สงสัยกันมานานว่า น้ำดื่ม ทิ้งไว้ในรถ ตากแดดนั้น อันตรายหรือไม่ ขวดพลาสติกที่ตากแดดนานๆ จะมีสารไดออกซิน และสาร BPA แพร่ออกมาทำให้เสี่ยงมะเร็ง วันนี้ไขข้อข้องใจกันชัดๆ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล
หากบริโภคน้ำดื่มจากขวดพลาสติกที่ทิ้งไว้ในรถ อาจได้รับสารไดออกซินที่แพร่ออกมาจากขวดน้ำพลาสติก เนื่องจากอากาศร้อนจัด อาจทำให้เกิดมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งอื่นๆ ได้ ข้อมูลนี้เป็นจริงหรือไม่?
สารไดออกซิน คืออะไร?
สารไดออกซินเป็นผลผลิตทางเคมีที่เกิดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจ จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งกลุ่มสารไดออกซินที่ก่อให้เกิดพิษมี 29 ตัว แหล่งกำเนิดสำคัญของสารกลุ่มนี้คือกระบวนการผลิตเคมีภัณฑ์ที่มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ เช่น อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมผลิตยาฆ่าแมลง เป็นต้น หรือกระบวนการเผาไหม้อุณหภูมิสูงทุกชนิด เช่น เตาเผาขยะทั่วไป เตาเผาขยะจากโรงพยาบาล เตาเผาศพ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง และการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น
การสร้างกลุ่มสารไดออกซินจากการเผาไหม้จะอยู่ในช่วงอุณหภูมิประมาณ 200-550 องศาเซลเซียส และจะเริ่มถูกทำลายเมื่ออุณหภูมิ 850 องศาเซลเซียสขึ้นไป ทำให้มีการปลดปล่อยและสะสมสารกลุ่มนี้ในสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ดิน หรือน้ำ ซึ่งสามารถปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ได้
สารไดออกซินแพร่ออกจากขวด น้ำดื่ม ทิ้งไว้ในรถ ได้หรือไม่?
สำหรับขวดน้ำพลาสติกขนาดเล็ก ปัจจุบันมีอยู่ 2 ชนิด คือขวดสีขาวขุ่น ทำจากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน (PE) และขวดใสไม่มีสีทำจากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ซึ่งนิยมใช้กันมากกว่าขวดแบบขาวขุ่น
ขวดน้ำดื่มที่ทำจากพลาสติกชนิด PET พลาสติกเหล่านี้ไม่มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบที่จะเป็นต้นกำเนิดของไดออกซิน หรือถึงแม้ว่าพลาสติกชนิดอื่น เช่น พอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ แต่อุณหภูมิของน้ำในขวดไม่ได้สูงมากพอที่จะทำให้เกิดสารไดออกซินขึ้นมาได้ อีกทั้งไม่นิยมใช้เพื่อบรรจุน้ำบริโภค
และจากการสืบค้นข้อมูลทางวิชาการที่มีการศึกษาวิจัย และเผยแพร่ในวารสารที่มีการพิจารณาตรวจแก้จากผู้ทรงคุณวุฒิ สรุปได้ว่า ไม่เคยมีรายงานการตรวจพบไดออกซินในพลาสติก
นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการไดออกซิน สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังทำการทดลองโดยซื้อตัวอย่างน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน (PE) พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) พอลิพรอพิลีน (PET) พอลิคาร์บอเนต (PC) และพอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ที่จำหน่ายในตลาดสดและซูเปอร์มาเก็ต จำนวน 18 ยี่ห้อ และนำไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน จากนั้นตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่มไดออกซิน จำนวน 17 ตัว และพีซีบี จำนวน 18 ตัว โดยใช้เทคนิคขั้นสูง Isotope Dilution และวัดปริมาณด้วยเครื่องมือ High Resolution Gas Chromatography/High Resolution Mass Spectrometry
ผลการวิเคราะห์สรุปว่า ตรวจไม่พบสารประกอบกลุ่มไดออกซินและพีซีบีในทุกตัวอย่าง
ดังนั้น สรุปได้ว่า ขวดพลาสติกบรรจุ น้ำดื่ม ทิ้งไว้ในรถ กลางแดด ไม่ได้มีสารไดออกซินปนเปื้อนลงไปในน้ำดื่มแต่อย่างใด สบายใจไปได้เปราะหนึ่งแล้วนะคะ
สำหรับสารเคมีอีกหนึ่งชนิด ที่คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลว่าจะสามารถแพร่ออกมาจากขวดน้ำพลาสติกและปนเปื้อนลงในน้ำดื่ม ได้แก่ สาร BPA มาไขข้อข้องใจกันต่อในหน้าถัดไป
อ่านต่อ รู้จัก สาร BPA คืออะไร คลิกหน้า 2>>
สาร BPA คืออะไร?
Bisphenol A (BPA) เป็นสารตั้งต้นเพื่อใช้ในการผลิตพลาสติก โดยเมื่อถูก form เป็นพลาสติกแล้ว เราจะเรียกพลาสติกชนิดนี้ว่า polycarbonates (PC)
Bisphenol A หรือรู้จักกันในชื่อ’BPA’ นั้นเป็นองค์ประกอบหลักของพอลิคาร์บอเนต ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่แข็งและใส พลาสติกชนิดนี้จะมีสัญลักษณ์การรีไซเคิลพลาสติกเป็นหมายเลข ‘7’ หรือ ‘other’ มักใช้ทำขวดน้ำ ขวดนมเด็ก บรรจุภัณฑ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เลนส์สัมผัส ซีดี สารอุดฟัน เครื่องมือแพทย์และทันตกรรม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์กีฬา
สาร BPA นี้ มักถูกชะออกมาจากพลาสติกพอลิคาร์บอเนต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากภาชนะพลาสติกดังกล่าวบรรจุของเหลวที่มีฤทธิ์เป็นกรด หรือถูกทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่มีฤทธิ์แรง หรือของเหลวที่มีอุณหภูมิสูง ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มจากขวดพอลิคาร์บอเนตมีระดับสาร BPA สูงกว่าผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มจากบรรจุภัณฑ์อื่นถึงสองในสามเท่า เช่นเดียวกับเด็กเล็กที่ดูดนมจากขวดก็พบว่ามีระดับของสารดังกล่าวสูงกว่าเด็กที่ดูดนมจากเต้า
BPA อันตรายอย่างไร?
การเกิดพิษของ BPA นั้นที่สำคัญคือ การรบกวนระบบต่อมไร้ท่อในร่างกาย ทั้งยังสามารถก่อให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นพิษต่อตับ ระบบประสาทและระบบภูมิคุ้มกัน การก่อให้เกิดเนื้องอกและมะเร็งด้วย ถึงแม้ว่าการได้รับ BPA ที่ปนเปื้อนมาในชีวิตประจำวันนั้นจะเลี่ยงไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม US EPA ได้กำหนดขนาดของการได้รับต่อวันไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ต่อวัน (ถ้าคนน้ำหนัก 80 กิโลกรัม จะสามารถรับสาร BPA ได้ 4 มิลลิกรัมต่อวัน) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้เป็นปริมาณที่ปลอดภัยที่ร่างกายเมื่อได้รับ BPA จะสามารถกำจัดทิ้งหรือไม่เกิดพิษได้
เมื่อก่อนพลาสติก PC จะถูกนำมาใช้มากในขวดนมเด็ก ซึ่งหลังจากที่มีรายงานวิจัยที่เกี่ยวกับการปนเปื้อนของ BPA ออกมาตีพิมพ์อย่างมากมาย ทำให้หลายๆ ประเทศในกลุ่ม USA และ EU ทำการห้ามใช้ BPA ในขวดนมเด็ก รวมถึงของใช้และของเล่นของเด็กเล็ก จึงทำให้แบรนด์สินค้าสำหรับเด็กเล็กมักมีคำว่า BPA free ติดข้างผลิตภัณฑ์
อ่านต่อ วิธีเลือกภาชนะบรรจุอาหารให้ลูกน้อย สะดวก ปลอดภัยไร้สารเคมี
การควบคุมการใช้ BPA นั้นถูก focus กับผลิตภัณฑ์เด็กเล็ก เนื่องด้วยว่าเด็กมีน้ำหนักตัวน้อย (3-10 กิโลกรัม) หากคิดตามตัวเลขตามด้านบนแล้ว เด็กเพิ่งเกิดที่มีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัมจะทนต่อ BPA ได้แค่ 150 ไมโครกรัม หากเทียบให้เห็นภาพ 1 ขีดหนัก 100 กรัม ถ้าปริมาณ 100 ไมโครกรัม ก็คือหนึ่งในล้านของปริมาณของ 1 ขีด ซึ่งมีโอกาสเกิดพิษสูง หากได้รับ BPA เป็นเวลานานๆ
BPA มีผลต่อสุขภาพอย่างไร?
