AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

โรคในทารกแรกเกิด 10 โรคฮิตลูกมักเป็นในขวบปีแรก

1 ในสิ่งสำคัญที่พ่อแม่มือใหม่ควรทำ คือ รู้จัก/เฝ้าระวัง พร้อมรับมือ กับ โรคในทารกแรกเกิด ซึ่งมี 10 โรคด้วยกันที่ล้วนแล้วแต่เป็นอาการและ โรคยอดฮิต ที่ลูกน้อยมักเป็นบ่อยในช่วงวัยขวบปีแรก จะมี โรคที่เกิดขึ้นในวัยทารก โรคใดบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ

10 โรคในทารกแรกเกิด ยอดฮิต!
ลูกมักเป็นในขวบปีแรก

ลูกน้อยในวัยขวบปีแรก ถือเป็นวัยที่ร่างกายและจิตใจยังเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ จึงย่อมมีการเจริญเติบโตและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็จะแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย ทั้งนี้การดูแลลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ขวบ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะลูกน้อยสามารถเจ็บป่วย หรือ มีอาการไม่สบายตัว ได้บ่อยครั้ง

เนื่องจากการที่อวัยวะต่างๆของเด็ก ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่นี่เอง โรคต่างๆของเด็กมักแตกต่างจากโรคของผู้ใหญ่ ถึงแม้บางชนิดอาจเหมือนกันก็ตาม และจากการที่เนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในเด็กต่ำกว่าในผู้ใหญ่ โรคในทารกแรกเกิด หรือ โรคเด็ก จึงมักมีความรุนแรงมากกว่าในผู้ใหญ่ ดังนั้นขั้นตอนและวิธีดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กจึงแตกต่างจากในผู้ใหญ่

ทั้งนี้สำหรับโรคเด็ก ก็ไม่จำเป็นต้องรักษากับหมอเด็ก (กุมารแพทย์) เพราะแพทย์ทุกสาขาสามารถดูแลเด็กได้ทุกคน เนื่องจากในการเรียนแพทย์ ทุกคนต้องผ่านการเรียนการสอนในเรื่องของโรคเด็กเป็นวิชาหลักวิชาหนึ่งเสมอ

แต่เมื่อเป็นโรคที่ซับซ้อนก็ควรเป็นการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางโรคเด็ก หรือ โรคในทารกแรกเกิด ซึ่งแพทย์ที่ดูแลเด็กอยู่ในขณะนั้นมักจะเป็นผู้แนะนำคุณพ่อคุณแม่เสมอ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคุณพ่อคุณแม่มีความสะดวกกว่าในการพบหมอเด็กหรือในโรงพยาบาลที่มีการแยกสาขาตรวจ เมื่อเด็กป่วยก็พบหมอเด็กได้เลยตั้งแต่แรก

อย่างไรก็ตาม โรคของเด็ก มีสาเหตุเช่นเดียวกับในโรคของผู้ใหญ่ เพียงแต่แตกต่างกันในอุบัติการณ์ (การพบได้มากหรือน้อย) โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคในเด็ก มีทั้งมาจาก การติดเชื้อ, โรคแต่กำเนิด, โรคจากมีพัฒนาการบกพร่อง, โรคจากอุบัติเหตุต่างๆ เป็นต้น ซึ่งสำหรับ โรคในทารกแรกเกิด ก็มี 10 โรคยอดฮิต ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงขวบปีแรก ที่ลูกมักเป็น จะมีโรคใดบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ

คลิกอ่าน >> “10 โรคยอดฮิต ลูกมักเป็นในขวบปีแรก” หน้า 2

10 อาการ และ โรคในทารกแรกเกิด ยอดฮิต
ที่ลูกมักเป็นในช่วงขวบปีแรก

1. อาการตัวเหลือง

ลูกตัวเหลือง หนึ่งในอาการของทารกแรกเกิดที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่ทุกคน และมักจะแสดงอาการในช่วง 3 – 4 วันหลังคลอด สาเหตุเกิดจากการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงหลังคลอด ร่วมกับการทำงานของตับในเด็กแรกเกิดที่ยังไม่ดีพอ ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดกับเด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือกรุ๊ปเลือดแม่และลูกที่ไม่เข้ากัน

ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตให้ดี เพราะหากมีอาการตัวเหลืองนานเกินไป อาจเป็นอันตรายได้ ทางที่ดีควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการโดยด่วน

2. ไข้หวัด

1 ใน โรคในทารกแรกเกิด ยอดฮิต ของเด็กๆ ทุกคน เป็นภาวะที่ลูกน้อยมีอุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส และถ้าเมื่อไหร่ที่ปล่อยให้ไข้ขึ้นเกินกว่า 38.5 ลูกน้อยก็จะมีโอกาสชักได้

