AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังแล้ว ไข้เลือดออกในเด็ก ระบาดหนัก

ช่วงหน้าฝน ยิ่งฝนตกบ่อยๆ อาจเป็นโอกาสให้ยุงเพาะพันธุ์เพิ่มมากขึ้น

ยิ่งฝนตกบ่อย ก็เป็นโอกาสให้ยุงได้เพาะพันธุ์ แค่ลูกโดนยุงกัด คนเป็นแม่ก็โกรธจะแย่แล้ว ยังต้องมากังวลโรค ไข้เลือดออกในเด็ก ที่อาจจะเกิดได้อีก วันนี้ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข่าวจากอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับสถานการณ์โรค ไข้เลือดออกในเด็ก มาฝากกันค่ะ

เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังแล้ว ไข้เลือดออกในเด็ก ระบาดหนัก

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แจงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกปี 2561 พบมีผู้ป่วยแล้ว 17,302 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิตที่ยืนยันแล้ว 21 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิตที่ได้รับแจ้งและอยู่ระหว่างตรวจสอบ 9 คน จากข้อมูลการป่วยและเสียชีวิตตามกลุ่มอายุ พบว่าอัตราป่วยยังคงสูงสุดในเด็กวัยเรียนอายุ 10–14 ปี รองลงมาอายุ 5-9 ปี แต่เมื่อพิจารณาการเสียชีวิตพบว่าในปี 2561 นี้ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตมากกลับเป็นกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 14 ราย

เผยเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ก็มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในเรื่องนี้เช่นกัน โดยได้กล่าวว่า ขอให้ประชาชนสังเกตตัวเอง ลูกหลาน และคนใกล้ชิด หากมีอาการไข้สูง 2 วันแล้วไม่ดีขึ้น ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สำคัญขอให้ระวังยุงกัด ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในภาชนะที่มีน้ำขัง และที่เก็บน้ำไว้ใช้ก็ขอให้มีฝาปิดด้วย

ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดแถลงข่าวเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (EOC) กรณีการระบาดของโรคไข้เลือดออก เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ได้เปิดกลุ่มไลน์แอด “@AntiYung” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ และสอบถามทุกข้อสงสัยที่เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก จากทีมเฉพาะกิจพิชิตยุง สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนสังเกตอาการตนเองและคนในครอบครัว หากมีอาการไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ถ้ามีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของไข้ ไม่ควรไปฉีดยาลดไข้หรือซื้อยากินเอง และขอให้ดูแลเป็นพิเศษในผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัวและผู้สูงอายุ เพราะหากป่วยแล้วมีโอกาสรุนแรงกว่าปกติได้

และได้เชิญชวนประชาชนทุกคนและหน่วยงานต่างๆ ดูแลบ้านเรือน ชุมชน และหน่วยงานของตนเองไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ

  1. เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
  2. เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  3. เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่

เพื่อป้องกัน 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ 1. โรคไข้เลือดออก 2. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 3. ไข้ปวดข้อยุงลาย หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ไข้เลือดออกในเด็ก มีอาการอย่างไร?

เพราะยังเป็นเด็ก จึงทำให้ไม่สามารถสื่อสารได้ดีเท่าผู้ใหญ่ว่าทรมานจากอาการไข้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอาการไข้เลือดออกในระยะแรก ก็เหมือนอาการหวัดทั่วไปซะด้วยสิ แล้วจะทำอย่างไรถึงจะแยกได้ออกว่าลูกป่วยเป็นไข้เลือดออกหรือเป็นหวัดทั่วไป มีวิธีสังเกตอาการดังนี้ค่ะ

อาการป่วยของไข้เลือดออก แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะคือ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

1. ระยะแรก (ระยะไข้สูง)

ในระยะนี้จะไม่มีอาการที่บ่งบอกได้เลยว่าเป็น ไข้เลือดออกในเด็ก จะมีแต่ไข้สูงลอยอยู่ประมาณ 5-6 วัน และในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการหวัด คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว และอาการอื่นๆ ร่วมด้วย สำหรับผู้ป่วยบางรายแพทย์จะวินิจฉัยอาการป่วยในระยะนี้ได้ยากเพราะ ติดเชื้อไข้เลือดออกพร้อมกับเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ติดเชื้อที่ทำให้หลอดลมอักเสบ ท้องเสีย ปอดบวม ร่วมด้วย

แต่สำหรับหน้าฝนที่มักจะมียุงชุม หากลูกมีอาการไข้สูงหลายวัน ให้คิดถึงการติดเชื้อไข้เลือดออกไว้ก่อน คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรให้ยาลดไข้ประเภทแอสไพริน และไอบูโพรเฟ่น เพราะจะระคายเคืองกระเพาะและทำให้มีปัญหาเลือดออกในกระเพาะ และเลือดไม่แข็งตัว เมื่ออาการของไข้เลือดออกอยู่ในระยะรุนแรงถึงระยะช็อค