- ทำให้ระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ
- การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย
- ส่งผลให้เป็นโรคหัวใจในผู้หญิง
- ส่งผลให้เป็นโรคหัวใจในผู้ใหญ่
- ทำให้ฮอร์โมนในเพศชายมีการเปลี่ยนแปลง
- ทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่สอง
- มีผลต่อการทำงานของสมอง ความจำและการเรียนรู้
- มีผลต่อคุณภาพของไข่ในเพศหญิง
- ลดประสิทธิภาพการรักษาด้วยเคมีบำบัดในผู้ป่วย
- ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม
- ทำให้เกิดโรคหืดหอบ
อ่านต่อ สาร BPA ในขวดน้ำพลาสติก ทิ้งไว้ในรถ อันตรายหรือไม่ คลิกหน้า 3>>
สาร BPA ในขวดน้ำพลาสติก ทิ้งไว้ในรถ อันตรายหรือไม่
รศ.ดร.พลังพล คงเสรี ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวถึง การดื่มน้ำในขวดพลาสติกแล้วเก็บไว้ในรถ หรือ พอน้ำหมดขวดแล้ว เอาขวดไปเติมน้ำเพื่อนำมาใช้ซ้ำ ในทางเคมีนั้นขวดน้ำพลาสติกสามารถใช้ซ้ำได้ แต่คนกังวลกันว่า สาร BPA bisphenol A ที่อยู่ในขวดพลาสติก จะหลุดออกมาปนเปื้อนในน้ำดื่ม จริงอยู่ที่สาร BPA ปริมาณเยอะๆ หรือปริมาณน้อยที่สะสมเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดความผิดปกติบางอย่าง แต่ความจริงคือ ขวดน้ำที่เราใช้เป็นขวด PET Polyethylene Terephthalate ซึ่งไม่ได้ใช้ BPA ในการผลิต ดังนั้น การตากแดดหรือได้รับความร้อนสูงจะไม่ทำให้เกิด BPA ออกมาจากขวดน้ำพลาสติก เพราะพลาสติกที่ใช้ไม่มีสาร BPA อยู่แล้ว
ข้อควรระวัง
สิ่งที่ต้องระวังจากการดื่มน้ำที่เปิดทิ้งไว้เป็นเวลานานๆ ก็คือ ในเรื่องการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ ไม่ว่าในบ้านหรือในรถก็ตาม เพื่อความปลอดภัย ควรทำตามคำแนะนำ ดังนี้
- ถ้าเปิดแล้วควรดื่มให้หมดภายใน 1 วัน
- ควรทำความสะอาดก่อนนำไปใช้ซ้ำ รอให้แห้งค่อยเติมน้ำเข้าไป
ชมคลิปจาก Mahidol Channel ด้านล่าง
อ่านต่อ บทความน่าสนใจ คลิก
BPA free สำคัญต่อลูกน้อยอย่างไร?
แก้วน้ำอันตราย เลือกใช้แก้วน้ำให้ปลอดภัย 6 ชนิค
ขอบคุณข้อมูลจาก : kapook.com , vcharkarn.com , mtec.or.th , mahidolchannel