AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

อาการขั้นวิกฤต ไข้ลด ตัวเย็น เสี่ยงช็อกเสียชีวิต จากไข้เลือดออก!

ไข้ลด ตัวเย็น  ถือเป็น 1 ในอาการขั้นวิกฤตที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยเฝ้าระวัง เมื่อลูกน้อยกำลังป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ซึ่งอาจทำให้ลูกมีอาการช็อก มีภาวะการไหลเวียนล้มเหลวเกิดขึ้น เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอด/ช่องท้องมาก ซึ่งหากปล่อยไว้จนเป็นขั้นรุนแรง ก็อาจทำให้ลูกเสียชีวิตได้

ลูกเป็นไข้เลือดออก สังเกตให้ดี อาการขั้นวิกฤต ไข้ลด ตัวเย็น เสี่ยงช็อกเสียชีวิต

ในช่วงฤดูฝนของทุกปีของประเทศไทยเรา มักจะเป็นฤดูที่มีการระบาดของโรคที่เกิดจากยุงลายสูงสุด เนื่องจากฝนที่ตกลงมานั้นจะทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำให้ยุงลายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงอื่นๆ

ซึ่งโรคที่ตัวคุณพ่อคุณแม่เองและลูกน้อยควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงนี้คือโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ 3 โรคใหญ่ๆ ด้วยกัน คือโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกที่เด็กๆมักเป็นกันบ่อย และมีสถิติคนไทยที่เป็นไข้เลือดออกถึงปีละ 3 หมื่นกว่าคนเลยทีเดียว

อาการในเบื้องต้นของเด็กที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก

โดยหลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) จากนั้นจะเริ่มมีอาการไข้สูงลอย หลังรับประทานยาลดไข้ก็ยังคงมีไข้อยู่ แต่ระดับจะต่ำลง ปวดศีรษะ อาจมีอาการปวดกระบอกตา ปวดตามตัว เช่น ปวดกระดูกหรือกล้ามเนื้อ มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล หรือเลือดออกตามไรฟัน บางรายมีผื่น อาการทั่วไปอื่นๆที่พบมี คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง

ขอบคุณภาพจาก : www.thaivbd.org

ระยะการป่วยของไข้เลือดออก

ระยะฟักตัวของไข้เลือดออกจะอยู่ในช่วง 3-5 วัน และอาการไข้เลือดออกสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง

ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ไข้จะสูงค้างอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา โดยที่กินยาลดไข้ก็ยังบรรเทาไข้ไม่ได้ ร่วมกับอาการหน้าแดง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร และบางรายมีอาการอาเจียนเป็นพักๆ หรืออาจมีอาการท้องผูกหรือถ่ายเหลว และบางคนอาจมีอาการเจ็บคอ ไอเล็กน้อย ทว่าในระยะ 3 วันที่ป่วย ตุ่มอาจยังไม่ขึ้นให้เห็นชัดๆ

 

อ่านต่อ >> “อาการขั้นวิกฤตของไข้เลือดออกที่พ่อแม่ต้องระวัง เสี่ยงลูกมีภาวะช็อกเสียชีวิต” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ระยะที่ 2 ระยะช็อกและมีเลือดออก

อาการนี้จะพบในช่วงระหว่างวันที่ 3 – 7 ของการป่วย อาการไข้ของผู้ป่วยจะเริ่มลดลง แต่กลับอาเจียน ปวดท้องบ่อยขึ้น ซึมมากขึ้น ตัวเย็น มือเท้าเย็น กระสับกระส่าย เหงื่อแตก ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นแผ่วแต่เร็ว และความดันต่ำ ซึ่งเป็นภาวะช็อก และหากไม่ได้รับการรักษาภายใน 1 – 2 วัน อาจทำให้เสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดออกตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือดหรือสีกาแฟ ถ่ายเป็นเลือด ซึ่งหากอยู่ในภาวะนี้ อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น และถ้ายังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเสียชีวิตภายใน 24 – 27 ชั่วโมง แต่หากผู้ป่วยสามารถประคองอาการให้ผ่านพ้นระยะนี้มาได้ ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรคไข้เลือดออก

ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว

ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการช็อก หรือช็อกไม่รุนแรง และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาการของผู้ป่วยจะฟื้นตัวสู่สภาพปกติ โดยผู้ป่วยจะรู้สึกตัวและร่าเริงขึ้น เริ่มกินอาหารได้ โดยอาการจะดีขึ้นตามลำดับภายในช่วงระยะ 7 – 10 วัน หลังจากผ่านพ้นระยะที่ 2 ของโรค

ภาวะช็อก ของอาการไข้เลือดออก ที่พ่อแม่ต้องระวัง!

ซึ่งสิ่งที่ทำให้โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่น่ากลัว เป็นเพราะหากลูกมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกนั้นเป็นช่วงเวลาที่ ไข้ลด ตัวเย็น แต่ลูกจะมีสติพูดจารู้เรื่อง ทำให้พ่อแม่นึกว่าปลอดภัยเพราะไข้ลดลงแล้วและไม่พาไปพบแพทย์ แต่แท้ที่จริงผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียมากเนื่องจากกำลังอยู่ในภาวะช็อกนั่นเอง!!!

