มาไขข้อข้องใจพร้อม ๆ กัน อีสุกอีใส ยาเขียว ของนี้ควรคู่กันจริงหรือไม่ … ได้ที่นี่
คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของ อีสุกอีใส ยาเขียว เป็นของคู่กัน หากอยากให้หายไว ต้องรับประทานจะได้ขับออกมา เรื่องราวที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร วันนี้เราจะไปหาคำตอบนี้พร้อม ๆ กันค่ะ
แต่ก่อนที่จะไปดูนั้น วันนี้ทีมงานมีเรื่องราวของคุณแม่ท่านหนึ่งมาฝากค่ะ ซึ่งคุณแม่ก็อนุญาตให้ทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้นำเรื่องราวนี้มาลง เพื่อจะได้เป็นประโยชน์กับทุก ๆ ครอบครัว โดยคุณแม่ สุกัญญา ได้โพสต์เรื่องราวนี้ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวของตัวเองว่า
มาแชร์ประสบการณ์จ้ะ
(อีสุกอีไส) …
ไม่เอาแล้ว คำโบราณ (ยาเขียว)
เด็กบางคนกินได้ไม่เป็นไรกินยาเขียวแล้วหายไวไม่หลบใน กินยาเขียวให้มันออกมาให้หมด ดูสภาพลูกชายเราสิ เละเทะ!!! สงสารสุดหัวใจ เราให้ลูกกินยาเขียว ทั้งกินทั้งทา ทั้งอาบ ผลคือออกเต็มเละเทะ!!!! หมอบอกว่าไม่ควรกินยาเขียว อีสุกอีใส เป็น 1 ถ้ากินยาเขียวเข้าไปอาจเพิ่มเป็น 10 เด็กบางคนกินแล้วหายไวก็ดี ถ้าหายช้าขึ้นเยอะเด็กอาจแย่ได้ ไม่เอาแล้วคำโบราณ (ไม่ดราม่านะคะ)
ซึ่งทีมงานก็ได้รีบทำการหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยทันที จนเข้าใจว่า สุดท้ายแล้ว อีสุกสีใส ยาเขียว เป็นของที่ควรรับประทานคู่กันหรือไม่ …
คุณพ่อคุณแม่อาจจะรู้จักว่า ยาเขียวคืออะไร? กันอยู่แล้ว แต่น้อยคนนักที่จะรู้ ยาเขียว ต้นตำรับยาไทยสมัยโบราณนั้น มีที่มาอย่างไรกันแน่
ทำความรู้จักกับยาเขียว
ยาเขียวนั้น ถือเป็นต้นตำรับของยาไทย ตามองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้านที่มีใช้กันมานานหลายทศวรรษ อีกทั้งยังเป็นยาที่มีการผลิตขายทั่วไป ในสมัยก่อนนั้น นิยมใช้ยาเขียวในเด็กที่เป็นไข้ออกผื่น เช่น อีสุกอีใส เพื่อให้กระทุ้งพิษไข้ออกมา เนื่องจากเชื่อว่าจะสามารถทำให้หายได้เร็วขึ้น
ยาเขียวนั้น มีส่วนประกอบของพืชที่ใช้ส่วนของใบเป็นองค์ประกอบหลัก จึงไม่แปลกที่จะทำให้ยามีสีเขียว สำหรับใบที่ใช้ในการปรุงยานั้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นยาเย็น ยาหอมเย็น หรือบางชนิดก็มีรสขม พบว่าใบไม้ที่ใช้ในยาเขียว มีมากมายหลายชนิดเลยละคะ ยกตัวอย่างเช่น ใบพิมเสน ใบผักกระโฉม ใบหมากผู้ ใบหมากเมีย ใบพรมมิ ใบสันพร้าหอม ใบบอระเพ็ด ใบชิงช้าชาลี ใบมะระ ใบสะเดา ใบน้ำ เต้า ใบหนาด ใบกะเม็ง ใบแคแดง ใบทองหลาง ใบมน ใบมะเฟือง ใบนมพิจิตร ใบแทงทวย ใบพริกไทย ใบน้ำเต้าขม ใบปีบ ใบย่านาง ใบเท้ายายม่อม ใบหญ้าน้ำดับไฟ ใบระงับ ใบตำลึงตัวผู้ ใบฟักข้าว ใบถั่วแระ ใบระงับพิษ ใบเสนียด ใบอังกาบ ใบสะค้าน ใบดีปลี ใบมะตูม ใบสมี ใบลำพัน ใบสหัศคุณ ใบกระวาน ใบผักเสี้ยน ใบเถาวัลย์เปรียง ใบผักกาด ใบคนทีสอ ใบมะนาว ใบมะคำไก่ ใบมะยม ใบมะเฟือง ใบสลอด ใบขี้หนอน ใบสมี ใบขี้เหล็ก ใบผักเค็ด ใบพุมเรียง เป็นต้น
