เด็ก 6 ขวบเป็นไข้เลือดออก ชนิดเดียวกับปอ-ทฤษฎี เสียชีวิต ที่จังหวัดตรัง พ่อเผยลูกเป็นไข้ 8 วันเสียชีวิต เตือนพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก อย่าประมาทยุงลาย ไข้เลือดออกป้องกันได้เพียงทำลายลูกน้ำยุงลาย
เด็ก 6 ขวบเป็นไข้เลือดออก ชนิดเดียวกับปอ-ทฤษฎี เสียชีวิต
นายเชาวลิต ชื่นจิตร อายุ 34 ปี และนางสุกัญญา หลุ่งตี้ อายุ 31 ปี พ่อแม่ของด.ช.ชญาวัตร ชื่นจิตร หรือน้องเชาว์ อายุ 6 ขวบ นักเรียนโรงเรียนทุ่งยาววิทยา ที่เสียชีวิตจากไข้เลือดออก เปิดเผยว่า น้องเชาว์ ลูกชายเริ่มมีอาการป่วยวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ตนเองได้ไปซื้อยามาให้ลูกรับประทานเอง ผ่านมา 2 วันลูกอาการไม่ดีขึ้น จึงนำตัวลูกส่งโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง และพบว่าเกล็ดเลือดต่ำ และมีอาการไข้สูงขึ้นเรื่อยๆ และเกล็ดเลือดเริ่มลดต่ำลงไปทุกขณะ ซึ่งคุณหมอต้องรักษาตามอาการ จากการตรวจหมอสันนิษฐานว่าเป็นไข้เลือดออก จนเกล็ดเลือดลูกลดต่ำลงมากและมีอาการทรงตัว ไอ อาเจียนออกมาเป็นเลือดสีดำ และอาการไข้สูงมาก ทางหมอเองพยายามไม่ให้กินยาแก้ไข้ ตัวลูกชายเองร้องงอแงตลอด แต่ด้วยอาการของน้องไม่ดีขึ้นทางโรงพยาบาลจึงส่งตัวไปต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ตรังซึ่งเป็นโรงพยาบาลจังหวัดมีอุปกรณ์การแพทย์ที่พร้อมในการรักษามากกว่า
หลังจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ตรัง หมอบอกว่าส่งมาช้าไป ลูกชายมีอาการอาเจียนออกมาเป็นเลือดสีดำ ถ่ายออกมาเป็นเลือดสีดำตลอดเวลา ในคืนที่ 2 ของการอยู่ในห้อง ICU โรงพยาบาลศูนย์ตรังประมาณตอนเที่ยงคืนเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือปฐมพยาบาลลูกชาย ก่อนจะออกมาบอกตนเองว่าลูกชายอาการแย่และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งทางหมอบอกว่ามีการนำเชื้อไปเพาะแต่ยังตรวจหาเชื้อไม่เจอ และบอกว่าเป็นไข้เลือดออกสายพันธุ์เดียวกับ ปอ-ทฤษฎี ดารานักแสดงที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ สำหรับตัวน้องเชาว์ ลูกชายเป็นเด็กอารมณ์ดี ชอบวาดภาพ เรียนอยู่ในระดับปานกลาง มีน้องชายอีกคน ชื่อ ด.ช.ชัยภัทร ชื่นจิตร หรือน้องอิคคิว อายุ 5 ขวบ และขณะนี้ได้ระวังในการนอนไม่ให้ยุงกัดอยู่ตลอดเวลา
คุณพ่อของน้องเชาว์ไม่ติดใจในกระบวนการรักษาของโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง เพราะให้การรักษาช่วยเหลือเป็นอย่างดี แต่คุณพ่อรู้สึกไม่สบายใจที่ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อ.ปะเหลียน แจ้งว่าลูกชายตนเองติดเชื้อในการแสเลือด ทั้งที่โรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง ยืนยันว่าติดเชื้อไข้เลือดออก และทางโรงพยาบาลศูนย์ตรังยังแจ้งให้ตนเองทราบว่าตอนนี้ยังคงเพาะเชื้อเพราะยังไม่ทราบว่าเป็นสายพันธุ์อะไร
ทั้งนี้คุณพ่ออยากฝากถึงผู้ปกครองหรือผู้ที่ดูแลบุตรหลานให้คอยระแวดระวังดูแลเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นที่เป็นแอ่งน้ำ หรือที่ภาชนะที่มีน้ำเหมาะแก่การวางไข่ของยุงให้ช่วยกันทำลาย เพื่อความปลอดภัยของบุตรหลานของท่านเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
อ่านต่อ วิธีสังเกตอาการไข้เลือดออก ลดอัตราเสี่ยงเสียชีวิต คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
คุณพ่อคุณแม่ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนว่าลูกเคยเจ็บป่วยด้วยไข้เลือดออก อาจไม่แน่ใจว่าอาการของโรคที่แสดงออกมานั้นเป็นเช่นไร ดังนั้นเพื่อให้ลูกหลานของเราได้ปลอดภัยจากไข้เลือดออก ถ้าพ่อแม่ หรือผู้ดูแลเด็กได้รู้อาการของโรคนี้ในเร็วในเบื้องต้น ก็จะสามารถช่วยให้นำไปสู่การรักษาได้อย่างทันท่วงที สามารถลดอัตราเสี่ยงจากการเสียชีวิตลงได้ค่ะ
อาการของ โรคไข้เลือดออก
หากเกิดขึ้นกับเด็กในครั้งแรกมักจะไม่อาการแสดงให้เห็นมากนัก จะมีก็แค่ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีอาการไข้ และมีผื่นขึ้นบนผิวหนัง แต่เมื่อใดก็ตามที่เด็กเกิดป่วยไข้เลือดออกอีกครั้งที่เกิดจากเชื้อต่างสายพันธุ์กับหนแรก จะมีอาการแสดงของโรคที่พ่อแม่สังเกตได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เด็กบางคนอาจชัก เนื่องจากไข้สูงเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน[1]
- ระยะช็อค ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยจะซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ในรายที่รุนแรง จะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อค และอาจถึงตายได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง[2]
3. ระยะพักฟื้น อาการต่างๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว[3]
แนะนำว่าหากลูกๆ ที่บ้านมีอาการของไข้เลือดออกไม่ว่าจะเพิ่งเป็นครั้งแรก หรือเจ็บป่วยขึ้นมาอีกครั้ง พ่อแม่อย่าชล่าใจให้รีบพาลูกไปโรงพยาบาลทัน คือป้องกันให้การรักษากันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ดีกว่าปล่อยให้ป่วยเข้าสู่ระยะ 2 ระยะ 3 แล้วเดี๋ยวจะรักษาไปทัน อาจทำให้เสี่ยงต่อชีวิตของลูกได้ค่ะ
อ่านต่อ การป้องกันลูกจากโรคไข้เลือดออก คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
จะป้องกันเบื้องต้นอย่างไรดีนะ เพื่อไม่ให้เด็ก และคนในครอบครัวป่วย โรคไข้เลือดออก
อย่างที่เคยบอกกันเสมอค่ะว่า การป้องกันดีกว่าปล่อยให้เกิดขึ้นแล้วมาตามแก้ทีหลัง เพราะอาจจะแก้ไขได้ หรืออาจจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย เหมือนอย่างกับโรคไข้เลือดออกก็เช่นกัน ที่พ่อแม่รู้อยู่แล้วว่ายุงลายเป็นพาหะนำมาซึ่งการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ดังนั้นการป้องกันเบื้องต้นก็คือการตัดวงจรของยุงให้หมดไป
1. ป้องกันลูกไม่ให้ถูกยุงกัด
แนะนำว่าควรให้ลูกนอนในห้องที่มีประตู หน้าต่างติดมุ้งลวด หรือให้นอนในมุ้งกันยุง รวมทั้งควรทายากันยุงทุกครั้งที่อยู่นอกบ้าน
2. ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
ให้สำรวจรอบๆ บ้านว่ามีถังน้ำ ตุ่มน้ำ หรือแหล่งแอ่งน้ำขังหรือไม่ ถ้ามีให้เททิ้ง หรือใส่ทรายกำจัดลูกน้ำลงไป เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมาวางไข่
3. เมื่อลูกมีอาการผิดปกติ
หากพบว่าลูกมีอาการไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ให้รีบพาไปโรงพยาบาลรับการตรวจรักษาอาการทันทีค่ะ
ท้ายนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในช่วงฤดูฝนที่จะยาวไปอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ เด็กๆ ทุกคนจะปลอดภัยจากการเจ็บป่วยด้วย ไข้เลือดออก และรวมถึงโรคระบาดอื่นๆ ที่มาพร้อมกับสายฝนพร่ำนี้กันนะคะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ภัยร้าย ไข้เลือดออก ขณะตั้งครรภ์
แพ็คเกจวัคซีนไข้เลือดออก โรงพยาบาลในกทม.
ไข้เลือดออก และไวรัสซิการะบาดช่วงหน้าฝน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
[1],[2],[3]ไข้เลือดออกเดงกี.โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน