AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกวัยปฎิเสธ บ่งบอกอะไร

ลูกวัยปฎิเสธทำไมเด็กๆมีพฤติกรรมปฏิเสธและอาการเหล่านี้บ่งบอกอะไร

เมื่อลูก ๆ เข้าสู่วัยเตาะแตะ 1 – 3 ปี พัฒนาการต่าง ๆ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจก็เริ่มพัฒนามากขึ้น เช่น เดินได้เอง พูดได้มากขึ้น เป็นตัวของตัวเอง และเริ่มต้องการทดสอบอำนาจที่มีเหนือพ่อแม่ จึงไม่อยากให้พ่อแม่ทำให้ทั้งหมด แต่ด้วยความสามารถของเด็กวัยนี้ยังต้องพึ่งพ่อแม่อยู่ บางครั้งลูกเลยเกิดความขัดแย้งในใจ เวลาที่พ่อแม่บอกให้ทำอะไร ก็จะเกิดการต่อต้านขึ้น อยากจะเลือกเอง ทำให้พ่อแม่ไม่สามารถควบคุมลูกได้เหมือนเดิม คำที่ติดปากลูกส่วนใหญ่ก็คือ “ไม่ ไม่ ไม่” คำนี้แหละ ที่ทำให้พ่อแม่ต้องหงุดหงิด อารมณ์เสีย จนกลายเป็นความไม่เข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย

           วิธีที่ดีสำหรับการรับมือ คือ พ่อแม่ต้องยอมรับและเข้าใจก่อนว่านี่เป็นกระบวนการพัฒนาที่เกิดกับเด็กทุกคน ไม่ใช่ว่าเขาแกล้งไม่เชื่อฟัง จริงๆแล้วการที่เด็กเริ่มเป็นตัวของตัวเองแสดงว่าเขากำลังเรียนรู้ที่จะพึ่งคนอื่นน้อยลง ดังนั้นการยอมรับแบบนี้เพื่อที่ว่า แทนที่พ่อแม่จะไปอารมณ์เสียกับลูกหรือไปควบคุมลูกทุกอย่าง ซึ่งอาจจะยิ่งทำให้เขาร้องไห้ โวยวาย กลายเป็นเด็กอารมณ์ร้าย เปลี่ยนมาเป็นการทำตัวเป็นแบบอย่าง ให้เขาค่อยๆ เรียนรู้การควบคุมตนเองและ รู้จักจัดการอารมณ์ของตนเอง

           จะลดลงหรือไม่ ?

การลดพฤติกรรมต่อต้าน คือ การที่พ่อแม่ช่วยให้ลูกมีวินัยและควบคุมตนเองได้มากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความสม่ำเสมอ หนักแน่น และจริงจังอย่างพอดี โดยการบอกอย่างชัดเจนว่าต้องการให้ลูกทำอะไร เมื่อไร

อย่างไรก็ตาม พื้นฐาน คือ พ่อแม่ต้องมีการแสดงออกถึงความรักที่มีต่อลูกด้วย มองเห็นและชมพฤติกรรมที่ดีด้วยการลดพฤติกรรมต่อต้านก็จะง่ายขึ้นมาก

ถ้าสรุปออกมาเป็นหัวข้อง่ายๆ มีดังนี้

  1. ถ้าเป็นไปได้ ควรหาวิธีป้องกัน เช่น ถ้ารู้ว่าเล่นแก้วแน่ๆ เราก็เลี่ยงไม่ให้เห็น หรือใช้แก้วที่ไม่แตก เป็นต้น
  2. สร้างอารมณ์ขันถ้ารู้ว่าอีกซักพักลูกจะหงุดหงิดแล้ว หรือทำเป็นเล่นเกม เช่น ต้องการให้ลูกเก็บของ ก็หลอกล่อด้วยการเล่นเสียงว่า “อุ๊ยเรามาเอาเจ้านี้ เข้ามาซุกในคุณตะกร้าดีกว่า”
  3. ให้ตัวเลือก ดีกว่า ถามว่า เอา ไม่เอา หรือ ใช่ ไม่ใช่
  4. มีขอบเขต เพราะบางครั้งเราต้องควบคุมลูกเพื่อความปลอดภัย เช่น เวลาไปเดินห้าง เราต้องหนักแน่น ใจแข็ง เช่น ลูกงอแง ไม่ใส่รองเท้า เราก็บอกว่า โอเค งั้นอดไป เป็นต้น
  5. ให้เวลาลูกได้เตรียมตัว ขั้นแรก ส่งคำเตือนไปก่อน เช่น อีก 15 นาทีลูกต้องหยุดเล่นและไปอาบน้ำ เพราะในขณะที่ลูกกำลังเล่นหรือทำอะไรสนุก ๆ การที่พ่อแม่ไปให้เขาทำอย่างอื่นเลยโดยที่ยังไม่ทันตั้งตัว ลูกก็ต้องไม่พอใจโวยวายปฏิเสธแน่นอน ขั้นที่ 2 เมื่อถึงเวลาที่ต้องหยุดเล่นจริง ๆ ก็บอกลูกว่า ได้เวลาไปอาบน้ำแล้ว ขั้นตอนนี้ลูกอาจจะยังโวยวาย พ่อแม่ต้องอดทน ย้ำกับลูกด้วยท่าทีที่สงบ และไม่ต้องบ่น ขั้นที่ 3 ถ้าลูกยังไม่ยอมไป ให้พ่อแม่เอาจริง โดยเข้าไปหาลูก พาลูกไปอาบน้ำแต่ไม่ต้องรุนแรง คืออย่าไปลากหรือดึง อาจใช้วิธีโน้มน้าว เช่น พี่ ๆ ก็อาบน้ำกันทั้งนั้น เพราะเด็กบางคนชอบเลียนแบบพี่ ๆ หรืออาจจะโน้มน้าวผ่านการเล่นเกมส์สนุก ๆ เช่น ชวนเป็ดน้อยไปอาบน้ำกันเถอะ ดูสิใครจะได้ก่อนกัน
  6. อดทน อดทน และอดทน เด็กเรียนรู้จากเวลาเราโมโห เราต้องควบคุมอารมณ์หรือให้มีการระบายออกอย่างสร้างสรรค์เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก

           การตี ช่วยหรือไม่ ?

ในยุคนี้ หมอแนะนำว่าให้พ่อแม่หลีกเลี่ยงการลงโทษด้วยการตี เพราะในความรู้สึกของเด็ก การตี คือ การที่พ่อแม่สื่อให้เขารู้ว่า “ความรุนแรงเป็นวิธีการจัดการสิ่งต่างๆ” เขาอาจจะหยุดพฤติกรรมทันทีก็จริง แต่หยุดเพราะไม่อยากถูกตี ไม่ใช่การควบคุมตนเองจริง ๆ และส่วนใหญ่เมื่อถึงจุดที่พ่อแม่ต้องตี ก็มักตีด้วยอารมณ์ ทำให้ลูกมีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กก้าวร้าว อารมณ์ร้าย และโตขึ้นเขาก็จะระบายอารมณ์ด้วยการทำร้ายผู้อื่นเช่นกัน

 

บทความโดย : พญ. สินดี จำเริญนุสิต กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม  โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111
ภาพ : shutterstock