รศ.นพ.พรเทพ ตั่นเผ่าพงษ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จะมาแนะนำให้รู้จัก 5 โรคทางเดินอาหารในทารก ที่พบบ่อยในช่วงวัยขวบปีแรก พร้อมการดูแลอย่างถูกวิธีค่ะ
5 โรคทางเดินอาหารในทารก ที่พบบ่อยที่สุด
1) กรดไหลย้อน
สาเหตุ กรดไหลย้อนในทารก
กรดไหลย้อนอาจเกิดขึ้นได้ 30-40% ในเด็กทารกในช่วงอายุ 3-4 เดือนแรกหลังเกิด เชื่อว่าเกิดจากรอยต่อหรือหูรูดระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารของทารกยังทำงานไม่แข็งแรง อาจพบการคลายตัวเป็นระยะๆ ทำให้เมื่อทารกกลืนนมลงไป ซึ่งโดยปกตินมจากหลอดอาหารจะลงสู่กระเพาะอาหารและไปยังลำไส้เล็ก แต่หากนมที่กินยังไม่ทันลงไปสู่ลำไส้เล็กเต็มที่ แต่นมกับน้ำย่อยกลับไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารแทน จนทำให้ลูกมีอาการกรดไหลย้อน และแหวะนมหรืออาเจียนออกมา
อาการ กรดไหลย้อนในทารก
ลูกอาจมีอาการแหวะนมโดยอาจแหวะเพียงวันละ 2-3 ครั้ง หรือบางคนแหวะเกือบทุกมื้อ ปริมาณมากน้อยแตกต่างกัน ซึ่งหากสามารถกินนมได้ตามปกติ น้ำหนักขึ้นดี และไม่มีอาการผิดปกติอื่นแบบนี้อาจถือว่าเป็นภาวะกรดไหลย้อนที่ไม่อันตราย สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยโดยยังไม่จำเป็นต้องทำการรักษาหรือตกใจจนรีบพามาพบแพทย์ทันที เว้นแต่ในกรณีลูกแหวะนมบ่อยมาก อาเจียนบ่อยหลังกินนม อาเจียนพุ่ง อาเจียนเป็นเลือดหรือเป็นน้ำดี งอแง ร้องไห้กวนรุนแรง น้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นหรือน้ำหนักลด ซึ่งเป็นอาการที่รุนแรงมากขึ้น ควรพิจารณาพาทารกมาพบแพทย์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การดูแล เมื่อลูกเป็นกรดไหลย้อน
วิธีการช่วยเหลือและแก้ไขเมื่อลูกแหวะนม คือการทำให้เรอเพื่อไล่ลมที่อยู่ในกระเพาะอาหาร เพื่อให้ในกระเพาะอาหารเหลือเพียงนมให้ย่อย จะช่วยดูแลอาการกรดไหลย้อนเบื้องต้นได้ ส่วนอีกวิธีการที่ช่วยป้องกันกรดไหลย้อนในทารกคือ การอุ้มให้หัวสูงสัก 20-30 องศา ประมาณสัก 20-30 นาทีหลังจากกินนมเสร็จ ไม่ควรให้ลูกนอนราบทันที โดยเชื่อว่าการอุ้มลักษณะนี้อาจช่วยให้นมไหลย้อนกลับขึ้นหลอดอาหารลดลงได้
กรดไหลย้อนในทารกนี้ มักดีขึ้นตามอายุและพัฒนาการของทารกทำให้ทารกประมาณ 90-95% จะหายหรือดีขึ้นจากกรดไหลย้อนได้ภายใน 1 ปี
บทความแนะนำ สำลักนมคร่าชีวิตลูกน้อย อันตรายที่คาดไม่ถึง
อ่านต่อ>> โรคทางเดินอาหารยอดฮิตในทารก คลิกหน้า 2
2) ร้องโคลิก (หรือร้องสามเดือน)
สาเหตุ ลูกร้องโคลิก
ณ ปัจจุบันยังหาสาเหตุที่ชัดเจนไม่ได้ครับ มีเพียงการสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากปัญหาของระบบทางเดินอาหาร เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเองและหายได้เองอีกด้วย
อาการ โคลิก
ทารกจะร้องไห้โดยไม่รู้สาเหตุ อาจไม่ได้ร้องสัมพันธ์กับการหิวหรือการขับถ่ายโดยอาจร้องอย่างรุนแรง หน้าแดง มือกำ ขาจิก แอ่นหลังงอเข่าขึ้น ปลอบให้หยุดได้ยาก ร้องทุกวันโดยเฉพาะช่วงพลบค่ำหรือกลางคืนอาจร้องเป็นชั่วโมง ในช่วงเวลาเดิมๆ ตลอด 2-3 เดือน