และในบางครั้งกว่าคุณพ่อคุณแม่จะพาไปพบแพทย์ก็อาจมีภาวะช็อกนาน และมีภาวะแทรกซ้อนคือ ตับ/ไตวายหรือมีเลือดออกมากแล้ว ซึ่งสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกก็มาจากภาวะช็อกนานนั่นเอง

อาการที่บ่งชี้ว่าควรมาพบแพทย์ทันที

ไข้ลดต่ำลงหรือไม่มีไข้แต่ยังอ่อนเพลีย ไม่สามารถทำกิจกรรมตามปรกติ หรือไม่สามารถรับประทานอาหารได้ อาการนำของภาวะช็อกที่ต้องสังเกตและพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันทีโดยเฉพาะเวลาไข้ต่ำลงหรือไม่มีไข้ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียนหรือปวดท้องมาก กระสับกระส่าย มีเลือดออกมาก เช่น เลือดกำเดา หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ กระหายน้ำตลอดเวลา ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกิน 4-6 ชั่วโมง

สำหรับเด็กทารกที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกอาจจะสังเกตอาการยากกว่าในเด็กโตและผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีไข้ควรสังเกตว่ามีจุดเลือดออกแดงๆตามผิวหนังหรือไม่ มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องหรือไม่ ถ้ารับประทานอาหารได้น้อยหรือไม่ได้ควรพาไปพบแพทย์ทันที

ทั้งนี้ไม่ควรให้ยาลดไข้สูงและแอสไพริน เพราะอาจทำให้เป็นแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหารมาก ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนๆ หรือดื่มนม น้ำผลไม้ น้ำข้าว หรือน้ำเกลือแร่ ไม่ควรดื่มน้ำเปล่าเพราะขาดแร่ธาตุและพลังงาน

และหากลูกมีไข้เกิน 3 วัน ควรพาไปพบแพทย์ แพทย์จะตรวจร่างกายโดยละเอียด รัดแขนแน่นๆ เพื่อหาจุดเลือดออก และต้องมีการตรวจเลือดเบื้องต้นเพื่อการวินิจฉัยและติดตามอย่างถูกต้อง

การป้องกันลูกน้อยจากโรคร้ายที่มาจากยุงลาย

ทั้งนี้หากช่วงที่มีฝนตกค่อนข้างยาวนาน ก็ทำให้เกิดแหล่งน้ำขังต่างๆ ซึ่งจะเป็นแหล่งแพร่กระจายพันธุ์ของยุงลายได้เป็นอย่างดี แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถช่วยกันหยุดโรคไข้เลือดออกได้ด้วยตัวเอง

เพราะเนื่องจากยุงลายตัวเมียนั้นเมื่อไปกัดเด็กที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกก็จะรับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกเข้าสู่ตัว และเมื่อไปกัดเด็กคนอื่นอีกจะก็ทำให้เด็กที่ถูกกัดนั้นติดเชื้อไวรัสและป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ซึ่งยุงลายตัวเมียนั้นจะมีอายุ 45-60 วัน ซึ่งอาจเป็นระยะเวลาที่ไม่นาน แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือยุงลายนั้นสามารถที่จะแพร่ขยายพันธุ์ได้โดยวางไข่มากถึง 50-150 ฟอง หรือยุงลายตัวเมียเพียงตัวเดียวจะสามารถให้กำเนิดลูกยุงได้ถึง 500 ตัว

ดังนั้นการสกัดกั้นการแพร่พันธุ์ของยุงลายจึงเป็นวิธีการที่ได้ผลมากที่สุดในการลดการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งยุงลายจะวางไข่ในแหล่งน้ำสะอาดที่มีสภาพขังนิ่ง โดยมีจุดเสี่ยงทั้งหมด 7 แห่งด้วยกัน ดังนี้

อ่านต่อ >> “จุดเสี่ยง 7 ที่ที่มียุงลายอยู่ พ่อแม่ต้องรีบทำลาย” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

