จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกเป็นไส้ติ่งอักเสบ อีกหนึ่งอาการที่พ่อแม่กังวล เพราะถ้าหาหมอช้าลูกอาจเสียชีวิตได้
เมื่อไรก็ตามที่ลูกแสดงอาการปวดท้อง อาเจียน ขอให้คุณพ่อคุณแม่อย่านิ่งเฉยเพราะนั่นเป็นหนึ่งในสัญญาณบอกว่า ลูกเป็นไส้ติ่งอักเสบ … และถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยไว้ อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของลูกได้
ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นพบว่า มีเด็กที่ป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบและมีการเข้ารับการผ่าตัดมากขึ้น 250,000 คนต่อปี พบได้บ่อยในเพศชาย และเด็กวัยรุ่น สำหรับในเด็กเล็กและคนแก่พบน้อยแต่มีภาวะแทรกซ้อนมากกว่า สำหรับไส้ติ่งอักเสบในเด็กพบบ่อยในวัยเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีอายุ 8 ขวบขึ้นไป ความน่ากลัวของไส้ติ่งอักเสบในเด็กนั้นคือ เด็กจะมีโอกาสที่ไส้ติ่งแตกภายใน 24 – 36 ชั่วโมงภายหลังจากการอักเสบ และจะแตกเร็วกว่าผู้ใหญ่ การพาลูกมาหาหมอช้า อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้เลยละค่ะ
วิธีสังเกตอาการ ลูกเป็นไส้ติ่งอักเสบ หรือไม่
สำหรับอาการปวดท้องในเด็กที่พบบ่อยนั้นพบว่า เด็กส่วนใหญ่ปวดท้องธรรมดาไม่ได้เป็นอาการของไส้ติ่งอักเสบแต่อย่างใด ซึ่งอาการปวดท้องที่ว่านั้นไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่ถ้าหากลูกเริ่มมีอาการปวดท้องบริเวณสะดือ แล้วลามไปที่ท้องด้านขวา อาจเกิดจากไส้ติ่งอักเสบได้ ซึ่งเป็นภาวะที่ไส้ติ่งที่มีลักษณะเป็นกระเปาะเล็ก ๆ คล้ายนิ้วมือที่ติดอยู่กับลำไส้ใหญ่บริเวณท้องด้านขวาล่างเกิดการอักเสบ โดยไส้ติ่งอักเสบมักเกิดในเด็กที่มีอายุ 8 – 19 ปี และมักเกิดจากการติดเชื้อในท้องแล้วลามไปไส้ติ่งหรือจากไส้ติ่งอุดตัน
อาการที่พบ ได้แก่
- ลูกมีอาการปวดตลอดเวลา หรืออาจมีปวดมากเป็นพัก ๆ แต่ไม่มีช่วงที่หายปวดไปเลย และอาการปวดจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลาที่ผ่านไป
- ลูกมักจะปวดมากขึ้นถ้ามีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น พลิกตัว หรือเดิน เด็กอาจจะเดินงอตัวให้เจ็บน้อยลง
- ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด
- มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือถ่ายเหลวร่วมด้วย
- และเมื่อปวดท้องไปสักระยะหนึ่งก็จะเริ่มมีไข้ขึ้นในระยะแรกอาจเป็นไข้ต่ำแต่ถ้าทิ้งไว้ก็จะมีไข้สูงมากขึ้น
- ถ้าไส้ติ่งของลูกเกิดการแตก อาการปวดก็จะแพร่กระจายไปปวด ณ ตำแหน่งอื่น ๆ ของช่องท้องด้วย
สำหรับการวินิจฉัยนั้น สำหรับเด็กเป็นเรื่องยากมากเลยค่ะ เพราะลูกจะยังไม่สามารถพูดหรืออธิบายอะไรมากได้ แต่สิ่งหนึ่งเลยที่คุณหมอจะทราบก็คือ เมื่อไรก็ตามที่คุณหมอกดท้องหรือจับบริเวณท้องของลูก ๆ ก็จะรู้สึกปวดทันที แต่หากเด็กคนไหนที่อาการไม่ได้บ่งชี้ชัดเจนว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบหรือไม่นั้น คุณหมอจะมีสองทางให้คุณพ่อคุณแม่ได้เลือกค่ะ นั่นคือ
- รอดูอาการ คุณหมอจะให้นอนรอดูเพื่อสังเกตอาการไม่ว่าจะเป็นที่โรงพยาบาลหรือว่าที่บ้าน เพื่อดูว่า อาการปวดเพิ่มขึ้นหรือไม่ มีไข้ขึ้นหรือเปล่า และถ้าหากไม่ดีขึ้นภายใน 12 – 24 ชั่วโมงให้รีบกลับมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป ซึ่งในระหว่างดูอาการนั้น ห้ามให้ลูกทานยาแก้อักเสบ หรือยาแก้ปวด เพราะจะปิดบังอาการไม่ให้แสดงออกมาให้เราเห็นได้ค่ะ และอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยล่าช้าหรือผิดพลาดได้
- ตรวจทางรังสีวินิจฉัยเพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่น การทำอัลตร้าซาวด์ หรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิมเตอร์ เพื่อดูว่า ไส้ติ่งของลูกนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่ และมีเลือดมาเลี้ยงกว่าปกติหรือเปล่า ซึ่งถ้าหากหมอวินิจฉัยแล้วพบว่าลูกเป็นจริง ก็จะได้เข้ารับการรักษาต่อไปได้อย่างทันท่วงที
วิธีการรักษา
หากพบว่า ลูกเป็นไส้ติ่งอักเสบ วิธีการรักษากก็คือ การผ่าตัดไส้ติ่ง โดยผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกไป ซึ่งถือเป็นการรักษามาตรฐานของไส้ติ่งอักเสบ ถ้าไส้ติ่งอักเสบไม่ตรวจพบแต่เนิ่น ๆ ไส้ติ่งจะแตกได้และทำให้เกิดการติดเชื้อของเยื่อบุช่องท้องซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่วางตัวอยู่ในช่องท้อง การติดเชื้อนี้เรียกว่าเยื่อบุช่องท้องอักเสบซึ่งสามารถแพร่กระจายได้เร็ว และทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากไส้ติ่งอักเสบในเด็กวินิจฉัยได้ยากกว่าในผู้ใหญ่จึงมีเด็กประมาณ 30% ไส้ติ่งแตกก่อนที่จะได้รับการรักษา
ซึ่งการผ่าตัดนั้นจะเป็นการผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง หรือการผ่าตัดแบบส่องกล้องก็ได้ค่ะ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงพยาบาลนั้น ๆ รวมไปถึงความชำนาญของศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดด้วย ซึ่งผลการรักษาไม่แตกต่างกัน หากแต่เพียงการผ่าตัดแบบส่องกล้องจะมีแผลเล็ก ๆ เพียงแค่ 0.5-1 ซม. 2-3 ตำแหน่ง จึงจะเจ็บแผลน้อยกว่าและกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วกว่าเล็กน้อย แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามากเลยละค่ะ
ขอบคุณที่มา: สสส. และ Honestdocs
อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ:
- ปวดท้องบอกโรค กับ 7 ตำแหน่งทั่วท้องที่ต้องระวัง!
- แม่แชร์! ลูกไอมาก จนปอดบวม สุดท้ายติดเชื้อในกระแสเลือด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่