AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

8 สัญญาณเตือนโรคเลือดออกในสมอง

โรคเลือดออกในสมอง เป็นโรคที่พบบ่อยในวัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุ และมีผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมาจากความเสื่อมของหลอดเลือด และโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ เรามาดู 8 สัญญาณเตือนโรคเลือดออกในสมอง ที่คุณพ่อ คุณแม่ควรสังเกตกันค่ะ

โรคเลือดออกในสมองพบมากในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2-3 เท่า โดยประชากร 1 แสนคน จะมีผู้ป่วยประมาณ 10-20 คนต่อปี ในประเทศไทยมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 6,000-12,000 คนต่อปี

รศ.นพ.ประจักษ์ ศรีรพีพัฒน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลว่า โรคเลือดออกในสมอง จัดเป็นกลุ่มหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมอง และโรคสมองขาดเลือด สาเหตุเพราะความเสื่อมของหลอดเลือดสมอง เนื่องจากอายุมากขึ้น ร่วมกับโรคประจำตัว เกิดจากโรคความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่เป็นเวลานาน ภาวะแข็งตัวของเลือดบกพร่อง รวมถึงการใช้ยาป้องกันเลือดแข็งตัวบางชนิด

อ่านต่อ “วิธีการสังเกตสัญญาณโรคเลือดออกในสมอง” คลิกหน้า 2

วิธีการสังเกตสัญญาณโรคเลือดออกในสมอง

1.ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หรือเฉียบพลัน

2.แขน ขา อ่อนแรง โดยอาจเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่ง

3.ชาเฉียบพลัน บริเวณใบหน้า แขน ขา หรือมือ

4.พูดลำบาก พูดไม่ได้ ปากเบี้ยว หรือหน้าเบี้ยว

5.ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเฉียบพลัน ม่านตาขยายไม่เท่ากัน

6.เดินตรงไม่ได้ ทรงตัวไม่อยู่

7.คลื่นไส้อาเจียน

8.เกิดอาการชัก หมดสติ

อ่านต่อ “การป้องกันโรคเลือกออกในสมอง” คลิกหน้า 3

การป้องกันโรคเลือกออกในสมอง

1.ถ้ามีโรคประจำตัว เช่น มีความดันโลหิตสูง ควรได้รับการรักษาจากแพทย์

2.หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่

3.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสจัด เช่น หวานจัด เค็มจัด เผ็ดจัด

4.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

5.พยายามรักษาสภาวะทางอารมณ์ให้เป็นปกติอยู่เสมอ ไม่โกรธ หรือโมโหบ่อยๆ ไม่คิดมาก หรือเครียดมาก

6.ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ถ้าพบโรคจะได้รักษาได้ทันท่วงที

7.ขับขี่ยานพาหนะด้วยความไม่ประมาท คาดเข็มขัดนิรภัย ใส่หมวกกันน็อค ป้องกันอุบัติเหตุที่มีผลต่อสมอง

ถ้าสงสัยว่าตัวเอง หรือคนใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้ ให้รีบพบแพทย์ด่วน เพราะก้อนเลือดในสมอง อาจทำให้แรงดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง เลือดเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จะทำให้ซึมจนหมดสติ หรือถ้าก้อนเลือดกดบริเวณสำคัญ เช่น ก้านสมอง จะทำให้อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว และอาจทำลายเนื้อสมองที่สำคัญโดยตรง การรักษาอาจต้องใช้การผ่าตัด เอาก้อนเลือดออก หรือใช้ยาลดแรงดันในโพรงกะโหลก ลดสมองบวม

โรคเลือดออกในสมองเป็นโรคร้ายแรงที่ส่งผลให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออาจทำให้เสียชีวิต คุณพ่อ คุณแม่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยตัวเอง เพื่อที่จะได้อยู่ดูแลลูกหลานไปได้นานๆ นะคะ

อ่านต่อ “โรคเลือดออกในสมองเด็กก็เป็นได้” คลิกหน้า 4

โรคเลือดออกในสมองเด็กก็เป็นได้

ถึงแม้ว่าโรคเลือดออกในสมองจะพบไม่มากนักในเด็ก แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้จากอุบัติเหตุ เช่น ตกบันได อุบัติเหตุทางรถยนต์ การอุ้มโยนเขย่าตัวลูกน้อย หกล้มศีรษะกระแทกพื้น คลอดยากทำให้ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือน อาจทำให้มีเลือดออกในสมองชนิดเฉียบพลัน

เด็กทารกแรกเกิดจะมีสาเหตุมาจากการคลอดก่อนกำหนด ภาวะขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน ได้รับอันตรายจากการคลอด อาการจะปรากฏทันทีหลังคลอด หรือค่อยเป็นค่อยไป ในเด็กแรกเกิดจะมีอาการเคลื่อนไหวน้อย กล้ามเนื้ออ่อนแรง และค่อยๆ ปรากฏอาการภายใน 2-3 ชั่วโมง หรือ 2-3 วันหลังคลอด

อาการที่ปรากฏ ได้แก่ กระหม่อมบวมตึง ไม่ดูดนม ชักกระตุกเกร็งที่แขนขาบางส่วน หรือทั้งตัว ร้องเสียงแหลม ศีรษะโตขึ้น ซึม กระสับกระส่าย อาเจียน กะโหลกศีรษะแยก ม่านตาไม่เท่ากัน หายใจผิดปกติ ตัวเย็น ซีด ชีพจรต่ำ

คุณพ่อ คุณแม่ควรสังเกตอาการลูกน้อย ไม่โยน หรือเขย่าตัวลูกน้อยไปมา เพื่อป้องกันโรคเลือดออกในสมอง

เครดิต: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส), www.doo-deedee.com, my.dek-d.com