การตรวจเลือดเพื่อดูว่าลูกเป็นไข้เลือดออกในระยะนี้  จะสามารถเจาะเลือดพบความผิดปกติในวันที่ นับจากเริ่มป่วย โดยผลของผู้ที่เป็น ไข้เลือดออกในเด็ก จะมีเกล็ดเลือดต่ำระยะก่อนไข้ลด ส่วนใหญ่จะต่ำกว่า 100,000/ลบ.มม. มักมีเม็ดเลือดขาวต่ำ ( น้อยกว่า 5,000/ลบ. มม.) และเมื่อไข้ลงเข้าสู่ระยะวิกฤติจะพบมีเลือดข้น  การตรวจยืนยันให้ได้แน่นอนว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ ต้องอาศัยการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสหรือเพื่อดูภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ซึ่งกว่าจะเห็นการตอบสนองชัดเจนมักเป็นช่วงใกล้ระยะวิกฤตหรือพ้นระยะวิกฤตแล้ว ดังนั้นการวินิจฉัยด้วยอาการ การรัดแขนเพื่อดูจุดเลือดออก และการตรวจเลือดดูเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด หลังวันที่ 2-3 ของไข้เป็นสิ่งจำเป็นมากในการวินิจฉัยในเบื้องต้น ซึ่งมีความแม่นยำสูงอยู่แล้วโดยเฉพาะอาการหลังมีไข้ 2-3 วันไปแล้ว

 

2. ระยะวิกฤติ หรือระยะช็อค

หลังจากลูกมีไข้มาแล้วหลายวัน อาการทั่วไปจะดูเพลียมากขึ้น บางทีรู้สึกปวดเมื่อยตัวมากขึ้น ปวดท้อง ท้องอืดๆ เบื่ออาหาร ผิวหน้าดูแดง ๆ ฝ่ามือฝ่าเท้าก็จะดูแดง ๆ ในระยะนี้ควรจะคอยระวังในเรื่องของน้ำที่ทานเปรียบเทียบกับปริมาณปัสสาวะ บางรายจะมีอาการท้องอืดมากขึ้น กระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ร่วมกับอาการไข้ที่เริ่มลงเป็นอุณหภูมิปกติ ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนเข้าใจผิดว่าลูกกำลังจะหายจากไข้เลือดออกแล้ว  แต่ที่จริงแล้วลูกอาจจะกำลังเข้าสู่ระยะช็อคที่จะมีความรุนแรงติดตามมาในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อจากนี้ก็ได้

คุณพ่อคุณแม่หลายคนจะคิดว่าทำไมหมอบอกว่ามีเลือดออกจนจะช็อคแต่ไม่เห็นว่ามีเลือดออกมาให้เห็นเลย ที่จริงแล้วเลือดมักจะออกอยู่ในส่วนอวัยวะภายใน เช่น ในระบบทางเดินอาหาร ในช่องท้อง และในช่องปอดได้ โดยอาจไม่ได้เห็นเป็นเลือดสด ๆ แต่เป็นการรั่วซึมอย่างมากของน้ำเหลืองในระบบการไหลเวียนของหลอดเลือดออกไปสู่เนื้อเยื่อต่าง ๆ ทำให้พบว่ามีน้ำในช่องท้อง และช่องปอดได้ ส่วนรายที่รุนแรงก็มักจะมีเลือดออกในกระเพาะและลำไส้ได้ ทำให้มีอาเจียนเป็นเลือดและถ่ายเป็นเลือดได้

 

3. ระยะฟื้นตัว

ในระยะนี้ จะพบว่าเกร็ดเลือดจะเริ่มกลับสูงขึ้น ชีพจร และความดันโลหิตเริ่มคงที่ดีขึ้น ปัสสาวะเริ่มออกมากขึ้น และมีการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองที่เคยซึมรั่วไปอยู่ในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย กลับเข้าสู่ระบบการไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้อวัยวะต่างๆเริ่มทำงานเป็นปกติ ในอีก 48-72 ชั่วโมงต่อมา ก็จะเข้าสู่ระยะที่เรียกว่าหายเป็นปกติ และไม่กลับเข้าสู่ระยะช็อคอีก ลูกจะเริ่มมีความอยากอาหารบ้าง มักพบมีผื่นแดงๆคันๆตามฝ่ามือฝ่าเท้า โดยไม่มีการลอกตัวของผิวหนัง อาการปวดท้อง ท้องอืดๆก็จะดีขึ้น รู้สึกว่ามีแรงมากขึ้น

 

ข่าวดีก็คือ ทุกๆ คนในครอบครัวและชุมชน สามารถป้องกันโรค ไข้เลือดออกในเด็ก ได้ด้วยการช่วยกันสอดส่องและจัดเก็บบ้านและบริเวณรอบๆ บ้านให้ไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย เมื่อไม่มียุงลาย ลูกเราก็จะไม่โดนยุงกัดให้เจ็บใจ แถมยังไม่ต้องมากังวลว่าลูกเราจะเป็นโรคไข้เลือดออกหรือไม่อีกด้วยค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : news.mthai.com, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่

แม่แชร์! กว่าจะรู้ว่า ลูกเป็นไข้เลือดออก ก็เกือบสาย

5 วิธีปราบยุง ต้นเหตุไข้เลือดออก แบบไม่บาป

รู้ไหมว่า ไข้เลือดออก กับ ไข้หวัดใหญ่ ต่างกันอย่างไร?

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids