เอาไม่อยู่!! ไข้เลือดออกระบาดหนัก ภาคอีสาน พบผู้ป่วยเด็กจำนวนมากอายุระหว่าง 5 – 14 ปี เตือนผู้ปกครองระวัง!!
หากพูดถึงข่าวคราวที่น่าห่วงที่สุดในตอนนี้คงหนีไม่พ้นสถานการณ์ ไข้เลือดออกระบาดหนัก ภาคอีสาน ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้อยู่ ล่าสุดพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วกว่า 700 ราย!! และส่วนหนึ่งพบว่าเป็นเด็กนักเรียน!!
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับโรค ไข้เลือดออกระบาดหนัก ภาคอีสาน ว่าพบผู้ป่วยจำนวนมากในเขตสุขภาพที่ 9 อันประกอบไปด้วย จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดสุรินทร์ โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2561 นั้นพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนกว่า 699 รายป่วยเป็นไข้เลือดออก ถึงแม้ว่าจะยังไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต แต่ก็พบว่า กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดนั้นคือ กลุ่มนักเรียน ที่มีอายุระหว่าง 5 – 14 ปี ทั้งนี้รวมถึงในกลุ่มของเด็กเล็กด้วยเช่นกัน
นายแพทย์กิตติ์พงศ์ สัญชาตวิรุฬห์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ได้แสดงความเป็นห่วงสถานกาณ์ ไข้เลือดออกระบาดหนัก ภาคอีสาน ได้ออกปฏิบัติหน้าที่พร้อมกับเจ้าหน้าที่นำอุปกรณ์วิธีการกำจัดยุงลายที่ได้ทำการดักยุงลายบ้านเพื่อสาธิต พร้อมกับเปิดเผยถึงการระบาดของโรคไข้เลือดออกในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบ้าน พร้อมกับกล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนมีความเข้าใจผิดหลายประการ เช่น
- หลายคนคิดว่าผู้ใหญ่ไม่สามารถป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้
- บางคนคิดเองว่า ถ้าป่วยเป็นไข้เลือดออกก็สามารถซื้อยาแผนปัจจุบันกินเองได้
- คิดว่าหน้าที่ในการกำจัดยุงลายบ้านเป็นของหน่วยงานราชการเท่านั้น
สำหรับโรคไข้เลือดออกนั้น ยังไม่มีวัคซีน และไม่มีแม้แต่ยารักษา หากจะให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ถูก ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่จะต้องช่วยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เพื่อเป็นการลดจำนวนยุงลายให้มากที่สุด ตามมาตรการ 3 เก็บอันได้แก่
- เก็บบ้านให้โล่ง ทำให้อากาศปลอดโปร่งให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ยุงได้มีโอกาสเกาะพักตามบริเวณบ้านได้
- เก็บขยะ และเศษภาชนะไม่ให้มีพื้นที่เพาะพันธุ์ยุง
- เก็บน้ำ พยายามปิดฝาภาชนะให้มิดชิด หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ให้ยุงลายสามารถวางไข่ได้
หากพวกเราทุกคนสามารถทำตามมาตราการดังกล่าวนี้ได้เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน ที่โรงเรียน โรงพยาบาล หรือแม้แต่สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก เท่านี้ก็เราก็สามารถช่วยกันลดการแพร่ระบาดของโรคระบาดที่น่ากลัวอย่าง โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลายกันได้ไม่ยากแล้วละค่ะ
จากสถานการณ์ ไข้เลือดออกระบาดหนัก ภาคอีสาน ทำให้พวกเราทุกคนควรที่จะทำความรู้จักกับ 4 ยุงพันธุ์ดุที่เป็นพาหะนำโรคร้ายที่สามารถคร่าชีวิตได้หากไม่ระวัง คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่คะว่า จริง ๆ แล้วยุงนั้นมีสายพันธุ์กว่า 4,000 ชนิดเลยละค่ะ และจากสายพันธุ์เหล่านี้มีจำนวนกว่า 100 ชนิดที่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่สำหรับในประเทศไทยนั้น มียุงทั้งหมด 4 สายพันธุ์ด้วยกันที่เป็นพาหะนำโรคร้าย อันได้แก่
1.ยุงก้นปล่อง – ลักษณะเด่นสำคัญที่ช่วยแยกแยะยุงก้นปล่องออกจากยุงชนิดอื่น ๆ คือ พวกมันมักยกส่วนท้องขึ้นสูงอย่างเห็นได้ชัดขณะยืนทรงตัวดูดเลือด และจะวางไข่เป็นใบเดี่ยว ๆ แต่ละใบแยกจากกันบนผิวน้ำใสที่ไหลช้าและมีร่มเงา ในปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นแหล่งกบดานของยุงก้นปล่องกว่า 73 สายพันธุ์ แต่มีเพียง 3 สายพันธุ์เท่านั้นค่ะที่เป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย ซึ่งเกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียมที่มากับยุง โเป็นโรคที่อันตรายมาก เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตถึง 35 เปอร์เซ็นต์เลยละค่ะ
2. ยุงรำคาญ – มีพฤติกรรมดูดเลือดคนและสัตว์เลือดอุ่นอย่างวัว ควาย และหมู เป็นอาหารและมักออกหากินในเวลากลางคืนเพราะไม่ถูกกันกับแสงสว่าง ส่วนการสืบพันธุ์ ยุงชนิดนี้มักวางไข่เป็นแพในบริเวณที่มีน้ำขังเน่าเสียที่มีปริมาณสารอินทรีย์สูง เช่น ในท่อระบายน้ำ หรือในภาชนะน้ำขังสกปรก โดยทั่ว ๆ ไป น้ำลายของยุงชนิดนี้ก่อให้เกิดอาการคันและมีตุ่มแดงผุดขึ้นบนผิวหนัง สำหรับบางคน น้ำลายยุงรำคาญสามารถทำให้เกิดอาการแพ้เป็นแผลขนาดใหญ่ตามผิวหนังทั่วร่างกาย ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เป็นพาหะนำโรคไข้สมองอักเสบ และโรคเท้าช้าง เป็นต้น
3. ยุงลาย – สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่
- ยุงลายบ้าน มักพบตามบริเวณบ้านในเขตเมือง และเลือกวางไข่บนบริเวณน้ำขัง โดยเฉพาะที่อยู่ในภาชนะต่าง ๆ เช่น ตุ่มน้ำ จานรองขาตู้ ยางรถยนต์เก่า ถึงจะมีขนาดเล็ก แต่สามารถบินฉวัดเฉวียนได้อย่างแคล่วคล่องว่องไว เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย และโรคไข้เหลืองในแถบอเมริกาใต้
- ยุงลายสวน มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปเอเชีย มักพบได้ตามสวนผลไม้ สวนยาง หรืออุทยานต่าง ๆ เพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำสะอาด สามารถบินได้ไกลกว่ายุงลายบ้าน และเป็นพาหะนำโรคไข้ชิคุนกุนยา และไข้เลือดออก ซึ่งผู้ใดก็ตามที่เป็นโรคนี้ มีโอกาสเสียชีวิตประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์
4. ยุงเสือ – ยุงสีน้ำตาลขนาดใหญ่ที่มีเกล็ดลวดลายแปลกตาบนปีกชนิดนี้ เป็นพาหะนำโรคเท้าช้าง ที่เกิดจากหนอนพยาธิตัวกลมฟิลาเรีย ทำให้เกิดภาวะอุดตันของระบบท่อน้ำเหลือง ส่งผลให้แขนขาและอวัยวะเพศบวมพองขึ้นจนมีขนาดใหญ่ผิดปกติ และเปลี่ยนผิวหนังให้กระด้างขรุขระ มีแหล่งเพาะพันธุ์ตามบึง หรือหนองน้ำที่มีพืช เช่น จอก แหน ผักตบชวา พบได้มากทางภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศไทย
อ้างอิง: ไทยโพสต์ และ MFactors
อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ:
- 5 วิธีปราบยุง ต้นเหตุไข้เลือดออก แบบไม่บาป
- อาการขั้นวิกฤต ไข้ลด ตัวเย็น เสี่ยงช็อกเสียชีวิต จากไข้เลือดออก!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่