AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ไขปัญหา “ภูมิแพ้ในเด็ก” โรคใกล้ตัวที่น่าเป็นห่วงอนาคตลูกน้อย

“พันธุกรรม” สำคัญกับโรคภูมิแพ้…แน่ที่สุด!

หากในครอบครัวโดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มีคนใดคนหนึ่งเป็นภูมิแพ้ ลูกน้อยก็จะมีโอกาสเป็นภูมิแพ้มากกว่าเด็กทั่วไปอยู่หลายเท่า ซึ่งถือว่าเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยความเสี่ยงของการเกิดโรคภูมิแพ้มีดังนี้

ประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว  ความเสี่ยงของทารกต่อการเกิดภูมิแพ้
แม่มีประวัติภูมิแพ้ ความเสี่ยงสูง (30-50%)
พ่อมีประวัติภูมิแพ้ ความเสี่ยงสูง (30%)
ทั้งพ่อและแม่มีประวัติภูมิแพ้ ความเสี่ยงสูงที่สุด (60-70%)
ทั้งพ่อและแม่ไม่มีประวัติภูมิแพ้ ความเสี่ยงต่ำ (14%)

ทำไม? …พ่อแม่ไม่เป็นภูมิแพ้ ลูกจึงเป็นได้

แม้พ่อแม่จะไม่ได้เป็นภูมิแพ้ แต่ลูกก็มีโอกาสเป็นได้ค่ะ เพราะว่าเด็กสามารถรับสารก่อภูมิแพ้ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา

ยิ่งหากได้รับสารก่อภูมิแพ้ในปริมาณมากๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ โดยไม่ป้องกัน ดังนั้นแม้ว่าพ่อแม่จะไม่เป็นภูมิแพ้ แต่เมื่อลูกน้อยวัยเบบี๋ยังมีภูมิต้านทานที่ไม่ดี เมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้มากเข้า ก็สามารถเป็นภูมิแพ้ได้ ไม่ว่าจะเป็น ไรฝุ่น ขนแมว ขนสุนัข แมลงสาบ ข้าวสาลี หรืออื่นๆ แม้แต่ตัวคุณพ่อคุณแม่เองปัจจุบันไม่เป็นภูมิแพ้ แต่เมื่ออายุมากขึ้น ภูมิต้านทานลดลงก็มีโอกาสเป็นได้ ดังนั้นวิธีการป้องกันไม่ให้เป็นภูมิแพ้ ย่อมเป็นวิธีการที่ดีที่สุดค่ะ

อ่านต่อ “ภูมิแพ้ส่งผลต่อลูกอย่างไร และป้องกันไม่ให้ลูกเป็นภูมิแพ้ได้ไหม?” คลิกหน้า 2

ภูมิแพ้ในเด็ก ตัวร้าย…บ่อนทำลายอนาคตลูก

โรคภูมิแพ้ที่ทำให้ลูกเป็นผื่นแพ้ผิวหนัง ถ่ายปนเลือดคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม หรือในบางรายอาการรุนแรงถึงขั้นหายใจไม่ออก ต้องพ่นจมูกและทานยาแก้แพ้เป็นประจำ ล้วนทำให้คุณภาพชีวิตของลูกน้อยลดลง เพราะนอกจากผลข้างเคียงของยาแล้ว ลูกน้อยยังรำคาญ หงุดหงิด สุขภาพไม่ดี ต้องดูแลอาหารหรือนมเป็นพิเศษ ซึ่งบ่อนทำลายพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย ทำให้อารมณ์ไม่ดี ไม่อยากเล่นและเรียนรู้สิ่งรอบตัวจนเป็นปัญหาสุขภาพ เกิดความเจ็บป่วยเรื้อรังในอนาคตได้

ลูกมีความเสี่ยงภูมิแพ้ จะป้องกันได้ไหม?

ระหว่างตั้งครรภ์

  1. ทานอาหารให้สมดุลครบถ้วน 5 หมู่
  2. คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงควันบุหรี่
  3. คุณแม่หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้

หลังคลอด

  1. ให้ลูกได้รับนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อยถึง 4-6 เดือน
  2. อาจให้นมไฮโปอัลเลอเจนิก
  3. ให้อาหารเสริมเมื่อลูกอายุ 6 เดือน (อ่านเพิ่มเติม “อาหารตามวัย” กินอย่างไรให้ลูกแข็งแรง)
  4. บุคคลในบ้านงดบุหรี่ และหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้

ดังนั้นสำหรับลูกน้อยเบบี๋ที่เสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรรีบป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ทั้งหลาย พร้อมกับเร่งเสริมสร้างภูมิต้านทานที่ดีให้ลูกเสมอ

อ่านเพิ่มเติม 7 เทคนิคช่วยบรรเทา “ภูมิแพ้” ของลูก

 

ข้อมูลจาก เอกสารเผยแพร่สัปดาห์รณรงค์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ปี 2558 ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รพ.ศิริราช

เรื่อง: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

ภาพ: Shutterstock