ลองสังเกตดูว่า ลูกไอเสียงก้อง หรือไม่? เพราะนั่นคือสัญญาณเตือนว่า ลูกของคุณเป็น “ โรคครูป ” ซึ่งมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบ บวมที่กล่องเสียงและหลอดลม เป็นสาเหตุของภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลัน มักเกิดกับเด็กอายุ 6 เดือน – 6 ขวบ
อาการของ โรคครูป
อาการของ โรคครูป (Croup) เริ่มมีอาการของโรคหวัด เช่น มีน้ำมูก ไอเล็กน้อย มีไข้ต่ำๆ ประมาณ 12-72 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะมีไข้สูงกว่า 38 องศา มีอาการ ไอเสียงก้อง ไอแห้งๆ ไอเสียงดังโฮ่งๆ เป็นเสียงเฉพาะ เสียงแหบ หายใจเสียงดัง มักเกิดในช่วงหายใจเข้า และมีอาการมากขึ้นในเวลากลางคืน อาจทำให้กระสับกระส่าย และร้องไห้มาก โดยเฉพาะช่วง 24-48 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ถ้ามีอาการรุนแรงจะหอบ หายใจลำบาก หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว หายใจจมูกบาน หายใจอกบุ๋ม มีเสียงขณะหายใจ มีอาการเขียว
สาเหตุของโรคครูป
เกิดจากเชื้อโรค หรือเชื้อไวรัสที่ลอยอยู่ในอากาศ เมื่อสูดดมเข้าไปเชื้อไวรัสจะทำให้เยื่อบุผนังทางเดินหายใจอักเสบ บวม และมีน้ำมูก ถ้าตำแหน่งการอักเสบอยู่ที่จมูกจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ถ้าอักเสบที่ลำคอ ลำคอจะบวม มีเสมหะใสๆ ระคายเคืองคอ ไอ ถ้าตำแหน่งอักเสบอยู่ที่กล่องเสียง จะทำให้พูดเสียงแหบ เด็กเล็กๆ ที่มีกล่องเสียงเล็ก ทางเดินหายใจแคบ อาการบวมจะทำให้ทางเดินหายใจอุดตันได้
โรคนี้เกิดขึ้นบ่อยในฤดูหนาว เพราะว่าในฤดูหนาวมีอากาศแห้ง ความชื้นในอากาศมีน้อย เยื่อบุทางเดินหายใจแห้งกว่าปกติ ทำให้ภูมิต้านทางโรคลดลง ยิ่งในเด็กเล็กๆ โอกาสติดเชื้อมีบ่อยกว่าผู้ใหญ่
มีเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อคอตีบ ทำให้เป็นโรคคอตีบ หรือ มีอาการแพ้ซึ่งทำให้กล่องเสียงบวม เช่น เป็นลมพิษ หรือครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคนี้มาก่อน
อ่านต่อ “ระดับความรุนแรงของโรคครูป ที่ควรระวัง” คลิกหน้า 2
ระดับความรุนแรงของโรคครูป
1. มีความรุนแรงน้อย ยังรับประทานอาหารได้ เล่นได้ สนใจบุคคลและสิ่งแวดล้อม ไอเสียงก้องบางครั้ง
2. มีความรุนแรงปานกลาง ไอเสียงก้องเกือบตลอดเวลา หายใจเสียงดัง หายใจอกบุ๋ม
3. มีความรุนแรงมาก ไอเสียงก้อง หายใจเสียงดัง หายใจอกบุ๋ม กระสับกระส่าย ความรู้สึกตัวลดลง อ่อนเพลีย พักหลับได้แค่ช่วงสั้นๆ ไม่สนใจบุคคลและสิ่งแวดล้อม
4. ระดับความรุนแรงแทรกซ้อน ถ้ามีเชื้อแบคทีเรียอักเสบแทรกซ้อน ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ เลือดเป็นพิษ มีหนองในช่องปอด เชื้อแพร่กระจายทั่วร่างกาย ทำให้เกิดฝีตามอวัยวะต่างๆ ถ้าอาการรุนแรงมากอาจทำให้หายใจไม่ออก และเสียชีวิตเนื่องจากทางเดินหายใจอุดตันได้
การดูแลรักษาด้วยตัวเองเมื่อลูกเป็น โรคครูป
- เมื่อทราบว่าลูกน้อยเป็น โรคครูป ให้เฝ้าดูอาการ 1-2 วันแรกอย่างใกล้ชิด เพื่อสังเกตอาการป้องกันไม่ให้ทางเดินหายใจอุดตัน
- ให้ลูกดื่มน้ำมากๆ น้ำอะไรก็ได้ เช่น น้ำเปล่า น้ำส้ม นม เป็นน้ำเย็นเล็กน้อย จะช่วยบรรเทาอาการบวมของกล่องเสียง
- นำอ่างน้ำร้อนมาวางไว้ในห้อง หรือใช้กาต้มน้ำที่มีไอน้ำพุ่งออกมา ให้ลูกสูดไอน้ำอุ่น หรือใช้เครื่องทำความชื้น จะช่วยลดอาการบวมของกล่องเสียง แต่ระวังอย่าให้น้ำร้อนลวกลูกน้อย
- ใช้ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก หรือแอนติฮีสตามีน โดยศึกษา การใช้ยาในเด็กใช้อย่างไรให้ปลอดภัยตามวัย เพื่อลดอาการบวมของกล่องเสียง หรือใช้ น้ำอุ่นผสมมะนาวลดไข้
เมื่อไหร่ควรพาลูกไปหาหมอ?
1.เมื่อลูกมีไข้สูง กระสับกระส่าย หายใจเร็ว หายใจแรง หายใจลำบาก นอนไม่ได้ ต้องนั่งอยู่ตลอดเวลา
2.ตัวแดงเพราะพิษไข้ จนตัวเขียว มีท่าทางเหมือนหายใจหาอากาศ ถ้าไม่แน่ใจรีบพาไปหาหมอทันที
3.มีโรคที่มีอาการคล้ายกัน แต่เป็นโรคที่ร้ายแรงกว่ามาก คือโรคคอตีบ ถ้าแยกโรคไม่ได้ ให้รีบพาไปหาหมอ
การป้องกัน ลูกน้อยเป็นโรคครูป
หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด ไม่สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคหวัด ถ้ามีคนในบ้านเป็นหวัดให้ใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก และล้างมือทุกครั้งก่อนสัมผัสลูกน้อย เป็นต้น การป้องกันดีกว่าแก้ไข เพราะโรคนี้ถ้าเป็นแล้ว อาจเป็นซ้ำได้อีก
อ่านต่อบทความอ่านน่าสนใจ คลิก :
- แม่แชร์! ลูกไอมาก จนปอดบวม สุดท้ายติดเชื้อในกระแสเลือด
- แพทย์เตือน! ลูกเป็นโรคไอกรน หาหมอช้าอันตรายถึงชีวิต
- ลูกไอมีเสมหะ เสี่ยงเป็น 6 โรคร้าย กับระบบทางเดินหายใจ
เครดิต: ผศ.นพ. จักรพันธ์ สุศิวะ, หมอชาวบ้าน, student.nu.ac.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?