โรคเสี่ยงลูกป่วย ปี 63 รวมโรคเด็ก ที่พ่อแม่ต้องระวัง - Amarin Baby & Kids
โรคเสี่ยงลูกป่วย ปี 63

โรคเสี่ยงลูกป่วย ปี 63 รวมโรคเด็ก ที่พ่อแม่ต้องระวัง

account_circle
event
โรคเสี่ยงลูกป่วย ปี 63
โรคเสี่ยงลูกป่วย ปี 63

โรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก แต่ไม่ยากเกินกว่าจะป้องกัน ลองมาเช็ค โรคเสี่ยงลูกป่วย ปี 63 พร้อมสัญญาณของอาการอันตราย ที่พ่อแม่ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลให้ไว

โรคเสี่ยงลูกป่วย ปี 63

โรคใหม่เกิดขึ้นมากมาย โรคเก่าก็ยังเกิดขึ้นได้ คนเป็นพ่อเป็นแม่ แม้จะระมัดระวังและประคบประหงมลูกมากแค่ไหน แต่ก็ใช่ว่า ลูกจะรอดปลอดภัยจากอาการป่วย สิ่งที่ทำได้คือคอยสังเกตอาการของลูกรัก หากพบความผิดปกติ หรือสัญญาณอันตราย ไม่ควรชะล่าใจ ครั้งนี้เราจึงรวบรวมโรคเด็กหรือโรคเสี่ยงลูกป่วย ปี 63 เพื่อให้พ่อแม่ได้คอยสังเกต ถ้าลูกมีอาการเหล่านี้

1.ไข้หวัดใหญ่ โรคร้ายที่ลูกเสี่ยงเจ็บป่วย

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) โรคที่ผู้ใหญ่ก็เป็นได้ เด็กยิ่งต้องระวัง เพราะไข้หวัดใหญ่นั้นมักจะมีโรคแทรกซ้อน ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งยังมีไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งโรคนี้เจอได้เกือบทั้งปี ไม่ใช่เฉพาะหน้าฝน วิธีป้องกันคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งทารก 6 เดือนขึ้นไปก็สามารถฉีดได้ สำหรับคำถามที่ว่าไข้หวัดใหญ่ต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร ก็มีทั้งอาการของไข้สูงและนานกว่า 3-4 วัน ประกอบกับไอหนัก อ่อนเพลียมากกว่า

อาการไข้หวัดใหญ่

  • เด็ก ๆ มักเกิดไข้สูง 39-40 องศา
  • มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดแขนขา ปวดข้อ หรือปวดกระบอกตา
  • เจ็บคอ ไอแห้ง มีน้ำมูกข้น
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร

2.มือเท้าปาก โรคร้ายที่ลูกเสี่ยงเจ็บป่วย

โรคยอดฮิตของเด็กเล็ก การระบาดของโรคมักเกิดขึ้นที่สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enteroviruses การติดเชื้อมักจะเกิดได้กับเด็กเล็กและทารก (Hand Foot Mouth) โรค HFMD ที่อันตรายมักเกิดจากไวรัส EV71 เพราะอาจมีอาการทางสมองร่วมด้วย แต่ที่เกิดจากไวรัส coxsackie A16 มักจะหายภายใน 7-10 วัน เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีจึงต้องระวัง นอกจากนี้ ยังมีโรคที่ใกล้เคียงกับมือเท้าปาก เนื่องจากติดเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกัน เฮอร์แปงไจน่า (Herpangina) ในช่วงแรกอาจมีผื่นขึ้น หรือแผลตื้น ๆ ในช่องปาก

อาการมือเท้าปาก

  • มีไข้
  • ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย
  • คลื่นไส้ มีผื่น
  • เกิดตุ่มเล็ก ๆ ที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก
  • หากมีอาการรุนแรง มักจะอาเจียน ถ่ายเหลว หอบเหนื่อย ชัก หรือมีอาการซึมได้

3.RSV โรคร้ายที่ลูกเสี่ยงเจ็บป่วย

เด็กเล็กมักมีความเสี่ยงเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่า เด็กทั่วโลกเสียชีวิตจาก RSV ถึงปีละ 160,000 ราย เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก ติดเชื้อไวรัส RSV มากถึง 33.8 ล้านคน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค จึงดูแลสุขภาพได้ด้วยการล้างมือด้วยสบู่ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และอยู่ให้ห่างจากควันบุหรี่

อาการโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี

  • ทั่วไปมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ
  • หากมีอาการรุนแรงจะสังเกตได้ว่า หายใจหอบเหนื่อย หน้าอกบุ๋ม ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ เสียงหายใจดังวี้ด รับประทานอาหารได้น้อย และซึมลง
  • อาการจำเพาะของเชื้อนี้ที่มักพบในเด็กเล็กคือ หลอดลมฝอยอักเสบ

4.ท้องเสียจากไวรัส โรคร้ายที่ลูกเสี่ยงเจ็บป่วย

ท้องเสียเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักมีเจ้าไวรัสร้ายอยู่ 2 ตัว ที่ส่งผลให้ท้องเสียบ่อย ๆ ได้แก่ Rotavirus และ Norovirus