สรรพคุณของยานั้นช่วยดับความร้อนของเลือดที่เป็นพิษ หมายถึงการที่เลือดมีพิษและความร้อนสูงมาก จนต้องระบายทางผิวหนัง เป็นผลให้ผิวหนังเป็นผื่น หรือ ตุ่ม เช่นที่พบในไข้ออกผื่น หัด อีสุกอีใส เป็นต้น
ตำรับยาเขียวที่พบในคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ มีบันทึกไว้ทั้งหมด 3 ตำรับด้วยกันค่ะ อันได้แก่
- ยาเขียวมหาพรหม สำหรับแก้โลหิตพิการ ซึ่งทำพิษให้ร้อนทั่วสรรพางค์กายดังเปลวไฟ ยานี้แก้ได้สิ้นทุกอัน
- ยาเขียวน้อย ไม่มีการระบุว่ารักษาอะไร
- และ ยาเขียวประทานพิษ เป็นยาแก้ลมต่าง ๆ
ส่วนตำรับยาเขียวที่เราใช้กันทุกวันนี้เรียกกันว่า ยาเขียวหอม ถือป็นคนละชนิดกับยาเขียวทั้ง 3 ชนิดข้างต้นค่ะ และยาเขียวหอมจะมีคุณสมบัติอย่างไร แล้ว อีสุกอีใส ยาเขียว รักษาได้จริง ๆ หรือไม่ มาดูกันค่ะ
อีสุกอีใส ยาเขียว ช่วยได้จริงหรือไม่?
ก่อนที่จะไปดูว่า อีสุกอีใส ยาเขียว แก้ได้จริง ๆ หรือไม่นั้น เรามาทำความรู้จักกับยาเขียวที่เราใช้กันทุกวันนี้กันก่อนค่ะ สำหรับ ยาเขียวหอม ที่เราใช้กันในทุกวันนี้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ. 2556 โดยตัวยาประกอบไปด้วย
- ใบพิมเสน ใบผักกระโฉม ใบหมากผู้ ใบหมากเมีย ซึ่งมีรสเย็น ใช้แก้ไข้
- รากแฝกหอม มหาสดำ ดอกพิกุล สารภี เกสรบัวหลวง ว่านกีบแรด เนระพูสี
- ใบสันพร้าหอม บุนนาค ช่วยคุมร่างกายมิให้เย็นจนเกินไป
- จันทน์เทศ เปราะหอม ว่านร่อนทอง ช่วยปรับการทำงานของธาตุลม
สรรพคุณของยาเขียวนั้น มีดังนี้ค่ะ
- บรรเทาอาการไข้
- ร้อนใน
- แก้กระหายน้ำ
- แก้ไข้ ออกผื่น / ขึ้นผื่น เช่น หัด อีสุกอีใส อันมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส เป็นต้น
ในปี 2548 มีการศึกษาฤทธิ์ของยาเขียวที่มีในท้องตลาด 3 ยี่ห้อ ในการยับยั้งเชื้อไวรัส Varicella zoster ที่เป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใส และงูสวัด ซึ่งผลปรากฏว่า ยาเขียวทั้ง 3 ยี่ห้อ ไม่สามารถยับยั้งไวรัสดังกล่าวได้ค่ะ
นั่นหมายความว่า อีสุกสีใส ยาเขียว ไม่สามารถรักษาให้หายได้ทันทีที่รับประทาน หรือหมายถึง ไม่สามารถยับยั้งเชื่อไวรัสดังกล่าวได้นั่นเอง หากแต่เป็นเพียงเป็นการกระทุ้งให้พิษที่มีอยู่ในร่างกายออกมาให้มากที่สุด ผู้ป่วยหรือเด็กที่เป็นจะได้หายเร็วขึ้น ไม่หลบใน ไม่เกิดขึ้นภายในร่างกายนั่นเองค่ะ ทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นอีสุกอีใสนั้น มีเม็ดหรือผื่นออกมามากขึ้นกว่าเดิม
คราวนี้คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านก็หายสงสัยกันแล้วนะคะว่า อีสุกอีใส ยาเขียว แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร ทีมงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะทำให้หลาย ๆ ท่านเข้าใจกันมากขึ้นนะคะ
อ้างอิง: หาหมอ
อ่านต่อเนื้อหาอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่