  1. รางน้ำฝน เป็นจุดเสี่ยงที่คนมักจะคาดไม่ถึงแต่เป็นแหล่งแพร่พันธุ์ชั้นดี เพราะเศษใบไม้ที่ร่วงใส่หลังคาจะไหลลงมาสะสมไว้ที่รางน้ำฝน จนเกิดการอุดตันและมีน้ำขังเมื่อฝนตกลงมา ดังนั้นจึงควรหมั่นตรวจสอบและเก็บเศษใบไม้ออกจากรางน้ำฝนอยู่บ่อยๆ
  2. ภาชนะที่มีน้ำขัง บริเวณนอกบ้านเป็นพื้นที่ซึ่งเหมาะมากสำหรับการเก็บสะสมข้าวของที่ไม่ค่อยได้ใช้ หรือรอการทิ้งไป แต่เมื่อฝนตกลงมา หรือสาดเข้ามา ข้าวของที่เราเก็บไว้โดยเฉพาะภาชนะต่างๆ เช่น กระป๋อง หรือยางรถยนต์จะมีน้ำฝนขังอยู่ กลายเป็นแหล่งน้ำสะอาดสำหรับการวางไข่ของยุงลาย ดังนั้นจึงต้องคว่ำภาชนะไว้ไม่ให้มีน้ำขัง หรือเทน้ำขังออกอยู่เสมอ ทางที่ดีคือรีบกำจัดของที่ไม่ใช้แล้วออกไป
  3. กระถางต้นไม้ ถาดรองน้ำใต้กระถางที่กันไม่ให้น้ำไหลออกมาเลอะเทอะเวลาที่รดน้ำต้นไม้จะกลายเป็นที่ขังน้ำ และน้ำตรงนี้มีสภาพนิ่งและสะอาด แม้จะเป็นแค่แอ่งน้ำตื้นๆ แต่ไม่ควรมองข้ามไปเพราะยุงลายสามารถอาศัยวางไข่ได้ ควรเทน้ำออกจากถาดรองเป็นประจำ หรือทางที่ดีคือเททรายลงในถาดรองน้ำเพื่อไม่ให้น้ำขัง
  4. ขาตู้กันมด ใครที่ใช้น้ำหล่อรอบขาโต๊ะหรือขาตู้เพื่อกันมดหรือแมลง ไม่ว่าจะเป็นที่โต๊ะอาหารหรือตู้กับข้าว อย่าปล่อยให้แหล่งน้ำสะอาดตรงนี้กลายเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ยุงลาย สามารถแก้ไขจุดเสี่ยงนี้ง่ายๆ ด้วยการเปลี่ยนจากการใส่น้ำเปล่าเฉยๆ มาเป็นน้ำเปล่าผสมเกลือหรือใส่น้ำส้มสายชูแทน ง่ายๆ เท่านี้ยุงลายก็จะไม่สามารถวางไข่ได้
  5. โอ่งน้ำ จุดเสี่ยงขนาดใหญ่ในบ้านอีกแห่งหนึ่งคือแหล่งเก็บน้ำภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นโอ่งน้ำ ถังเก็บน้ำ หรือแทงค์น้ำจะต้องมั่นใจว่ามีฝาปิดสนิทเรียบร้อยดี ไม่มีช่องทางให้ยุงสามารถเข้าไปวางไข่ได้
  6. ภาชนะเลี้ยงพืชน้ำ ใครที่ชอบความสวยงามของพืชน้ำ เช่น บัว จอก แหน สาหร่าย เป็นต้น ในภาชนะที่ขังน้ำไว้เพื่อเลี้ยงพืชน้ำนี้ยุงลายสามารถแพร่พันธุ์ได้ แนะนำให้เลี้ยงปลาในภาชนะเลี้ยงพืชเพื่อให้ปลาคอยกินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูง เป็นต้น
  7. แจกันดอกไม้ จุดเสี่ยงใกล้ตัวเพราะเป็นแหล่งขังน้ำที่อยู่ภายในบ้าน หากลูกน้ำยุงเติบโตที่นี่ก็จะกลายเป็นยุงมากัดคนในบ้านแน่นอน ดังนั้นหากชอบความสวยงามของดอกไม้ก็ต้องขยันเปลี่ยนน้ำในแจกันทุกๆ 7 วัน
อ้างอิงข้อมูล: สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ในการช่วยกันค้นหา และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายร่วมกัน ตามมาตรการ “3 เก็บ 3 โรค” ซึ่งจะเน้นไปที่การควบคุมยุงลายไม่ให้แพร่พันธุ์ และป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด ต้องเก็บสิ่งต่างๆ ดังนี้
1. เก็บบ้าน บ้านที่เป็นระเบียบร้อยนอกจากจะให้ความสวยงามแล้ว ก็ยังทำให้บรรยากาศมีความปลอดโปร่ง จึงไม่มีที่ให้ยุงลายไปหลบซ่อนอยู่
2. เก็บขยะ กองขยะในบ้านนอกจากจะดูไม่สวยงามแล้ว เมื่อฝนตกลงมาอาจเกิดน้ำขังและกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ในที่สุด
3. เก็บน้ำ แหล่งน้ำในบ้านนั้นอาจกลายเป็นที่ที่ยุงลายใช้แพร่พันธุ์ได้หากไม่ดูแลให้ดี โดยเฉพาะแหล่งน้ำนิ่งที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ต้องปิดให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำอย่างสม่ำเสมอ หรือเลี้ยงปลาหางนกยูงในแหล่งน้ำเพื่อกำจัดลูกน้ำยุง

หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคได้ที่เบอร์ 1422

อ่านต่อ “บทความอื่นน่าสนใจ” คลิก!


ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุข โดย ศ.พญ.ศิริเพ็ญ กัลยาณรุจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (ร.พ.เด็ก)

ขอบคุณข้อมูลจาก: daily.rabbit.co.th