อาการท้องเสียจากโรต้าไวรัส

  • พบมากในเด็กเล็ก ที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี พบบ่อยช่วงอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี
  • มักมีอาการไข้
  • อาเจียนและท้องเสีย
  • อาจมีอาการขาดน้ำร่วมด้วย สำหรับเด็กเล็ก จึงต้องระวัง

อาการท้องเสียจากโนโรไวรัส

  • พบได้ทุกวัย แต่พบบ่อยในวัยเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล
  • อาการคล้ายอาหารเป็นพิษ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ไม่ค่อยมีอาการไข้

5.ปอดบวม โรคร้ายที่ลูกเสี่ยงเจ็บป่วย

องค์กรอนามัยโลกและยูนิเซฟ ประเมินไว้ว่า โรคปอดบวมเป็นโรคที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของโลก เนื่องจากมีเด็กที่ต้องหมดลมหายใจจากโรคร้ายนี้ 2 ล้านคนต่อปีเลยทีเดียว ซึ่งสาเหตุนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส

อาการปอดบวม

  • หายใจแรง หายใจลำบาก เวลาไอมีเสียงหวีด
  • มีไข้ รู้สึกไม่สบายตัว
  • อาการคล้ายไข้หวัด ไอแห้ง ไอบ่อย
  • เบื่ออาหาร ซึม อาจมีอาการอาเจียนหรือปวดท้องร่วมด้วย

6.ไข้เลือดออก โรคร้ายที่ลูกเสี่ยงเจ็บป่วย

โรคร้ายจากยุงลายหรือไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ การดำเนินโรคแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะไข้ ไข้สูงเฉียบพลัน ระยะวิกฤติ/ช็อก 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดขึ้นได้ ระยะฟื้นตัว หลังจากที่ไข้ลดแล้วจะฟื้นฟูได้ค่อนข้างเร็ว

อาการไข้เลือดออก

  • ระยะไข้: ไข้สูงลอย 2-7 วัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส มีหน้าแดง อาจพบผื่น อาการเลือดออก มีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ถ้าอาการรุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ ส่วนใหญ่จะคลำตับ โต ได้ประมาณวันที่ 3-4
  • ระยะวิกฤติ/ช็อก: ปวดเมื่อยมากขึ้น เบื่ออาหาร ปวดท้อง บางราย มือเท้าเย็น มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว จนอาจเข้าใจว่าใกล้จะหายแล้ว แต่นี่เป็นสัญญาณของการเข้าสู่ภาวะช็อค
  • ระยะฟื้นตัว: ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ

7.อีสุกอีใส โรคร้ายที่ลูกเสี่ยงเจ็บป่วย

โรคสุกใสหรือโรคอีสุกอีใส (Chicken Pox) เกิดจากเชื้อไวรัส Varicella zoster (VZV) เนื่องจากติดต่อกันได้ง่าย เด็ก ๆ เลยพบได้บ่อยในกลุ่มอายุ 5-9 ปี วิธีป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีน

อาการอีสุกอีใส

  • ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • มีไข้ เบื่ออาหาร
  • เกิดผื่นแดง แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นทั่วตัวภายใน 24 ชั่วโมง
  • หลังจากเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว ไวรัสจะซ่อนในปมประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอเมื่อไหร่จะทำให้เป็นโรคงูสวัด (Herpes zoster)

8.คาวาซากิ โรคร้ายที่ลูกเสี่ยงเจ็บป่วย

โรคในเด็กเล็กที่พบมากกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบบ่อยในช่วงอายุ 1-2 ปี โรคคาวาซากิเป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย มีความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนสูง อาจรุนแรงจนเกิดภาวะช็อคหรือเสียชีวิตได้

อาการคาวาซากิ

  • ไข้สูงหลายวัน ทานยาลดไข้ไม่ค่อยลด
  • ตาแดงเรื่อโดยไม่ค่อยมีขี้ตา
  • ลิ้นแดงคล้ายผลสตรอเบอรี่ ริมฝีปากแดงแห้งแตก
  • มือเท้าบวม มีผื่นตามตัว

การดูแลลูกอย่างใกล้ชิดตั้งแต่วัยทารกด้วยการให้กินนมแม่ ตลอดจนเสริมสร้างสุขภาพให้ลูกน้อยด้วยอาหารที่มีประโยชน์ และการออกกำลังกาย ก็จะช่วยเป็นเกราะคุ้มกันที่แข็งแรง ลดความเสี่ยงจากโรคร้ายต่าง ๆ ได้

อ้างอิงข้อมูล : bangkokhospital, dcd.ddc.moph.go.th, rama.mahidol และ pharmacy.mahidol

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ชิคุนกุนยา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย 5 จังหวัดนี้ คนป่วยเยอะสุด!

 

โรคคาวาซากิ ประสบการณ์โรครุนแรงในเด็กเล็ก

15 คำถามข้องใจกับการ ล้างจมูก ให้ปลอดภัยในวัยเด็ก

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up