ่งหากแพทย์วินิจฉัยพบในระยะเริ่มต้นจะส่งผลดีที่สุดต่อผู้ป่วย เพื่อจะได้เข้ารับการดูแลรักษา รวมถึงเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนได้ก่อนที่อาการจะรุนแรง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุด คลิกหน้า 3
การป้องกัน ไข้เลือดออก
- หลีกเลี่ยงการถูกยุงกัด โดยนอนในมุ้ง หรือห้องที่มีมุ้งลวด หรือจุดยากันยุง ใช้ยาทากันยุง
- ไม่อยู่ในบริเวณอับลมหรือเป็นมุมมืด มีแสงสว่างน้อย เนื่องจากเป็นบริเวณที่ยุงชอบ
- หมั่นอาบน้ำให้สะอาด ปราศจากกลิ่นเหงื่อไคล เพราะกลิ่นเหงื่อไคลจะดึงดูดให้ยุงเข้ามากัดเรามากขึ้น
- สวมเสื้อผ้ามิดชิดหากจำเป็นต้องออกข้างนอกตอนกลางคืน
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะแหล่งน้ำขังภายในบ้านและรอบๆ บ้าน เช่น จานรองขาตู้กับข้าวกันมด แจกันดอกไม้ ภาชนะเลี้ยงพลูด่าง จานรองกระถางต้นไม้ หรือกระทั่งเศษวัสดุไม่ใช้แล้วแต่มีน้ำไปขังอยู่ได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันได้ดีสุด
- ปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิดเสมอ
- ภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ อาจใส่ปลากินลูกน้ำจำพวกปลาหางนกยูง ปลาสอด จำนวน 2-10 ตัว ขึ้นกับขนาดภาชนะ หรือใส่ทรายกำจัดลูกน้ำในอัตรา 1 กรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร จะช่วยคุมไม่ให้มีลูกน้ำได้ 1-3 เดือน
- ล้างและเปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้ ภาชนะปลูกพลูด่างและไม้ประดับอื่นๆ ที่ต้องแช่น้ำทุกสัปดาห์
- จานรองขาตู้กับข้าวกันมดอาจใส่เกลือแกง 2 ช้อนชา หรือน้ำส้มสายชู 5% 1 ช้อนชาครึ่ง หรือผงซักฟอกครึ่งช้อนชา ต่อจาน 1 ใบ หรือเปลี่ยนไปใส่ชันหรือขี้เถ้าแทนการใส่น้ำ หรือใช้การเทน้ำเดือดใส่จานรองทุกสัปดาห์ก็ได้
- จานรองกระถางต้นไม้ควรเทน้ำขังทิ้งทุกสัปดาห์
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
10 ต้นไม้ไล่ยุง ที่ควรปลูกไว้บริเวณบ้าน
เปรียบเทียบสารสำคัญในสเปรย์กันยุงและแผ่นแปะกันยุง ซื้ออย่างไร แบบไหนดี?
ขอบคุณข้อมูลจาก
- บทความ “แพทย์เตือนทุกพื้นที่ ระวัง “โรคไข้เลือดออก”” โดย แพทย์หญิงกรุณา อธิกิจ อายุรแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท
- หนังสือ “โรคไข้เลือดออกสำหรับประชาชน และเครือข่ายประชาสังคม” โดย สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการเว็บไซต์ Amarin Baby & Kids
ภาพ : Shutterstock