การดูแล
เมื่อลูกร้องโคลิกโดยหาสาเหตุไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่มักเครียดและกังวล จึงควรทำความเข้าใจกับภาวะนี้ว่าอาการนี้ไม่เป็นอันตรายและหายได้เอง วิธีการช่วยดูแลคือ การอุ้มเขย่าปลอบลูกเบาๆ เปรียบได้เหมือนการที่ทารกได้นั่งอยู่ในรถ หรือหลายครอบครัวอาจพบว่าการพาลูกนั่งในรถขับออกไปข้างนอกก็ช่วยให้ลูกร้องน้อยลงได้ อีกวิธีคือ การเปิดเพลงที่เป็นเสียงเหมือนธรรมชาติเช่น เสียงน้ำตก เสียงลม การใช้เสียงเบาๆ พูดกับลูก ปลอบโยน สัมผัสหรือกล่อมเบาๆ อาจช่วยลูกได้มากขึ้น
บทความแนะนำ 10 วิธีทำให้ลูกหยุดร้องไห้
3) แพ้อาหาร (ที่พบมากคือ แพ้โปรตีนนมวัว)
สาเหตุ ลูกแพ้อาหาร
เกิดจากภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติกับสิ่งกระตุ้นต่างๆ ซึ่งอาหารที่ทารกและเด็กเล็กมักแพ้ ได้แก่ อาหารที่มีโปรตีนนมวัว ถั่วเหลือง ถั่วเมล็ด ไข่แดง ไข่ขาว แป้งสาลี อาหารทะเล เป็นต้น แม้ทารกยังไม่ได้กินอาหารที่แพ้นั้นก็ตาม แต่หากคุณแม่ที่ให้นมบุตรแล้วกินอาหารชนิดที่ทารกอาจแพ้นั้น ก็อาจทำให้โปรตีนหรือส่วนประกอบของอาหารนั้นผ่านเข้านมแม่ จนทำให้ลูกเกิดอาการแพ้อาหารได้
บทความแนะนำ เตือนจากแม่ถึงแม่!! ลูกแพ้อาหาร เพราะแม่ท้องโด๊ปอาหารกลุ่มเสี่ยงมากเกินไป
อาการ แพ้อาหาร
มีอาการ 3 ระบบที่พบได้บ่อย คือระบบผิวหนัง เช่น ผื่น คัน ระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ปวดท้อง ร้องกวน ท้องเสีย และระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ หายใจครืดคราด เสมหะหรือน้ำมูกเยอะ จึงควรหมั่นสังเกตอย่างสม่ำเสมอหากทารกเจริญเติบโตช้า น้ำหนักตัวขึ้นน้อยหรือน้ำหนักลด อาจบ่งชี้ถึงภาวะการแพ้ที่รุนแรง
นอกจากนี้ ยังอาจพบประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น ผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบ แพ้อาหาร หอบหืด ภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบ เป็นต้น
การดูแล เมื่อลูกแพ้อาหาร
หากลูกมีอาการแสดงว่าแพ้อาหารหรือสงสัยว่าอาจจะแพ้ คุณพ่อคุณแม่อาจพิจารณาปรึกษาแพทย์ โดยหมั่นสังเกตอาการว่าลูกน้อยมีปฏิกิริยากับอาหารชนิดใดเป็นพิเศษหรือไม่ และจดบันทึกอาการเป็นระยะๆ ก่อนพบแพทย์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ>> โรคทางเดินอาหารยอดฮิตในทารก คลิกหน้า 3
4) ท้องผูก
สาเหตุ ลูกท้องผูก
ยังหาสาเหตุที่ชัดเจนไม่ได้เช่นกันครับ มักพบเมื่อทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยผู้ดูแลทารกอาจสังเกตว่าเริ่มถ่ายอุจจาระแข็งขึ้นหรือถ่ายห่างขึ้นหลังได้เริ่มทานอาหารเสริมอื่นๆ เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนนม
อาการ