ทางที่ดีเมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกเริ่มตัวรุมๆ ควรรีบเช็ดตัว เช็ดหน้า ลำคอ ขา แขน โดยเน้นไปตามข้อพับ และขาหนีบ ที่เป็นจุดที่มีอุณหภูมิสูง เพื่อระบายความร้อน โดยการเช็ดแบบย้อนรูขุมขน ก็จะยิ่งช่วยระบายความร้อนได้ดี เมื่อเช็ดเสร็จแล้วก็ใส่เสื้อให้เรียบร้อย และอาจหาผ้าชุบน้ำหมาดๆ มาวางบนหน้าผาก ก็จะช่วยลดอุณหภูมิได้ดีขึ้นอีกทางหนึ่ง …ทั้งนี้สามารถกินยาลดไข้ควบคุมตามไปด้วยได้ แต่ก่อนป้อนยาคุณพ่อคุณแม่ต้องทำตามคำแนะนำของคุณหมอด้วย และไม่ควรซื้อยามาให้ลูกน้อยรับประทานเองเป็นอันขาด

3. โคลิก

“เด็กเห็นผี” หรือ โรคโคลิก เป็น อาการที่มักจะเจอในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน ที่ชอบร้องไห้ โยเยแบบไม่มีสาเหตุ บางครั้งร้องจนหน้าแดง เกร็ง บิดแขน บิดขา หรือมักร้องเป็นช่วงๆ ช่วงเวลาเย็น กลางคืน หรือกลางดึก ในเวลาเดิมๆ โดยจะร้องติดต่อกัน 3 – 4 ชั่วโมง

ซึ่งสาเหตุเบื้องต้นที่คุณหมอส่วยใหญ่วินิจฉัย อาจเกิดจากการที่ลำไส้ถูกกระตุ้น พบได้ในเด็กที่กินนมผสมหรือแพ้โปรตีนนม คำแนะนำคือ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองอุ้มลูกน้อยเดินวนรอบบ้านพร้อมลูบหลังเบาๆ หรือจับนอนหงายและจับเข่าลูกงอจนสุดเพื่อไล่ลมก็น่าจะช่วยบรรเทาได้

4. แหวะนม

เชื่อว่าอาการ “แหวะนม” ของเจ้าตัวน้อย เกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคนแน่นนอน ไม่ว่าจะเป็นการกินนมแม่ หรือนมผสม ซึ่งอาการนี้จะเกิดขึ้นจากการที่ลูกน้อยดื่มนมในปริมาณที่มากหรือเร็วเกินไป ทำให้ลมเข้าไปในท้องมาก จนมีอาการสำลักหลังกินนมเสร็จ ทำให้เมื่อเรอหรือน้ำลายไหล ก็มักจะมีน้ำนมไหลย้อนจากหลอดอาหารกลับออกมาด้วย จึงทำให้มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว

เพราะฉะนั้นหลังจากที่คุณแม่ให้นมลูกน้อยเสร็จ แนะนำให้อุ้มลูกในท่านั่งหลังตรง ยกหัวให้สูงอย่างน้อย 30 นาที และไม่ควรให้ลูกนอนทันทีหลังดื่มนม ก็จะช่วยลดอาการแหวะนมลงได้

5. ฝ้าขาวในปาก/ลิ้น

สำหรับเด็กแรกเกิดนั้น มักจะพบคราบขาว หรือฝ้าบนลิ้น ในช่องปาก และกระพุ้งแก้ม ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดจากเชื้อราในช่องปากหรือการล้างจุกนมไม่สะอาดนั่นเอง

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยป้องกัน ฝ้าขาวในปากและลิ้นของลูกน้อยได้ คือ เมื่อลูกกินนมเสร็จแนะนำว่าให้ดื่มน้ำอุ่นตาม หรือถ้ายังไม่หาย สำหรับทารกที่ยังไม่ควรให้ดื่มน้ำ แนะนำให้คุณแม่ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเช็คทำความสะอาดบริเวณช่องปากหลังทานนมเสร็จ ก็จะช่วยได้

6. ผดผื่น

สำหรับลูกทารกตัวน้อยที่พึ่งคลอดนั้น ต่อมเหงื่อยังคงทำงานไม่สมบูรณ์ การขับเหงื่อยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้เกิดผดผื่น ตุ่มแดงๆ น้ำใสๆ หรือเกิดเป็นตุ่มหนองเล็กๆ ขึ้นได้ทั้งที่ตัวและใบหน้า รวมไปถึงการห่อหุ้มลูกน้อยมากเกินไป ก็จะทำให้ร้อน อบชื้น ไม่สบายตัวได้

