สถานการณ์ ไข้เลือดออก โดยสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง อัพเดตเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่ามีแนวโน้มของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะน้อยกว่าเมื่อปีที่แล้วแต่ก็พบว่ามีผู้ป่วยแล้วกว่า 21,414 คนนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 17 คน
โรค ไข้เลือดออก พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเรียงลำดับจากภาคกลาง 8,742 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6,031 คน ภาคเหนือ 3,356 คน และภาคใต้ 3,285 คน กลุ่มอายุที่พบว่าป่วยมากที่สุดได้แก่ เด็กโตอายุ 10-14 ปี เด็กอายุ 5-9 ปี วัยรุ่นอายุ 15-24 ปี เด็กเล็กอายุ 0-4 ปี และผู้ใหญ่อายุ 25-34 ปี ตามลำดับ และพบว่ากลุ่มนักเรียนป่วยเป็นไข้เลือดออกสูงสุด
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 กรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่าจังหวัดที่มีผู้เป็นโรคไข้เลือดเลือดมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตราด กรุงเทพฯ ระยอง ภูเก็ต พังงา สงขลา จันทบุรี อุบลราชธานี สุรินทร์
กระทรวงสาธารณสุขจึงเตือนประชาชนให้รักษาสุขภาพ ในช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ เป็นช่วงที่อากาศแปรปรวนแบบนี้ บางครั้งมีอากาศร้อนจัด สลับกับพายุลมแรง มีฝนตก ทำให้เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคต่างๆ ได้ โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ เด็ก และผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว และขอความร่วมมือให้ทุกครอบครัวช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายที่เป็นต้นเหตุของไข้เลือดออก โดยเฉพาะภาชนะต่างๆ ภายในบ้านที่มีน้ำขัง ให้เปลี่ยนน้ำบ่อยๆ หรือคว่ำน้ำทิ้งทุกๆ 7 วัน
อ่านต่อ “วิธีป้องกัน และวิธีรักษาโรคไข้เลือดออก” คลิกหน้า 2
น.พ.อภินันท์ จิรจริต กุมารแพทย์ โรงพยาบาลธนบุรี 2 แนะนำการป้องกัน และรักษาโรคไข้เลือดออกเอาไว้ดังนี้
วิธีป้องกัน
- นอนในห้องที่มีมุ้งลวด หรือในมุ้ง ทายากันยุง โลชั่นกันยุง ไล่ยุง ใช้กับดักยุงไฟฟ้า ใช้สมุนไพรไล่ยุง
- กำจัดแหล่งที่อยู่ของยุงลาย เช่น ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิดไม่ให้เป็นที่อาศัยของยุงลาย
- เปลี่ยนน้ำในแจกัน กระถางต้นไม้ จานรองกระถาง บ่อยๆ ปล่อยปลาหางนกยูงให้กินลูกน้ำ
วิธีรักษา
- ช่วง 2-7 วัน จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน การรักษาคือให้ยาลดไข้ เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และรักษาตามอาการ
- ช่วงอันตราย จะมีไข้ลดลง ตัวเย็น อาเจียนมาก ปวดท้องมาก ร้องหรือซึม กระหายน้ำตลอดเวลา ไม่ดื่มน้ำ ปัสสาวะน้อย เลือดออกผิดปกติ ช็อก พูดไม่รู้เรื่อง เพ้อ โวยวาย ควรรีบส่งโรงพยาบาล เพื่อแก้ไขความดันต่ำ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต ถ้าไม่รีบรักษาอย่างถูกต้อง
- ช่วงฟื้นตัว อาการทั่วไปดีขึ้น มีผื่นแดงทั่วแขนขา จะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ระวังการกระแทก หลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บ
เครดิต: สำนักงานโรคติดต่อนำโดยแมลง, กระทรวงสาธารณสุข, ข่าวรอบเมืองเหนือ, ThaiPR.NET
อ่านเพิ่มเติม คลิก!!
เตือนทุกครอบครัว! ระวังภัย “ไข้เลือดออก”
วัคซีนไข้เลือดออกสำหรับทารก
วิธีกำจัดยุง โดยไม่ใช้สารเคมี ลูกน้อยปลอดภัยจากยุงร้าย
Save