ถ่ายอุจจาระยากหรือถ่ายแข็ง เป็นก้อนหรือเป็นเม็ด อาจพบการเจ็บทวารหนักขณะถ่ายอุจจาระ หรือมีเลือดหยดตามการถ่ายอุจจาระ หรือมีเลือดเคลือบอุจจาระซึ่งมักเกิดจากแผลปริที่ทวารหนัก เด็กอาจกินได้น้อยลง ร้องกวนอย่างไรก็ตาม ทารกบางคนอาจไม่ถ่ายอุจจาระทุกวัน แต่ถ่ายอุจจาระนิ่มดี อาจยังไม่นับว่าท้องผูก จึงควรสังเกตทั้งลักษณะและความถี่ของการถ่ายอุจจาระควบคู่กันไป
การดูแล เมื่อลูกท้องผูก
กินนมในปริมาณที่เหมาะสม ควรจำกัดการให้น้ำเปล่า โดยเฉพาะในทารกก่อนอายุ 6 เดือน หากทารกยังถ่ายอุจจาระแข็ง อาจลองให้กินน้ำลูกพรุนได้สัก 1-2 ออนซ์ และไม่ควรสวนทวารหนักเพราะอาจทำให้เคยชินและลำไส้ใหญ่ส่วนปลายไม่ได้รับการกระตุ้นให้ขับถ่ายได้ตามธรรมชาติ
บทความแนะนำ ตารางเปรียบเทียบสารอาหารใน ลูกพรุนและน้ำลูกพรุน แก้อาการท้องผูก
5) การติดเชื้อในทางเดินอาหารแบบเฉียบพลัน
สาเหตุ ทารกติดเชื้อในทางเดินอาหาร
พบบ่อยจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ซึ่งมาจากอาหารและน้ำที่ไม่สุก ไม่สะอาด การล้างขวดนมไม่ดี หรือการติดเชื้อโรคมาจากพี่น้องที่ไปโรงเรียน หรือคนในบ้านติดเชื้อมาก่อน
อาการ ทารกติดเชื้อในทางเดินอาหาร
ไข้ อาเจียน ท้องเสียหรือถ่ายเหลวมากขึ้น รวมถึงการถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดท้อง ร้องกวน และอาจพบสัญญาณของการขาดน้ำ ได้แก่ ปากแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะออกน้อยลง ซึม โดยเฉพาะในเด็กที่กินอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ อาเจียนมาก หากพบสัญญาณของการขาดน้ำดังกล่าว หรือ ไข้สูงร่วมกับท้องเสียเป็นมูกเลือด ควรพาลูกมาพบแพทย์
การดูแล ทารกติดเชื้อในทางเดินอาหาร
การให้ลูกดื่มน้ำผสมผงเกลือแร่ในช่วงเวลาที่ท้องเสียหรืออาเจียน ร่วมกับการกินนมเดิมต่อตามปกติในช่วงแรก จะช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำได้ระดับหนึ่ง เพราะผงเกลือแร่จะมีทั้งเกลือแร่ที่สำคัญและน้ำตาล ที่บรรเทาและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
บทความแนะนำ รู้ทัน…ไวรัสลงกระเพาะและลำไส้ในเด็ก
สุดท้ายนี้ อยากให้คำแนะนำว่า โรคทางเดินอาหารในทารก หลายโรคดังกล่าวอาจยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด รวมทั้งไม่มีวิธีการป้องกันที่ได้ผลเต็มที่ แต่การมีความรู้ความเข้าใจในภาวะดังกล่าว รวมไปถึงการดูแลเบื้องต้นเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ดูแลเด็กควรหมั่นศึกษา ควรหมั่นสังเกตอาการต่างๆ ที่ผิดปกติของทารกอย่างสม่ำเสมอ และอยากฝากว่าการใช้ยาอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการดูแลรักษากลุ่มโรคทางเดินอาหารในทารกที่พบบ่อย
บทความโดย รศ.นพ.พรเทพ ตั่นเผ่าพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาโรคทางเดินอาหาร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นิตยสาร Amarin Baby & Kids เดือนมกราคม 2560
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่