ทั้งนี้หากสังเกตว่าลูกมีอาการคันด้วย ก็ควรทาแป้งเด็ก หรือคาลาไมน์ เพื่อช่วยลดอาการคัน โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบและก้น ทางที่ดีควรเปลี่ยนผ้าอ้อมให้บ่อยขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมมที่บริเวณผิวก้นและอวัยวะเพศของลูกน้อย

7. ท้องเสีย

เมื่อไหร่ที่ลูกน้อยเริ่มถ่ายเกิน 3 ครั้งต่อวัน ให้คุณพ่อคุณแม่สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า ลูกอาจจะท้องเสีย และอย่าปล่อยไว้จนลูกเกิดภาวะขาดน้ำ เพราะนั่นอาจจะทำให้ลูกเกิดอาการช็อคได้ ทั้งนี้ความจริงแล้ว โรคท้องเสีย สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การติดเชื้อทางเดินอาหาร ที่มากับอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคปะปน การอักเสบของทางเดินอาหาร ที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิต้านทานทางเดินอาหารอักเสบ และการแพ้โปรตีนในนม มีผื่นผิวหนัง มีน้ำมูก หรือท้องเสียจากเชื้อไวรัสโรต้า ที่ติดมาจากมือหรือพื้นผิวทั่วไปและปะปนมาในอาหาร สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง

8. ท้องอืด

เมื่อไหร่ก็ตามที่ ลูกร้องไห้ งอแง อึดอัด พะอืดพะอม หรือสงสัยว่ามีลมในท้องมากเกินไป อาจเป็น อาการ ท้องอืด สิ่งที่ควรทำคือ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองอุ้มเจ้าตัวน้อยมาแนบอก ให้คางเกยไหล่ แล้วลูบหลังเบาๆ เพื่อไล่ลม หรือนวดบริเวณจุดกึ่งกลางของช่องท้องแล้วหมุนตามเข็มนาฬิกา 2 – 3 ครั้งก็จะยิ่งช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของลำไส้ ได้ดีเลยล่ะค่ะ

9. ท้องผูก

สำหรับลูกน้อยแรกเกิดส่วนใหญ่ที่กินนมแม่มักจะไม่ค่อยมีปัญหาอาการท้องผูก เพราะโดยปกติจะถ่ายวันละ 6 – 7 ครั้ง จะถ่ายออกสีเหลืองๆ และเหลวๆ แต่ถ้าลูกกินนมผสมก็อาจจะมีอาการท้องผูก ถ่ายแข็ง ถ่ายไม่ออก อึดอัดบ้าง แน่นท้องบ้าง ทางที่ดีคุณแม่ควรลองเปลี่ยนนม หรือหากกินนมผสมอยู่ควรให้ดื่มน้ำมากขึ้น หรือกินน้ำลูกพรุน/น้ำส้ม ผสมน้ำต้มสุกเพื่อช่วยกระตุ้น การขับถ่ายก็จะดีขึ้นได้ แต่แนะนำว่าควรให้ลูกกินเมื่ออายุ 6 เดือนไปแล้วเท่านั้น

10. หืดหอบ

อาการหรือโรคหืดหอบในเด็ก มักจะเกิดจากการไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะ ไอมากในช่วงเวลากลางคืน สังเกตได้จากมีการหายใจที่เร็วขึ้นผิดปกติ หายใจลำบาก ปีกจมูกบานเข้าออก หากเห็นว่าลูกเป็นมาก อาจมีอาการปากเขียว เล็บเขียว ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้และครอบครัวที่มีประวัติโรคภูมิแพ้นั่นเอง ซึ่งหากลูกน้อยมีอาการหืดหอบแบบนี้ ควรรีบพาไปปรึกษากุมารแพทย์โดยเร็ว เพื่อจะได้รักษาได้ทันท่วงที

อย่างไรก็ตามสำหรับวิธีป้องกัน 10 โรคในทารกแรกเกิด เบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่ต้องมีความพร้อมในการมีลูกเพื่อลดโอกาสเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการและปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก ทั้งนี้เมื่อถึงวัยลูกต้องได้รับอาหารตามช่วงวัยที่ถูกต้องตามคำแนะนำของคุณหมอ

และที่สำคัญต้องได้รับวัคซีนพื้นฐานตามคำแนะนำกระทรวงสาธารณสุขและคุณหมอตั้งแต่แรกเกิด เช่น วัคซีนโรคตับอักเสบบี โรคหัด โรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน โรคบาดทะยัก โรคไอกรน โรคคอตีบ และวัณโรค เป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกน้อย

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :


ขอบคุณข้อมูลจาก: www.phyathai.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids